“โอสถ” รส “สตรอว์เบอร์รี”

“โอสถ” รส “สตรอว์เบอร์รี”

ถูกกล่าวหาว่าเป็นผลไม้ “ซ่อนพิษ” มาเนิ่นนาน วันนี้สตรอว์เบอร์รีไทยเตรียมประกาศให้โลกได้รู้ว่า กินสตรอว์เบอร์รีดีๆ ก็เป็น “ยา” ได้เหมือนกัน

หลังจากหนูตัวนั้นได้กินสตรอว์เบอร์รีเป็นเวลาติดต่อกัน เซลล์มะเร็งร้ายที่ฝังอยู่ในตัวของมันก็หยุดการเจริญเติบโตและค่อยๆ ฝ่อลงไปในที่สุด นั่นเป็นการยืนยันว่า สตรอว์เบอร์รีมีส่วนช่วยในการยับยั้งมะเร็งได้จริงๆ


ไม่ใช่กล่าวขึ้นลอยๆ แต่นี่เป็นผลงานวิจัยของ ดร.บรูโน เมซเซตติ (Bruno Mezzetti) แห่ง Universita Politecnica delle Marche ในอิตาลี ที่ทำการปรับปรุงสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจนได้สายพันธุ์ที่มีสารแอนโทไซยานิน(Anthocyanin) สูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อสตรอว์เบอร์รีผลสด 100 กรัม ซึ่งสารแอนโทไซยานินนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างดี เมื่อนำไปทดสอบกับหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง โดยให้หนูกินสตรอว์เบอร์รีที่มีสารแอนโทไซยานินสูงๆ ทุกวัน ปรากฏว่า เซลล์ร้ายนั้นหายไป ผลงานนี้จึงกลายเป็นงานวิจัยที่กำลังถูกกล่าวถึงจากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย


แม้ไม่ได้เป็นประเทศในเขตหนาว หรือมีสตรอว์เบอร์รีเป็นพืชพื้นเมือง แต่ประเทศไทยกำลังจะมีสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่ที่ให้สรรพคุณทางยา และล้างภาพลักษณ์เก่าๆ ที่เคยถูกกล่าวหาให้หมดสิ้นไป


สตรอว์เบอร์รีล้างฝิ่น


สตรอว์เบอร์รี(Strawberry) เป็นผลไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ มีมากกว่า 20 สปีชีส์ทั่วโลก และมีลูกผสมมากมาย ผลสดของสตรอว์เบอร์รีมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีรสชาติตั้งแต่เปรี้ยวจัดไปจนถึงหวานจัด ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งที่พบในเมืองไทยเป็นสตรอว์เบอร์รีสวนที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศและการเพาะปลูกในเมืองไทย


เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้รู้จักกับผลไม้ที่มีชื่อว่า “สตรอว์เบอร์รี” ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงแนะนำให้ปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2515 สตรอว์เบอร์รีจึงถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทางภาคเหนือของประเทศไทยปลูกทดแทนพืชเสพติดชนิดเก่า จนสตรอว์เบอร์รีกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ตลาดในเมืองไทยต้องการ


“ถ้าเราถามพี่ป้าน้าอาของเราในตอนนั้น สตรอว์เบอร์รีเมืองไทยต้องจิ้มพริกกับเกลือทาน เพราะมันเปรี้ยวมาก นั่นคือสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 16 ซึ่งเราใช้สายพันธุ์นั้นกันมาตลอด จนกระทั่งปี 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งกับหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ว่าให้มีการปรับปรุงสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีให้เป็นเรื่องเป็นราว จังหวะเดียวกับที่ผมเรียนจบด้านสตรอว์เบอร์รีจากญี่ปุ่นกลับมาพอดีในปี 2540 พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานเงินจำนวน 5 แสนบาท เพื่อใช้ในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสตรอว์เบอร์รีของประเทศไทย” ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง กล่าว


หลังจากนั้นสตรอว์เบอร์รีไทยก็มีหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น ทั้งพันธุ์พระราชทาน 20, พันธุ์พระราชทาน 50, พันธุ์พระราชทาน 70, พันธุ์พระราชทาน 72, พันธุ์พระราชทาน 80, พันธุ์ 329 ซึ่งสตรอว์เบอร์รีที่ได้รับความนิยมอยู่ในตลาดหลักๆ ก็คือ พันธุ์พระราชทาน 80


