Daily Market Outlook (9 ม.ค.60)

Daily Market Outlook (9 ม.ค.60)

เคลื่อนไหวในกรอบแคบจากความไม่แน่นอนต่างๆ

คาดหุ้นไทยวันนี้ซื้อขายในกรอบแคบที่น่าจะเป็นบวกได้เล็กน้อย จากตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่แสดงให้เห็นถึงขยายตัวที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ รวมไปถึงตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซน อย่างไรก็ตามค่าจ้างงานในสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และจะนำไปสู่การไหลออกของกระแสเงินทุนในเอเชีย ขณะที่ยังคงต้องจับตาการแถลงข่าวของ Donald Trump ในวันพุธนี้ที่จะสะท้อนมุมมองของเขาที่มีต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงนโยบายที่จะดำเนินการต่อจากนี้ ปัจจัยในประเทศค่อนข้างผสม โดยความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใน 13 จังหวัดในภาคใต้ยังคงเป็นแรงกดดันสำคัญ คิดเป็นความเสียหายราว 1.0 หมื่นลบ. ซึ่งจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย สำหรับปัจจัยบวก รัฐบาลเตรียมปล่อยมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ระลอกใหม่ ขณะที่ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นปีนี้

หุ้นเด่นวันนี้: IVL (ราคาปิด 36.50 บาท;NR; ราคาเป้าหมาย Bloomberg 37.25 บาท; ราคาเป้าหมาย IAA 43.05 บาท)

บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส เป้นหุ้นเด่นของเราในวันนี้จากแรงหนุนในระยะสั้นของการปรับตัวสูงขึ้นโดดเด่นของราคาผลิตภัณฑ์ MEG ที่เป็น Feedstock สำหรับการผลิต PET ของ IVL และมีการขายให้กับลูกค้าภายนอก (IVL มีกำลังการผลิต MEG ราว 0.5 ล้านตันต่อปี) หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ MEG เข้าจดทะเบียนในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งตลาดฯ มองไปข้างหน้าถึงการฟื้นตัวจากการผ่านพ้นจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรม ขณะที่แนวโน้มของบริษัทในระยะยาวยังคงสดใส โดยเรามองว่าการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องอีกในอนาคต จะช่วยหนุนให้ปริมาณขายและผลประกอบการในปีนี้และนับจากนี้ไปเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้อานิสงค์จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (Spread) ที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงกลยุทธ์ที่จะขยายผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง (HVA) ให้มากขึ้นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำกำไรให้ดีขึ้น กำไรปกติต่อหุ้นของ IVL อ้างอิงจากประมาณการใน Bloomberg Consensus จะเห็นการเติบโต 52% YoYในปี 2559 มาอยู่ที่ 1.53 บ. ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 34% ในปีนี้ และ 22% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 2.05 บ. และ 2.51 บ. ตามลำดับ ราคาหุ้นปัจจุบันยังน่าสนใจโดยซื้อขายด้วย PEG ต่ำกว่า 1.0 เท่า จาก PER ปีนี้ที่ 17.8 เท่า และอัตราการเติบโตของ EPS ทบต้นเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2560-61 ที่ 28% ในส่วนของ Price Pattern ของ IVL มีความแข็งแกร่งอย่างมากในแนวโน้มหลักที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิดทั้ง Daily, Weekly, & Monthly Buy Signal โดยเมื่อพิจารณา Price Pattern ของ IVL มีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 38 บาท และหาก IVL มีความแข็งแกร่งมากพอ โดยสามารถ Break ด้วยการปิดตลาดเหนือ 38 บาทได้สำเร็จ จะมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 43.25 บาท ทั้งนี้ IVL มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 32.25 บาท (แนวต้าน: 37.25, 38.00, 38.75; แนวรับ: 35.75, 35.00, 34.25)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 13 จังหวัดภาคใต้ขึ้นอีกในช่วงเวลานี้จนถึงวันที่ 10 ม.ค. เนื่องจากผลกระทบจากฝนนอกฤดูกาลที่ตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย และผู้กระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 250,000 ครัวเรือนหรือกว่า 740,000 ราย นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้จะกระทบเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท (Bangkok Post)

