เคล็ดลับ ห่างไกลข้อเข่าเสื่อม

เคล็ดลับ ห่างไกลข้อเข่าเสื่อม

จากสถิติของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในประเทศไทยของมูลนิธิโรคข้อ พบว่าในปี 2549 ไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน

จากสถิติของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในประเทศไทยของมูลนิธิโรคข้อ พบว่าในปี 2549 ไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมโรคข้อเข่าเสื่อมจะพบในผู้สูงอายุ แต่ทุกวันนี้พบผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในอายุน้อยลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเสริมหลายๆอย่างประกอบกัน

นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฎ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111ได้อธิบายถึงโรคข้อเข่าเสื่อมว่า ข้อเข่าถือเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและเป็นข้อที่รับน้ำหนักของร่างกาย ข้อเข่าจะประกอบไปด้วยกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกลูกสะบ้า บริเวณส่วนปลายของกระดูกจะมีกระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่เป็นผิวข้อเข่า หน้าที่กระดูกอ่อนหรือกระดูกผิวข้อจะมีหน้าที่รับน้ำหนัก ช่วยให้การขยับของข้อจะเรียบและลื่น โรคข้อเข่าเสื่อมคือการที่ผิวกระดูกอ่อนสึก ทำให้เวลาขยับจะเกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูกทำให้มีอาการอักเสบและมีอาการปวดตามมา

ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม

1.อายุ ในผู้ที่อายุมากจะเป็นการเสื่อมไปตามกาลเวลา

2.น้ำหนัก เราพบว่าผู้ป่วยที่เป็นข้อเข่าเสื่อมมักจะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

3.การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การยกของหนักมากๆ หรือการขึ้นลงบันได โดยไม่จำเป็นและท่านั่งต่างๆที่เราต้องงอเข่าเยอะ

4.เคยมีการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่ามาก่อน เช่น กระดูกหัก เส้นเอ็น หรือ หมอนรองข้องเข่าฉีกขาด

อาการของข้อเข่าเสื่อม

อาการเริ่มต้นจะรู้สึกติดๆ ตึงๆ หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวด โดยอาการปวดจะเป็นหลังจากใช้เข่านาน เช่น เดินนานๆ ขึ้นลงบันไดเยอะ หากเป็นมากขึ้นอาการปวดจะเป็นรุนแรงเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น จนบางครั้งแค่ขยับก็ปวดแล้วไม่จำเป็นต้องไปยืนหรือไปเดินนานๆหรือมีอาการปวดขณะนอนด้วย ซึ่งจะทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

การดูแลตัวเองของผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง

1.ปรับปรุงการใช้ข้อเข่าที่จะมีผลกระทบ

2.ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน

3.การออกกำลังกาย ควรจะเน้นการออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อข้อเข่าน้อย เช่น การเดินเบาๆ การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำ

การรักษามีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

1.การใช้ยา จะมียาหลักๆ อยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาแก้ปวด จะรับประทานเป็นครั้งคราว และ ยาชะลออาการข้อเข่าเสื่อม

2.การผ่าตัด แบ่งเป็นการผ่าตัด 3 วิธี ได้แก่

2.1การผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปล้างเศษกระดูกอ่อนที่หลุดลอยซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวด

2.2การผ่าตัดจัดแนวกระดูก

2.3การผ่าตัดข้อเข่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้การดูแลข้อเข่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว ยังมีกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุดอีกกล้ามเนื้อหนึ่งที่ช่วย คือ กล้ามเนื้อต้นขา ซึ่งเราสามารฝึกกล้ามมัดหลักเพื่อช่วยพยุงตัวและลดแรงที่มากระทำต่อเข่าได้ โดยการเหยียดขากระดกข้อเท้าและเกร็งไว้ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเกร็งบริเวณต้นขา การฝึกดังกล่าวก็จะช่วยให้ลดภาวะโรคข้อเข่าเสื่อมได้ด้วยเช่นกัน