“ล่าสุดที่มูลนิธิโครงการหลวงปรับปรุงสายพันธุ์คือ พันธุ์พระราชทาน 88 ที่เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์พระราชทาน 60 โดยปีที่แล้วเรากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อขอพระราชทานนาม พระองค์ท่านพระราชทานนามมาเป็นทางการว่า พันธุ์พระราชทาน 88 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติดี หอม แล้วก็มีความอร่อย ให้ใครชิมพันธุ์พระราชทาน 88 ก็จะบอก เฮ้ย...ยังไม่ได้เคี้ยวเลย มันละลายในปากไปหมดแล้ว เราเลยใช้คำว่า ละลายในปาก ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ” ดร.ณรงค์ชัย เล่า


ไม่นับรูปร่างหน้าตาที่แดงสดน่ารับประทาน กลิ่นหอมๆ รสชาติหวานๆ ของสตรอว์เบอร์รี ก็ทำให้ผลไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมได้ไม่ยาก ยิ่งเมื่อได้รู้ว่า สตรอว์เบอร์รีมีคุณค่าทางอาหารมากมาย เมื่อถึงฤดูหนาวทีไร ใครๆ ก็ต้องซื้อสตรอว์เบอร์รีมาติดบ้านไว้แทบทั้งนั้น


กินแล้วอันตราย?


ทั่วโลกกินสตรอว์เบอร์รีมาเนิ่นนานหลายร้อยปี เพราะเป็นผลไม้รสดี และมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ทั้งวิตามินซี วิตามินเอ โฟเลต แอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง ลดความดันโลหิต โดยในสตรอว์เบอร์รีนั้นมีพลังในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ หลายเท่า เช่น สูงกว่าส้ม 1 เท่าครึ่ง, สูงกว่าองุ่นแดง 2 เท่า, สูงกว่ากีวี 3 เท่า, สูงกว่ากล้วยหอมและมะเขือเทศ 7 เท่า และสูงกว่าลูกแพร 15 เท่า นั่นคือสรรพคุณจริงๆ ของสตรอว์เบอร์รี แต่…


“อย่าไปกินสตรอว์เบอร์รี มีแต่สารพิษ”


คำทักท้วงซ้ำๆ ทำให้ภาพจำเกี่ยวกับสตรอว์เบอร์รีไม่ค่อยสวยงามนัก เมื่อประกอบกับข้อมูลของสตรอว์เบอร์รีที่พบว่ามีสารตกค้างมากมาย ทำให้หลายคนเข็ดขยาด


ไม่เฉพาะในเมืองไทย อเมริกายักษ์ใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รีมากที่สุดในโลกก็ยังพบปัญหา โดยมีรายงานเผยแพร่ออกมาจากกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาว่า สตรอว์เบอร์รีในอเมริกามีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงมากที่สุดในประเทศ แซงหน้าแอปเปิ้ลที่เคยอยู่ในตำแหน่งไปเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งสารตกค้างในสตรอว์เบอร์รีที่ตรวจพบมีมากกว่า 10 ชนิด ถือเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะสตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่มีผู้นิยมรับประทานมาก และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก


“เราพยายามช่วยกันในเรื่องของการให้ความรู้ พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงให้น้อยลง ลดปริมาณการใช้สารเคมี ซึ่งถ้าซื้อสตรอว์เบอร์รีโครงการหลวงจะปลอดภัย แต่ไปซื้อข้างทางก็ค่อนข้างเสี่ยง อันนี้มันเป็นเรื่องของจิตสำนึก ทำยังไงจะให้เกษตรกรตระหนักถึงตรงนี้ มันเป็นเรื่องของอันตราย ไม่ใช่แค่ตัวผู้บริโภคนะ ตัวเกษตรกรเองด้วย เพราะเขาเป็นคนฉีดยา เขาจะโดนหนักกว่าผู้บริโภค คนกินกว่าจะกินอีกหลายวัน แต่คนฉีดฉีดวันนั้นก็โดนวันนั้น” ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกอย่างอ่อนใจ


