ไฟเขียวโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก1.1แสนล.

ไฟเขียวโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก1.1แสนล.

"บอร์ด รฟม." เห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม 1.1 แสนล้าน คาดเดินหน้าประมูลงานโยธา 9 หมื่นล้าน ก.ค.นี้

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า วานนี้ (5 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลค่า 111,186 ล้านบาท

หลังจากนี้จะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาและคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็บชอบได้ไม่เกินเดือน เม.ย. นี้ โดยจะประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมประมูลงานโยธามูลค่า 90,271 ล้านบาทในเดือนก.ค. และลงนามสัญญาได้ราวเดือน ธ.ค.ปีนี้ หรือเดือน ม.ค. 2561

“ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-7 ปี และเปิดเดินรถได้ช่วงปลายปี 2566 หรือปี 2567 เนื่องจากการก่อสร้างค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์ใต้ดิน โดยเฉพาะบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และเส้นทางลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา”

นายพีระยุทธ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกได้ชะลอการก่อสร้าง 2 สถานีสุดท้ายด้านตะวันตก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์และสถานีตลิ่งชัน เนื่องจากสถานีดังกล่าวซ้อนทับกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงมีมติให้รฟม. ชะลอการก่อสร้างทั้ง 2 สถานีออกไปก่อน ส่งผลให้ระยะทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกลดลง 3.5 กิโลเมตร คิดเป็นวงเงินก่อสร้างที่ลดลงประมาณ 7,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รฟม. อยู่ระหว่างศึกษาการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทาง คือ ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาให้บอร์ด รฟม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในต้นปีนี้ จากนั้นต้องเสนอให้ครม. เห็นชอบ โดย รฟม. จะเร่งเปิดประมูลหาผู้เดินรถทั้งเส้นทางเพียงรายเดียวเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างและปัญหาเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

เจรจา‘บีอีเอ็ม’เดินรถเตาปูน-บางซื่อ

นายพีระยุทธ กล่าวต่อว่า บอร์ด รฟม. ยังเห็นชอบให้ รฟม. จ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้า 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ด้วยวิธีพิเศษ โดยเจรจาตรงกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ตามที่ รฟม. เสนอ

“สาเหตุที่เลือกเจรจาตรงกับ BEM เพราะมีความจำเป็นด้านเทคนิค โดยเฉพาะการเดินรถต่อเนื่องซึ่งต้องใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ศูนย์ควบคุมการเดินรถก็ต้องใช้จุดเดิม อีกทั้งไม่สามารถแยกช่วง 1 สถานีออกมาเดินโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลักที่สอดคล้องกับระเบียบราชพัสดุในการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษของ รฟม.”

นอกจากนี้ บอร์ด รฟม. เห็นชอบให้ปรับวงเงินในการเจรจาว่าจ้าง BEM ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ จากกรอบเดิมซึ่งคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) พิจารณาอยู่ที่ 693 ล้านบาท ให้ลดเหลือ 678 ล้านบาท เนื่องจากระยะเวลาดำเนินงานลดลงจาก 12-15 เดือน เหลือ 6-8 เดือน ส่งผลให้ต้นทุนลดลง

ด้านค่าจ้างเดินรถเห็นว่ากรอบวงเงินเดิม 52 ล้านบาทต่อปี ยังเป็นระดับที่เหมาะสม โดยตามแผนจะว่างจ้าง BEM ให้ติดตั้งระบบเป็นเวลา 6 เดือนและจ้างเดินรถเป็นเวลา 2 ปี

ลงนามสัญญาเดือนมี.ค.

บอร์ด รฟม. ยังมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษที่มีนายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ รฟม. เป็นกรรมการเพื่อเร่งรัดเจรจากับ BEM ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วก่อนจะให้บอร์ด รฟม. พิจารณาอีกครั้ง

จากนั้นจะเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมและเสนอให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาภายใน 30 วัน คาดว่าจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบได้ช่วงกลางเดือน ก.พ.และลงนามในสัญญากับ BEM ช่วงต้นเดือน มี.ค.

“คณะกรรมการจัดจ้างต้องเร่งรัดเจรจากับ BEM ให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งเรื่องเจรจาต่อรองราคา ขอบเขตงาน ระยะเวลาการดำเนินงาน และร่างสัญญา จากนั้นต้องนำเสนอให้บอร์ด รฟม. พิจารณาวันที่ 18 ม.ค. ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานต่างๆ พิจารณาตามขั้นตอน เราจะพยายามย่อเวลาดำเนินงานให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยต้องทดลองเปิดเดินรถช่วง 1 สถานีได้ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงครบ 1 ปีในการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง”

สรุปจ้างเดินรถสายสีน้ำเงินใน3เดือน

นายพีระยุทธ กล่าวว่า การเจรจากับ BEM เรื่องจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแคนั้น รฟม.ได้ส่งผลการเจรจาไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาและตามกรอบเวลาจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สคร.และสำนักอัยการสูงสุดคงเร่งรัดดำเนินการเนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ทั้งนี้ หากการเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งหมดสิ้นสุดและลงนามในสัญญา ก็นำสัญญาจ้างเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อไปยุบรวมกัน เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเช่นกัน ดังนั้นการว่าจ้าง BEM เดินรถช่วง 1 สถานี อาจมีระยะเวลาน้อยกว่า 2 ปีตามที่ระบุไว้

คาดสรุปจราจรสายสีส้มตะวันออกเดือนนี้

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟม. จะรายงานกรณีที่ สนข. มีมติให้ชะลอการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วง 2 สถานีสุดท้ายให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รับทราบในเดือนนี้ และหาก ร.ฟ.ท. ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนได้อย่างไม่มีปัญหา ก็จะพิจารณายกเลิกการก่อสร้าง 2 สถานีดังกล่าวในอนาคต

นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟม. อยู่ระหว่างเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำสุดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ทั้ง 6 สัญญา คาดว่าจะสรุปผลได้ในเดือน ม.ค. นี้ ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมเล็กน้อย เนื่องจากต้องเร่งดำเนินการเรื่องรถไฟฟ้า 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อให้เสร็จก่อน