ครม.ไฟเขียวแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ครม.ไฟเขียวแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

"กอบศักดิ์" เผยครม.มีมติแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำครอบคลุมมากขึ้น พร้อมเพิ่มบทลงโทษหากไม่จ่ายค่าชดเชยหลังเกษียณ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2560 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างบางประเภท เช่น ลูกจ้างเด็ก คนพิการ และคนสูงอายุ ลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และกำหนดเกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุ

รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง และกรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุการเกษียณให้นับว่า 60 ปี ถือเป็นการเกษียณอายุทันที และให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยในกรณีดังกล่าว เพื่อให้กฎหมายแรงงานบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

“เพื่อเป็นการรองรับสังคมสูงอายุที่จะเกิดขึ้น เราได้มีการแก้ไขบทกำหนดให้ในช่วงต่อไป การเกษียญอายุถือเป็นการเลิกจ้าง ในอดีต การเกษียณอายุนั้นไม่ได้ถือเป็นการเลิกจ้าง จึงไม่ได้มีการจ่ายเงินชดเชย ทำให้มีการฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก แต่ในครั้งนี้ กำหนดให้ การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง จะต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จากเดิมที่ไม่ได้รับการชดเชย เพราะเกษียณอายุ เมื่อเป็นการเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเชื่อว่าลูกจ้างทั่วไปจะได้ประโยชน์เมื่อเข้าเกณฑ์การเกษียณอายุ”นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับการจ่ายเงินชดเชยนั้น ได้ยกตัวอย่างว่า ในกรณีที่ทำงานอายุงาน 10 ปี เมื่อเกษียณอายุ จะได้รับเงินชดเชยประมาณ 10 เดือน ของเงินเดือนสุดท้าย กรณีอายุงาน 6-10 ปี จะได้รับเงินชดเชย 8 เดือน กรณี 3-10 ปี จะได้รับเงินชดเชยประมาณ 6 เดือน เป็นต้น