อาจารย์พีระศักดิ์ กล่าวว่า ในสตรอว์เบอร์รีผลสดมีสรรพคุณมากมาย แต่ถูกสกัดกั้นโดยคำว่า “สารเคมี” ทำให้สตรอว์เบอร์รีถูกมองว่าเป็นตัวร้าย


“ทานสตรอว์เบอร์รีนอกจากจะได้ความหอม หวาน ยังได้สารแอนโทไซยานินในการต้านอนุมูลอิสระ โดยต้องทานสม่ำเสมอ เหมือนดื่มไวน์ทุกคืนก่อนนอนจะดี เพราะไวน์ทำจากองุ่น องุ่นก็มีสารแอนโทไซยานินเหมือนกัน แต่เป็นสารสีม่วง การกินสตรอว์เบอร์รีเป็นการกินเพื่อป้องกัน ไม่ใช่รักษา เป็นการเสริมสร้างสุขภาพ และบำรุงสุขภาพ ซึ่งในกลุ่มผลไม้ทั่วๆ ไป สตรอว์เบอร์รีมีแอนโทไซยานินสูงที่สุด


อย่างในประเทศอิตาลีมีการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีขึ้นมาสายพันธุ์หนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่มีสารแอนโทไซยานินสูง และมีการทดสอบในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง หนูกินสตรอว์เบอร์รีทุกวัน พบว่าเซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต อิตาลีจึงประชาสัมพันธ์ว่าสตรอว์เบอร์รีของเขาเป็นสายพันธุ์ที่มีแอนโทไซยานินสูง คือราวๆ 200 มิลลิกรัมต่อผลสด 100 กรัม ถือว่าสูงมากๆ ทีเดียว”


ปัญหาของสตรอว์เบอร์รีไทยคือมีปริมาณแอนโทไซยานินต่ำ หรือมีปริมาณแอนโทไซยานินไม่เกิน 45 มิลลิกรัมต่อผลสด 100 กรัมเท่านั้น การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้สตรอว์เบอร์รีที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงจึงเกิดขึ้น โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(พวอ.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิโครงการหลวง ในชื่อโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” โดยมี ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย 

ผลไม้กลายเป็น “ยา”

“อาจารย์พีระศักดิ์มาคุยกับผมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่าอยากทำสตรอว์เบอร์รีอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือโดยทั่วๆ ไป เราทำสายพันธุ์อร่อยๆ กันเยอะแยะ ทั่วโลกก็ทำอยู่ ปีหนึ่งๆ สตรอว์เบอร์รีอออกมาเป็นร้อยสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่กินแล้วเป็นยายังไม่มี ถ้าจะกินเป็นยาต้องไปกินสตรอว์เบอร์รีในป่า ซึ่งมีสารแอนโทไซยานินสูงกว่าสตรอว์เบอร์รีที่เรากินกันอยู่ เราเลยมีแนวคิดที่จะพัฒนาสตรอว์เบอร์รีที่มีปริมาณสารแอนโทไซยานินให้สูงขึ้นเพื่อกินเป็นยา กินแล้วมีคุณค่าทางอาหาร ดีต่อสุขภาพ วันละผลก็พอแล้ว แต่มันอาจจะมีแอนโทไซยานินมากกว่าสตรอว์เบอร์รีปกติ 4-5 เท่า อย่างนี้เป็นต้น” ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ เล่าถึงที่มา


ด้าน มงคล ศิริจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักวิจัยผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า แอนโทไซยานินจะมีหลายกลุ่ม แต่ในสตรอว์เบอร์รีจะพบอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ ไซยานิดิน(Cyanidin) และเพลาร์โกนิดิน(Pelargonidin) ซึ่งจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณเด่นหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการยับยั้งมะเร็ง หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือราว 8 ผลต่อวัน ก็จะได้ประโยชน์กับสุขภาพอย่างแน่นอน


“สตรอว์เบอร์รีไทยที่ได้รับความนิยมคือสายพันธุ์พระราชทาน 80 แต่มีสารแอนโทไซยานินต่ำมาก คืออยู่ที่ราว 2.66 มิลลิกรัมต่อผลสด 100 กรัม ส่วนพันธุ์ที่มีแอนโทไซยานินสูงที่สุดคือพันธุ์อาคิฮิเมะ (Akihime) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีแอนโทไซยานินสูงประมาณ 45 มิลลิกรัมต่อผลสด 100 กรัม วัตถุประสงค์ของการวิจัยของเราจึงเป็นการปรับปรุงสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงที่สุด”


