‘บัณฑิต’ ชี้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยติดหล่มโตต่ำ

‘บัณฑิต’ ชี้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยติดหล่มโตต่ำ

การขยายตัวที่ต่ำกว่า“ศักยภาพ”ของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนภาคเอกชนที่หายไป แม้ที่ผ่านมา“ภาครัฐ”จะทุ่มสรรพกำลัง

เพื่อ “ดึง” การลงทุนของเอกชนให้กลับมา ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการภาษีจูงใจการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ตลอดจนการเปิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังดึงดูดให้เอกชนลงทุนตาม ล่าสุดการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ก็เป็นอีกโครงการที่พยายามผลักดันการลงทุนของเอกชน แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้ “ยังไม่ช่วยฟื้น” การลงทุนเอกชนให้กลับมามากนัก

“บัณฑิต นิจถาวร” กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี) มองว่า สาเหตุที่เอกชนยังไม่มั่นใจและไม่กล้าลงทุนมาจากหลายประเด็น หนึ่งในนั้น คือ โครงการลงทุนของภาครัฐที่ออกมาหลายๆ โครงการ ยังเป็นเพียงการตั้งหลัก จึงยังไม่มีเม็ดเงินเข้าสู่โครงการจริงมากนัก

ที่สำคัญการดำเนินงานในโครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจที่มาก ความล่าช้าจึงยิ่งสร้างความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจยังคงสงวนท่าทีในการลงทุน แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจรออยู่

“ผมว่าผมเข้าใจทั้งในมุมของภาครัฐและเอกชนดี ผมเคยผ่านการทำนโยบายมาก่อนจึงเข้าใจในมุมของทางการ และตั้งแต่ผมมาทำงานใน ไอโอดี มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทเอกชนหลายๆ แห่ง ก็ยิ่งทำให้เข้าใจในมุมของเอกชนมากขึ้น ว่าเขาต้องการอะไร เขามองยังไง”

บัณฑิต บอกว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ คือการเติบโตที่ช้า ทั้งที่เศรษฐกิจไทยมีความมั่งคั่งในประเทศมาก แต่เรากลับไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตได้ เพราะนโยบายที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ทั่วหน้า

“พูดง่ายๆ คือ เรารู้ปัญหาของประเทศ รู้ว่าเวลานี้ประเทศต้องการปฎิรูป เราตกอยู่ในกับดักการเติบโตที่ต่ำมาต่อเนื่องหลายปี ถามว่าอะไรที่เป็นปัจจัยซึ่งนำมาสู่ประเด็นเหล่านี้ ที่ดูก็มี 3 เรื่องด้วยกัน”

เรื่องแรก คือ ความสามารถการแข่งขันเราไม่มี อันนี้ต้องอาศัยการปฎิรูปทางด้านนวัตกรรม เรื่องที่สอง คือ การปฎิรูปที่เราอยากเห็น ยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นล่าช้า ซึ่งเราทำเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้เต็มที่

ส่วนเรื่องที่สาม คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ออกมา ไม่ได้สร้างความมีส่วนร่วม(Inclusive) มากนัก อาจมีบ้างที่ให้ประโยชน์กับบริษัทใหญ่ๆ ที่ใกล้ชิดกับนโยบายของรัฐ แต่ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป ยังไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายอย่างเต็มที่มากนัก

บัณฑิต บอกด้วยว่า การปฎิรูปที่ดำเนินการอยู่ ยังมีบางอย่างที่ดูสวนทางกับสิ่งที่ควรเป็น กล่าวคือ การปฎิรูปควรต้องปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจ สร้างกลไกตลาดที่เอื้อต่อการทำงาน แต่กลายเป็นว่าบางอย่างมีการเพิ่มกฎระเบียบ ออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น เช่นในเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

“หน้าที่ของรัฐจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งโครงการต่างๆ ให้เสียโฟกัสของงาน เพราะโครงการต่างๆ ที่ออกมาควรเป็นหน้าที่ของเอกชนที่ต้องทำ ขณะที่ความต้องการของเอกชน คือ ตัวนโยบายที่ต้องชัดเจน มีการผลักดันอย่างจริงจัง และสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ แต่เวลานี้ ดูเหมือนภาครัฐผลักดันโครงการต่างๆ ออกมาเยอะมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำเอง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะเรื่องการปฎิรูป อย่างน้อยถือว่าเดินมาถูกทางแน่นอน เพียงแต่การเทคแอ็คชั่นในเรื่องเหล่านี้ควรมีมากขึ้น ที่สำคัญภาครัฐไม่จำเป็นต้องผลักดันโครงการต่างๆ ออกมาเยอะ ขอเพียงแค่ทำนโยบายให้ชัดเจน วางกติกาที่ชัดขึ้น สร้างความมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะดึงให้เอกชนเข้ามาลงทุนเอง

“ไม่ใช่ว่าภาครัฐทำแผนแล้วให้เอกชนเดินตามแผน ในขณะที่กลไกทางเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย”

บัณฑิต เชื่อว่า หากกติกาและนโยบายนิ่ง มีความชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญการตัดสินใจในการอนุมัติโครงการต่างๆ ทำได้รวดเร็วมากขึ้น เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวหลักสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ

“ถ้าทำได้อย่างนี้ ผมคิดว่า อาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งเขาโตได้มากกว่า 3% เราก็น่าจะโตได้มากกว่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยถือว่ามีความมั่งคั่งสูง การที่เราเติบโตได้ต่ำกว่าประเทศอื่น สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่สามารถรวบรวมพลังงานและความมั่งคั่งที่มีอยู่มาขับเคลื่อนการเติบโตได้”

ส่วนนโยบายการเงินและการคลังนั้น บัณฑิต บอกว่า เท่าที่ดูไม่ได้มีพื้นที่เหลือเพียงพอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพมากนัก อย่างนโยบายการเงินแม้ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25-0.5% ก็คงไม่ได้มีผลมาก ขณะที่นโยบายการคลัง ก็มีเรื่องเพดานหนี้สาธารณะอยู่ การก่อหนี้จึงทำได้จำกัด

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 “บัณฑิต” มองว่า ความไม่แน่นอนยังมีสูง จากทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดังที่ได้กล่าวมา รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีสูง โดยเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก แม้เศรษฐกิจสหรัฐดูดีขึ้น แต่ด้วยนโยบายของสหรัฐอาจจะไม่เอื้อประโยชน์ไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น หากมีข้อจำกัดทางการค้าเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศในส่วนที่เหลือของเศรษฐกิจโลก เช่น ในยุโรปยังคงเผชิญปัญหาอยู่มาก ส่วนในเอเชียมีบางประเทศที่เริ่มดูดีขึ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศยังมีโมเมนตัมที่คงที่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย