เปิดมุมมอง ‘ธัชกรณ์ วชิรมน' จับ ‘ข้อมูล’ มาทำเงิน

เปิดมุมมอง ‘ธัชกรณ์ วชิรมน' จับ ‘ข้อมูล’ มาทำเงิน

"ไทยมีข้อมูลมาก และกำลังโก ออนไลน์กัน แต่ความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลยังมีน้อย"

จากการเห็นความสำคัญของข้อมูล และเชื่อว่า ‘ข้อมูล’ เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา เมื่อปัญหาได้รับการแก้โดยใช้ข้อมูลที่มาจากพื้นฐานความเป็นจริง จะช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจนั้นๆ จะประสบความสำเร็จ และยังช่วยสร้างและเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้าได้ "นายธัชกรณ์ วชิรมน" จึงก่อตั้งบริษัท เซอร์ทิส จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทขึ้นเมื่อ 7 ก.ค. 2557 โดยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

เซอร์ทิส ในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Sertis” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากรากศัพท์ภาษาละติน หมายความว่า connected หรือ to join และการออกคำอ่านยังมีความใกล้เคียงกับคำว่า certain ที่หมายความว่า อย่างแน่นอน แน่ใจ มั่นใจ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ และวิสัยทัศน์ ที่มั่นใจว่าสามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ลูกค้าทำกำไร มีผลประกอบการที่ดีขึ้น และช่วยพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล


ลักษณะกิจการเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านวิทยาการข้อมูล (data science) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) โดยนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาวิเคราะห์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยผลักดันการขับเคลื่อนของธุรกิจและสังคม

ขณะเดียวกัน ยังช่วยแก้ไขปัญหาทางธุรกิจที่ซับซ้อนสูง โดยการใช้ศาสตร์ทางด้านวิทยาการข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีน เลิร์นนิ่งมาช่วย โดยบริการมีตั้งแต่การวางรากฐานเพื่อการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้วิทยาการความรู้ค้นหาข้อมูลเชิงลึก (insights) การสร้างโมเดลที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูล การตลาดดิจิทัล การถ่ายทอดความรู้ และอื่นๆ

ข้อมูลมาก-โก ออนไลน์
นายธัชกรณ์ บอกว่า เห็นช่องทางธุรกิจ จากที่ไทยมีข้อมูลมาก และกำลังโก ออนไลน์กัน แต่ความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลยังมีน้อย และต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ จึงกลับมาตั้งบริษัท จากที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในหลายๆ ประเทศ รวมทั้ง Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินแก่บริษัทใหญ่ๆ


บริการของบริษัทจะตอบสนองความต้องการขององค์กรและแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างดี เพราะมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในสาขาต่างๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ ข้อมูล รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

บริษัทที่เริ่มต้นก่อตั้งโดยเขาเพียงคนเดียว ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งสิ้นเกือบ 40 คนประกอบด้วยทีมงานที่เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาทั่วทุกมุมโลก ได้แก่นักวิทยาศาตร์ข้อมูล (Data Scientist) มีนายจรัล งามวิโรจน์เจริญผู้มีประสบการณ์ทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกามากว่า 20 ปีร่วมนำทีมนักวิเคราะห์ข้อมูล ในตำแหน่งซีดีเอส แอนด์ วีพี ออฟ ดาต้า อินโนเวชั่น แล็บ (Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab)

นายจรัล เคยทำงานที่ Booz Allen Hamilton บริษัทที่ปรึกษาให้รัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเก็บข้อมูลบุคคลมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น กรณีบุคคลปลอมตัวมาขอกู้เงิน หรือขอคืนภาษี หรือแฮกเกอร์ ที่ทำแอคเคาน์ เทคโอเวอร์ ซึ่งทุกปีจะเปลี่ยนวิธีการไป แต่ด้วยข้อมูลที่มีจะใช้ตรวจสอบ ตรวจจับการปลอมแปลง

ส่วนการทำงานในไทยเป็นการจับพฤติกรรมผู้บริโภคธรรมดาๆ โดยบริษัทนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้ธุรกิจทำกำไรมากขึ้น ดูว่าคนๆ นี้ควรได้ผลตอบแทน หรือรางวัลเป็นอะไร เป็นการนำข้อมูลมาจับและรักษาลูกค้าที่ดี

อิมพอร์ตต่างชาติ
นอกจากนี้ มีนักพัฒนาโปรแกรม นักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing Analyst) เป็นต้น ในจำนวนนี้มีพนักงานระดับพีเอชดีชาวอังกฤษ และฟินแลนด์มาอยู่ด้วย

"การศึกษาไทยยังเพิ่งเริ่มผลิต เลยต้องอิมพอร์ตคนเข้ามา และฝึกน้องๆ จบใหม่ ซึ่งต้องสร้างให้เป็นดาต้า ไซแอน โดยพนักงานมีทั้งที่จบด้านสถิติ เศรษฐศาสตร์ วิศวะไฟฟ้า วิศวะ คอมพ์ คอมพิวเตอร์ ไซแอน ไบโอ เคม"

จะเห็นได้ว่า บริษัทรับพนักงานจบมาหลากหลายสาขา ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องจบด้านนั้น ด้านนี้เท่านั้น เพราะเชื่อว่า ทุกคนเรียนรู้ได้ แต่ละคนทำงานได้หลากหลาย ตามความสนใจ เมื่อทำด้านหนึ่งจนอิ่มตัว ก็ขอขยับขยายไปทำด้านอื่นๆ ได้ ซึ่งบริษัทเป็นบริษัทเล็กๆ การปรับเปลี่ยนจะทำได้ง่าย พนักงานก็ไม่เบื่อ ได้เรียนรู้ตลอดเวลา

ฝึกงานเด็กไทย
ผู้ก่อตั้ง เล่าด้วยว่า เมื่อรับพนักงานมาแล้ว จะใช้วิธีออน เดอะ จ็อบ เทรนนิ่ง ใช้เวลาเป็นปี เพราะผ่านการพิสูจน์แล้วว่า อ่านแต่ตำราไม่เวิร์ค ต้องทำจริง

นายจรัล เสริมว่า คนที่จะมาทำงานกับบริษัท ต้องมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม ซึ่งคำถามจะมีเส้นทางจากจุดนี้ จะนำไปสู่คำถามถัดๆ ไป ความอยากรู้ ใฝ่หาที่จะรู้อะไรๆ เพิ่ม สำคัญกว่าทุกสิ่ง

"เลขอาจไม่เก่งมาก แต่ต้องช่างสงสัย ค้นหาเพิ่มเติม ไม่หยุดเรียนรู้ เป็นคุณสมบัติสำคัญ ถ้าหยุดก็ตามไม่ทัน เพราะเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนตลอดเวลา" นายธัชกรณ์ อธิบายเพิ่ม พร้อมเล่าต่อไปว่า พยายามสร้างให้คนทำงานเป็นทีม เก่งไปด้วยกัน ไม่ใช่เก่งตามลำพัง การทำงานของบริษัทจึงจะได้ผลดี

ขณะเดียวกัน พนักงานยังมีเทิร์น โอเวอร์ต่ำ เพราะอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ยาก แต่สนุก ไม่ได้มีกฎระเบียบเข้มงวด พยายามสร้างลีดเดอร์ ชิพ สไตล์ เป็นโค้ช และซัพพอร์ตกัน สร้างสิ่งแวดล้อมองค์กรให้คนอยู่แล้วแฮปปี้ มีอะไรให้เรียนรู้ตลอดเวลา แม้จบการเทรนก็ยังมีอะไรๆ ใหม่ๆ ให้รู้ต่อไป

“หัวใจคือข้อมูล ที่นำไปแอพพลายได้ร้อยแปดพันเก้า ถ้าสิ่งหนึ่งทำมาเยอะแล้ว ก็เปลี่ยนไปทำสายอื่นได้ เนื่องจากบริษัทยังเล็ก และเป็นกันเอง”


เติบโตดับเบิลทุกปี
นายธัชกรณ์ บอกว่า อัตราเติบโตของบริษัทเป็นดับเบิลทุกปีตั้งแต่ก่อตั้งมา ทั้งรายได้ และพนักงาน ซึ่งบริษัทย้ายที่ตั้งบ่อยมาก เนื่องจากกิจการขยาย ต้องมีพื้นที่รองรับพนักงานที่เพิ่ม เช่นกันปีนี้ก็มีแผนเพิ่มคน แต่มีปัญหาหนึ่งคือหาคนมาเพิ่มได้ไม่พอกับงานที่เพิ่มขึ้น และต้องย้ายที่ตั้งสำนักงาน


“เน้นให้อยู่ตามแนวบีทีเอส ทั้งที่ตั้งบริษัทและที่อยู่อาศัยของพนักงาน โดยพนักงานคนใดจะเช่าที่พักในแนวรถไฟฟ้า บริษัทจะซัพพอร์ตด้านการเงินให้ เพราะแคร์ ควอลิตี้ ออฟ ไลฟ์ ที่ผ่านมา เคยมีพนักงานบ้านอยู่นนทบุรี ต้องตื่นแต่เช้า เดินทาง 2 ชั่วโมงมาทำงาน แล้วยังต้องใช้เวลาเดินทางกลับอีก พอย้ายมาอยู่ที่พักใกล้รถไฟฟ้า ชีวิตดีขึ้น” 

ลูกค้าของบริษัทล้วนเป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น รีเทลขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ บริษัทผู้ผลิต และเริ่มมีลูกค้าด้านการเงินธนาคารและประกันเข้ามา ส่วนผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมก็เริ่มเจรจากันบ้าง

“ลักษณะการทำธุรกิจของบริษัท เป็นเอ็นด์ ทู เอ็นด์ โซลูชั่น มีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และพีเพิ่ลแวร์ ผู้จะใช้บริการเลือกได้ว่าจะใช้ทั้งหมด เป็นดาต้า ไซแอน แอส อะ เซอร์วิส หรือถ้าลงทุนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ไปมากแล้ว จะใช้แต่พีเพิ่ลแวร์ ก็ทำได้”

นอกจากลูกค้าเอกชนแล้ว ยังมีเจรจากับหน่วยงานรัฐบ้าง เพราะเห็นว่า ถ้ารัฐใช้ข้อมูลมากขึ้น ก็จะปกครองประเทศได้ดีขึ้น เช่น อังกฤษ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บภาษี จะนำข้อมูลของผู้เสียภาษีแต่ละบุคคลไปวิเคราะห์ แล้วออกจดหมายเชิญชวนให้มาจ่ายภาษีตามลักษณะของคนนั้นๆ มีกรรมวิธีว่า เขียนอย่างไร ต่อคนไหนจึงจะทำให้คนต้องการมาจ่ายภาษีมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ทำเช่นเดียวกันนั้นได้ เพราะการบริหารประเทศยุคใหม่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และต่อไปก็ยิ่งเปลี่ยนสู่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นไปอีก โจทย์ของรัฐบาลคือ ทำอย่างไรให้ประชากรใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น มีงาน มีความปลอดภัย และเสียภาษี