สำหรับการวิจัยในครั้งนี้ได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีอยู่ในเมืองไทยมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 50, พันธุ์พระราชทาน 70 พันธุ์พระราชทาน 72, พันธุ์พระราชทาน 80, พันธุ์ 329 และพันธุ์อาคิฮิเมะจากญี่ปุ่น


มงคล บอกว่า ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจนได้ลูกผสมแล้ว และอยู่ในช่วงของการชักนำให้เกิดดอก ติดผล และนำมาวิเคราะห์เพื่อหาว่าสายพันธุ์ใหม่พันธุ์ไหนที่ให้สารแอนโทไซยานินสูงที่สุด


“ก่อนจะดูเรื่องแอนโทไซยานิน เราจะดูเรื่องความหวานก่อน แน่นอนว่า แอนโทไซยานินสูงแต่รสชาติเปรี้ยว ผู้บริโภคก็คงไม่ทาน จากนั้นก็ดูรูปทรงที่สวย ถ้ารูปทรงไม่สวย เอาไปขายก็ไม่ได้อีก ไปบอกเขาว่าแอนโทไซยานินสูง เขาก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ต้องบอกว่า สารต้านอนุมูลอิสระ แค่นั้น จบ แต่คือเราจะคัดก่อนว่า รูปทรงต้องสวยนะ รสชาติต้องดีนะ ไม่เปรี้ยวเกินไป ไม่หวานเกินไป ความแน่นเนื้อ กรอบมั้ย แน่นมั้ย แล้วก็ดูลักษณะคุณค่าทางอาหารอื่นๆ ก่อนจะหาแอนโทไซยานิน จริงๆ แอนโทไซยานินคือเมนหลักของเรา แต่ผลพลอยได้บายไพรดักส์คือเราก็จะหาอย่างอื่นด้วย เพราะเราต้องการให้มันดีหมด”


ถามว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน อาจารย์พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการวิจัย บอก ไม่น่าจะเกิน 2 ปี


“การพัฒนาสตรอว์เบอร์รีเป็นยาตอนนี้มีที่อิตาลีที่เดียว ส่วนมากเขาจะเน้นเรื่องความหวานความหอมกันมากกว่า แต่เราสามารถกินสตรอว์เบอร์รีเพื่อให้สุขภาพดีได้ ไม่เชิงเป็นยารักษา จะคล้ายๆ กับกินแครอท สังเกตมั้ยทำไมรอบๆ สถาบันมะเร็งน้ำแครอทขายดีมาก เพราะน้ำแครอทมีสารประกอบพวกเบต้าแคโรทีน มีสารใกล้เคียงกับแอนโทไซยานิน แครอทเป็นสีเหลือง เป็นกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะฉะนั้นคนเป็นมะเร็งก็นิยมกิน สตรอว์เบอร์รีก็หลักการเดียวกัน เพียงแต่แอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รีเป็นสารสีแดง”


ไม่จำเป็นต้องสูงมากขนาด 200 มิลลิกรัมต่อผลสด 100 กรัม เหมือนเช่นในอิตาลี แค่ได้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ใหม่ที่มีแอนโทไซยานินสูงกว่าปกติที่มีอยู่ในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นความสำเร็จสูงสุดแล้ว


“แต่เราก็หวังว่าเราจะได้พันธุ์ที่มีแอนโทไซยานินสูงๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น ในอนาคตข้างหน้าเราจะมีการวิจัยในลักษณะสัตว์ทดลอง เช่นเดียวกับที่อิตาลี ซึ่งเราทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์บรูโน เมซเซตติ อยู่ด้วย” อาจารย์พีระศักดิ์ สรุป


อีกไม่นานเกินรอ ประเทศไทยอาจจะมีสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถกินได้แล้วสุขภาพดี ที่สำคัญ ช่วยยับยั้ง “เซลล์มะเร็ง” มัจจุราชร้ายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกได้ด้วย