“SpicaBear” หมีน้อยมีชีวิต

“SpicaBear” หมีน้อยมีชีวิต

SpicaBear หมีน้อยอัจฉริยะที่ช่วยเติมเต็มความฝันและจินตนาการของผู้คนในวัยเด็ก ด้วยเทคโนโลยี AR ซึ่งจะทำให้โลกของคนและตุ๊กตาเชื่อมต่อถึงกันได้

จะดีแค่ไหนนะถ้าของเล่นสุดโปรดจะลุกมามีชีวิต และสามารถโต้ตอบกับเราได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ในโลกภาพยนตร์

ความฝันในวัยเด็กของเราทุกคนเป็นจริงได้ เมื่อวันที่เจ้า SpicaBear” (สไปก้าแบร์) หมีน้อยอัจฉริยะปรากฏตัวขึ้น ด้วยฝีมือของสองพี่น้อง “บิ๊ก-พิศร” และ “บอส-จิรวัชร์ จึงวิวัฒน์อนันต์” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟีนิก้อน อินโนเวชั่น จำกัด เจ้าของไอเดียตุ๊กตาหมีมีชีวิต ที่จะเปลี่ยนโลกของเล่นให้ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

“ตุ๊กตาหมีของเราสามารถช่วยดูแลและให้ความสุขกับเด็กๆ ได้มากขึ้น ในขณะที่ตุ๊กตาหมีตัวอื่นทำไม่ได้”

คำบอกเล่าของ บิ๊ก-พิศร ระหว่างประจำการที่บูธ SpicaGiftงานแสดงสินค้าช่วงปลายปี เพื่อแนะนำของเล่นน้องใหม่ให้โลกได้รู้จัก ทิ้งความสงสัยให้กับเราอยู่มาก เมื่อดูภายนอกแล้วเจ้าหมี Spica ไม่เห็นจะแตกต่างจากตุ๊กตาหมีทั่วไปเลยสักนิด

จนเมื่อเจ้าตัวหยิบสมาร์ทโฟนที่ลงแอพพลิเคชั่น SpicaBear ไปสแกนตรงป้ายห้อยคอเจ้าหมีน้อย ฉับพลันตุ๊กตานิ่งๆ ไร้วิญญาณก็กลับมีชีวิตขึ้นบนหน้าจอสมาร์ทโฟน แถมยังสื่อสาร ทักทาย ออดอ้อน มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเราได้..เหมือนมีชีวิต

“ตอนเด็กๆ เราทุกคนต่างคงเคยเล่นตุ๊กตา ผมเองยังพับกระดาษมาสู้กันเป็น มดเอ็กซ์ มดแดง อะไรอย่างนี้ แล้วก็คิดว่ามันจะลุกมาสู้กันได้จริงๆ ซึ่งไม่ว่าจะเด็กสมัยก่อนหรือสมัยนี้เราต่างมีฝันและจินตนาการใกล้เคียงกัน เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถไปได้ เราเลยคิดทำตุ๊กตาให้มีชีวิต”

คนหนุ่มบอกเล่าที่มาของตุ๊กตาหมีมีชีวิตที่เขาและน้องชายร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยที่น้องทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์ คนออกแบบตุ๊กตาหมี Spica ส่วนเขาพัฒนาด้านโปรแกรม และเป็นเจ้าของเสียงพากษ์ให้เจ้าหมีน้อยด้วย

หลายคนอาจคาดเดาว่าทั้งสองคงเรียนมาทางด้านเทคโนโลยี ไม่ก็บริหารธุรกิจ เลยเชี่ยวชาญเรื่องนี้เอามากๆ แต่ความจริงคือ พวกเขาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่ชายที่จบก่อนพ่วงดีกรีเกียรตินิยมอันดับสอง ส่วนน้องชายยังอยู่ระหว่างศึกษา ย้ำว่า เป็นเด็กกฎหมายทั้งคู่ ส่วนความรู้ด้านเทคโนโลยีอาศัยศึกษาด้วยตัวเองผ่านอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญแม้ SpicaBear จะเพิ่งออกสู่ตลาดได้ไม่นาน แต่สองพี่น้องเริ่มหาเงินได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ด้วยซ้ำ โดยระหว่างคนพี่อยู่ปี 2 น้องชายอยู่ ม.6 พวกเขาเคยเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ขายให้กับต่างประเทศมาแล้ว และยังคงรับงานเขียนโปรแกรมมาถึงวันนี้

ตุ๊กตาหมี Spica เลยเป็นผลผลิตจากการเรียนรู้ “ด้วยตัวเอง” ที่ทั้งสองคนสั่งสมมาล้วนๆ

อาวุธลับที่ปลุกให้เจ้าหมีน้อย Spica มีชีวิต คือ เทคโนโลยี AR(Augmented Reality) โปรแกรมที่พวกเขาบรรจุลงตรงป้ายห้อยคอของเจ้าตุ๊กตาหมี ซึ่งเมื่อส่องผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนจะปรากฏเป็นภาพ 3 มิติ ตุ๊กตาแสนธรรมดาเลยให้ความสนุกได้มากขึ้น เมื่อคนทำใส่เติมฟังก์ชั่นต่างๆ ตั้งแต่ ทักทาย ตอบโต้ มีปฏิกิริยาเมื่อถูกตัว แสดงท่าทางเป็นสื่อแทนใจ ถ่ายภาพ อัดวิดีโอ แล้วแชร์อวดในโลกโซเชียล หรือแม้แต่เล่นเกมกับเจ้าหมีน้อยแล้วเอาผลคะแนนมาแข่งขันกัน กับสารพัดเกมมันๆ อารมณ์เดียวกับ ฟรุ้ตนินจา โปเกมอน โก และแคนดี้ครัช ที่สำคัญยังเล่นฟรี แถมยังให้อัพเดทแอพฟรี “ตลอดชีพ” อีกด้วย