• อสังหาริมทรัพย์ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการภาคอสังหาริมทรพัย์รอบสอง เนื่องจากเห็นว่ากำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะออกมาในรูปแบบใดและช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการไปในคราวก่อนช่วง ต.ค.58-เม.ย.59 ส่งผลบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 มียอดโอนเพิ่มขึ้น 57 % YoYอาคารชุดมียอดโอนเพิ่มขึ้น 147% YoY และแนวราบโอนกรรมสิทธิ์เพิ่ม 8% (ข่าวหุ้น) คำแนะนำ: เชื่อว่ากลุ่มคอนโดฯ จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้เพิ่มมากที่สุด แม้ว่า LPN จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจคอนโดฯ มากที่สุด และเน้นไปในระดับกลาง-ล่าง เราเห็นว่า Backlog ยังไม่มากพอจะรองรับการเติบโตในอนาคต และระดับล่างยังมีปัญหา Reject Rate จากผู้ให้กู้สูง แต่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจทั้งคอนโดและแนวราบในระดับกลางขึ้นไป เช่น SPALI ANAN SIRI AP น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากเรื่องดังกล่าว เรายังแนะนำ SPALI (ปิด Bt25.00;ซื้อ;เป้าหมาย Bt32.00) และ ANAN (ปิด Bt4.88;ซื้อ;เป้าหมาย Bt7.50) เป็น Top Pick

• คาดราคายางฟื้นตัวปีนี้ ประธานสมาคมยางพาราคาไทยกล่าวว่าแนวโน้มตลาดยางน่าจะดีขึ้นปีนี้ แม้ความต้องการยางจะยังทรงตัว แต่อุทกภัยล่าสุดในภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งยางหลัก รวมถึงมาตรการลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตยางหลายประเทศน่าจะช่วยหนุนราคายางได้ (Bangkok Post) ความเห็น: ราคายางที่ดีขึ้นน่าจะเป็นความเชื่อมั่นเชิงบวกต่อผู้ผลิต ได้แก่ STA (22.80 บาท) และ TRUBB (2.08 บาท)

ต่างประเทศ: 

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ หลังจากมีข้อมูลรายได้ต่อชั่วโมงในสหรัฐเพิ่มขึ้นแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดก็ตาม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เฟดพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในไตรมาส 1/60 ราคาพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวลง 13/32 อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 2.419% เพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 2.368% เมื่อวันพฤหัส (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างรายชั่วโมง หลังจากที่ร่วงลงหนักก่อนทางการจีนเข้าพยุงค่าเงินหยวน ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 1.5% เทียบกับเงินเยน โดยแตะระดับสูงสุดของวันที่ 117.18 เยน ส่วนเงินยูโรอ่อนค่าสู่ระดับ 1.0525 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกเมื่อวันศุกร์ โดยดัชนีดาวโจนส์ขยับเข้าใกล้ 20,000 จุดเป็นครั้งแรก ส่วนดัชนีแนสแดคและเอสแอนด์พี 500 ปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังได้แรงหนุนจากความคาดหวังต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกา หุ้นแอปเปิลเป็นตัวนำตลาดขึ้นหลังหน่วยงาน Canadian Competition Bureau ไม่พบหลักฐานเพียงพอว่าบริษัทพัวพันกับการกระทำที่กีดกันทางการค้า และปิดคดีสอบสวนดังกล่าวซึ่งใช้เวลา 2 ปี (Reuters)

• การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดในเดือนธ.ค. แต่ค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการจ้างงานฯ จะเพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อชั่วโมงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.9% YoYปรับตัวขึ้นมากสุดนับแต่เดือนมิ.ย. 2009 จากที่เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนพ.ย. ส่วนอัตราการว่างงานเป็นตามที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 4.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.6% ในเดือนพ.ย. (Reuters)

• รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐในไตรมาส 4/59 จะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าโดยนักลงทุนจับตามองหุ้นที่มีมูลค่าสูง ในขณะนี้ดัชนี S&P500 ซื้อขายกันอยู่ที่ค่าพีอี 17 เท่า ซึ่งถือว่าแพงเมื่อเทียบกับค่าพีอีเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 14 เท่า จากข้อมูลของ Thomson Reuters Datastream ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนเฉลี่ยในไตรมาส 4/59 จะเพิ่มขึ้น 6.1% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงส่งผลให้บริษัทน้ำมันมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง จากข้อมูลของ Thomson Reuters I/B/E/S (Reuters)

ยุโรป:

• ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันศุกร์ปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนที่ขยายตัวสูงขึ้น (Reuters)

• ดัชนีราคา (เงินเฟ้อ) ในยูโรโซนเดือนธ.ค. ขยายตัวมากกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง แม้ว่าจะมาจากเสถียรภาพของราคาน้ำมันก็ตาม โดยดัชนีราคาในเยอรมนีขยายตัวมากที่สุดที่ 1.7% ทั้งนี้เป้าเงินเฟ้อของ ECB อยู่ที่ระดับ 2%(Reuters)

เอเชีย:

• ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump พุ่งเป้าไปที่โตโยต้าและขู่ว่าจะเก็บภาษีเป็นการลงโทษในรถยนต์ที่ทำการผลิตในเม็กซิโก ทรัมป์ได้ออกมาย้ำซ้ำ ๆ ถึงการที่บริษัทของสหรัฐฯ ที่ผลิตด้วยต้นทุนโรงงานในต่างประเทศที่ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในบ้าน คือในสหรัฐฯ เขากล่าวไปถึงบริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯ รวมถึงฟอร์ดซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ยุบแผนตั้งโรงงานในเม็กซิโกมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการโจมตีโตโยต้านับเป็นการต่อต้านเป็นครั้งแรกของเขากับบริษัทรถยนต์ต่างประเทศ(Reuters)

• จีนปิดกั้นการไหลออกของเงินทุน: จีนเพิ่มระดับความพยายามในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จะเพิ่มค่าเงินหยวนและลดการไหลออกของเงินทุนก่อให้เกิดกระแสการเก็งกำไรสกุลเงินก่อนการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคมและวันหยุดยาวช่วงตรุษจีนปลายเดือนนี้ จีนเดินเชิงรุกเพื่อลงโทษผู้ที่เก็งกำไรกับสกุลเงิน ธนาคารของรัฐฯ ซื้อหยวนและขายดอลลาร์ และหน่วยงานกำกับดูแลมีข้อจำกัดให้บุคคลและบริษัทที่ต้องการย้ายเงินทุนออกจากประเทศมีความรัดกุมมากขึ้น ขณะที่ยังปฏิเสธจัดเก็บภาษีการควบคุมเงินทุนใหม่ (Reuters)

• ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนลดลงไปใกล้ระดับต่ำสุด 6 ปีในเดือนธันวาคม แต่ยังมากกว่าระดับวิกฤติ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินสำรองของจีนหดตัวลง 41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับคาดการณ์ที่คาดว่าลดลง 51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเป็นเดือนที่หกของการลดลง โดยในปี 2559 เงินสำรองของจีนลดลงเกือบ 320พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 3.011 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลดเป็นประวัติการณ์หลังจากที่ลดลง513 พันล้านเหรียญฯในปี 2558 (Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• น้ำมันดิบบวกเล็กน้อยวันศุกร์จากการซื้อฟิวเจอร์ส ทำให้ปิดบวกรายสัปดาห์แต่ยังบวกจำกัดเพราะดอลลาร์แข็งค่าและยังคงกังวลว่าผู้ผลิตน้ำมัน OPEC จะยังยึดการลดกำลังการผลิตได้อย่างที่ตกลงหรือไม่ น้ำมันดิบ Brent ล่วงหน้าบวก 21 เซนต์ ปิด 57.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้าบวก 23 เซนต์ ปิด 53.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล บวกรายสัปดาห์เป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว (Reuters)

• ราคาทองคำร่วงในวันศุกร์ จากจุดสูงรอบหนึ่งเดือนเมื่อวันก่อนเพราะดอลลาร์แข็งค่าจากค่าจ้างสหรัฐเพิ่มขึ้นแม้การจ้างงานจะต่ำกว่าที่คาดก็ตาม ราคาทองคำตลาดจรปิดลบ 0.7% ที่ 1,171.70 ดอลลาร์สหรัฐ แต่รายสัปดาห์แล้วบวก 1.75% มากสุดในรอบสองเดือน ราคาทองคำล่วงหน้าสหรัฐลบ 7.9 ดอลลาร์หสรัฐหรือ -0.67% ปิดที่ 1,173.4 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)

• ทองแดงคงที่วันศุกร์ เพราะนักลงทุนปรับสถานะหลังจากการฟื้นตัวของค่าจ้างสหรัฐ แม้จะรับรู้เรื่องดอลลาร์แข็งค่าและการฟื้นตัวของจีนและสหรัฐ ทองแดงสามเดือนในตลาด London Metal Exchange ปิดบวก 0.2% เป็น 5,590 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปีที่แล้วทองแดงบวก 18% และปิดสัปดาห์แรกบวก 1.2%(Reuters)