สะท้อนจุดยืนที่คนหนุ่มย้ำตลอดการสนทนาว่า

“เรามุ่งทำสินค้าเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ โดยภาระของผู้ใช้ต้องน้อยที่สุด และตอบความสุขของผู้คนได้มากที่สุด”

น้องหมี Spica มีหน้าตาแตกต่างกัน ลองสังเกตที่รอยยิ้ม จะพบว่า บางตัวยิ้มหวาน ยิ้มกวน ยิ้มแหย ยิ้มน่ารัก รอให้คนซื้อได้มาเลือกตัวที่ “ถูกชะตา” ไปครอบครอง ส่วนเจ้าหมีน้อยทำมาจากผ้าสักหลาดนำเข้าจากเกาหลี ข้างในเป็นคอตตอน 100% คนทำตั้งใจใช้ของดีเพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของเด็กๆ โดยตั้งราคาขายที่เอื้อมถึงได้ตัวละ 1,299 บาท

เริ่มต้นพวกเขาทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ (Facebook/SpicaGift และ Line@ :  Spica8d) ควบคู่การออกงานแสดงสินค้า เพื่อแนะนำตัวให้ลูกค้ารู้จัก ส่วนเป้าหมายต่อไปคือกระจายสินค้าฝีมือเด็กไทย ไปเฉิดฉายในตลาดโลก โดยเริ่มที่อเมริกา ซึ่งปัจจุบันเตรียมเปิดตลาดผ่าน Amazon พร้อมหาตัวแทนจำหน่ายในอเมริกา และหากเป็นไปได้ก็หวังให้หมี Spica ได้ขึ้นเชลฟ์ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของที่นั่น เพื่อนำพาความสุขไปเสิร์ฟเด็กๆ ในอีกซีกโลกด้วย  

 “มองว่าเด็กต่างหากที่จะจดจำแบรนด์ของเราได้ในอนาคต โดยเราสามารถหยอดความคิดให้กับเด็กๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมา ในอีกสิบปีข้างหน้าเมื่อเขาเห็นว่าตุ๊กตาหมีตัวนี้ยังอยู่ และตอนเด็กๆ เขาเคยได้ นั่นคือ ‘แบรนด์แวลู่’ ที่จะเกิดขึ้น และประเมินค่าไม่ได้ ก็เหมือนกับเลโก้ ที่วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ผมเองก็อยากให้ SpicaBear เป็นแบบนั้น” คนหนุ่มบอก

แผนธุรกิจในอนาคต นอกจากการเปิดตลาดต่างประเทศ ยังรวมถึง การพัฒนาตุ๊กตาเวอร์ชั่นใหม่ๆ โดยย้ำว่า พวกเขาไม่ได้ขายตุ๊กตาหมี แต่เน้น “ขายความคิด” ดังนั้นจะไม่ยึดติดว่าต้องหมีเท่านั้น แต่จะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ รวมถึงการจับมือกับพาร์ทเนอร์แบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกันด้วย

“ถ้าเด็กทุกคนใช้แอพของผม รวมถึงพ่อแม่เด็ก ทำไมผมจะเสนอขายสินค้าสำหรับเด็กไม่ได้” เขาบอกโอกาส ณ วันที่ฐานของผู้ใช้เท่าทวีขึ้น

ฟีนิก้อน อินโนเวชั่น มีทุนจดทะเบียน ณ ปัจจุบันที่ 5 ล้านบาท พวกเขาใช้โมเดลสตาร์ทอัพ ระดมทุนจากนักลงทุน ส่วนหนึ่งก็ใช้เงินเก็บที่มีจากการขายซอฟท์แวร์ โดยไม่ได้กู้แบงก์ ค่อยๆ ก่อร่างสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา ซึ่งในอนาคตหากธุรกิจแข็งแรงแล้ว ก็ยังหวังที่จะเป็น VC ไปลงทุนให้คนมีฝันได้สร้างธุรกิจจนสำเร็จเหมือนพวกเขาด้วย

“ผมเชื่อว่าการทำธุรกิจ ‘ความคิด’ สำคัญที่สุด และความสามารถของคนไม่ได้ขึ้นกับอายุ แต่อยู่ที่ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง ประสบการณ์ต่างหากที่สอนเขา” คนหนุ่มย้ำโดยพิสูจน์ความจริงนั้นจากตัวของพวกเขา

Spica” เป็นชื่อของ ดาวฤกษ์ ดาวที่มีแสง สะท้อนความหมายที่ซ่อนอยู่ใน SpicaBear” หมีน้อยมีชีวิต ที่จะส่องประกายความสุขให้กับผู้คนบนโลกนี้

“กฎหมายคือการเยียวยา แต่ไม่สามารถตอบโจทย์การให้ความสุขกับคนได้ วันนี้พวกผมจะทำธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องของความสุขและสร้างโอกาสให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น”

และนั่นคือปณิธานที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างพวกเขา       

 …………………………..

Key to success

สูตรธุรกิจหมีน้อยมีชีวิต “SpicaBear”

๐ ตุ๊กตาสร้างสรรค์ ในราคาจับต้องได้

๐ ใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมโลกจินตนาการให้เป็นจริง

๐ ภาระของผู้ใช้ต้องน้อย และให้ความสุขได้มาก

๐ มองโอกาสในตลาดโลก โดยเฉพาะอเมริกา

๐ ทำธุรกิจ “ความคิด” สำคัญกว่าอายุ

๐ ใช้อุปสรรคปัญหาในชีวิต เป็นแรงขับสู่ความสำเร็จ