ค้าปลีกขยายลงทุน รับกำลังซื้อทัวริสต์

ค้าปลีกขยายลงทุน รับกำลังซื้อทัวริสต์

“ค้าปลีก”มั่นใจศักยภาพไทยยักษ์ใหญ่ เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-สยามพิวรรธน์ เดินหน้าลงทุนสานยุทธศาสตร์ “ทัวริสต์ เดสทิเนชั่น” แห่งเอเชีย

อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท แม้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเติบโตแบบถดถอย ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว แต่ศักยภาพประเทศไทยที่เป็น “ฮับ” ของอาเซียน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจค้าปลีกที่ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปี 2559 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้ายังสูงกว่า 32 ล้านคน สร้างรายได้สูงกว่า 2.4 ล้านล้านบาท

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าในเชิงการลงทุนธุรกิจค้าปลีกแต่ละประเภทยังขยายเครือข่ายต่อเนื่อง ทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนียนสโตร์ ที่ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด

ปี 2560 คาดการณ์ธุรกิจค้าปลีกเติบโตราว 3-3.5% ในอัตราเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

“แม้จะมีการเดินหน้าเมกะโปรเจคของภาครัฐ แต่กว่าเม็ดเงินสะพัดจะหมุนเข้ามาในตลาดค้าปลีกต้องหมุนหลายรอบ ใช้เวลา 5-6 เดือน”

อย่างไรก็ตามตลาดค้าปลีกไทยจะมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่ขณะนี้มีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการค้าปลีกรองรับโอกาสทางการตลาด

ชูไทยชอปปิงพาราไดซ์

นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และผู้ร่วมทุนโครงการไอคอนสยาม กล่าวว่า ธุรกิจชอปปิงมอลล์ในประเทศไทยมีความโดดเด่นมากเทียบในภูมิภาคภาคนี้ ทั้งในเชิงโครงสร้าง หรือ ฮาร์ดแวร์ คือ อาคารศูนย์การค้าที่มีถูกพัฒนาให้มีรูปลักษณ์โดดเด่น ทันสมัย พร้อมความสมบูรณ์ของซอฟต์แวร์ทางด้านสินค้าและบริการ ทำให้ไทยก้าวสู่ “ชอปปิง เดสทิเนชั่น” รองรับกำลังซื้อนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นอีกฐานลูกค้าหลักที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง

“ย่านสยามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการศูนย์การค้าได้พัฒนาธุรกิจรองรับโอกาสใหม่ ภายใต้จุดขายที่แตกต่าง เป็นพลังดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการ”

นอกจากแผนการตลาดเชิงรุกเจาะตรงกลุ่มนักท่องเที่ยวแล้ว บริษัทยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ทำการตลาดร่วมกันผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

สยามพิวรรธน์ยังอยู่ระหว่างพัฒนาอภิมหาโปรเจค “ไอคอนสยาม” บนที่ดิน 55 ไร่ ย่านเจริญนคร มูลค่ากว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ภายใต้การร่วมทุนระหว่างสยามพิวรรธน์ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขนาด 7.5 แสนตร.ม. เปรียบได้กับเมืองใหม่ รองรับ “นักท่องเที่ยว” จากทั่วสารทิศในประเทศไทย อาเซียน และทั่วโลก กำหนดเปิดบริการตามแผนเดิม ปลายปี 2560

ชี้โอกาสกำลังซื้อ100ล้านคน

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่านอกจากประชากรไทยกว่า 66 ล้านคน ประเทศไทยยังมี “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” อีกปีละกว่า 30 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 50% รวมเกือบ 100 ล้านคน เป็นฐานกำลังซื้อของไทยและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับสินค้าและบริการ รวมทั้งผู้ประกอบการค้าปลีก

“ตลาดนักท่องเที่ยวในไทยเปลี่ยนไปมาก 20 ปีก่อนส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง มาจากยุโรป สหรัฐ มีญี่ปุ่นบ้าง ปัจจุบันจีน อันดับ 1 ตามด้วยตะวันออกกลาง ซึ่งใช้จ่ายสูง ขณะที่นักท่องเที่ยวอาเซียนมามากขึ้น ไทยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อคนทุกชาติ ทำให้ทุกคนชอบเราเป็นโอกาสทางการค้า”

ทั้งนี้ เซ็นทรัลยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งออนกราวด์และออนไลน์ควบคู่กัน เพื่อสร้าง“ออมนิ แชนแนล” ตอบรับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ปัจจุบันมีธุรกิจครอบคลุมกว่า 36 จังหวัด มากกว่า 50% ของพื้นที่ทั่วไทย พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงช่องทางออนไลน์ขับเคลื่อนการเติบโต

ปี60ซีพีเอ็นเปิด3ศูนย์การค้า

สำหรับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเครือเซ็นทรัล ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า,เซ็นทรัล เฟสติวัล และเซ็นทรัลเวิลด์ เตรียมเปิดบริการ 3 แห่งในปีนี้ ประกอบด้วย เซ็นทรัล พลาซา มหาชัย เปิดบริการช่วงต้นไตรมาส3เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา เปิดบริการช่วงเดือน ก.ย. และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต เปิดช่วงปลายปี

ทัวริสต์พุ่งหนุนค้าปลีกไทยบูม

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า วิสัยทัศน์ธุรกิจของกลุ่มเดอะมอลล์มุ่งพัฒนาโครงการค้าปลีก ศูนย์การค้าในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทยที่มีศักยภาพ เช่น หัวหิน ภูเก็ต เป็นการต่อยอดสร้าง “เมืองท่องเที่ยวระดับโลก” รองรับกำลังซื้อระดับโลก ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ขณะนี้ทุกประเทศมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งความหลากหลายของสินค้าและบริการ ความโดดเด่นของแหล่งชอปปิง ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 30 ล้านคนในปีที่ผ่านมา คาดขยับขึ้นเป็น 40-50 ล้านคนภายใน5ปี

หากแยกจำนวนนักท่องเที่ยวเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีกว่า 23 ล้านคน ภูเก็ต 13 ล้านคน พัทยา 10 ล้านคน หัวหิน 6.7 ล้านคน เชียงใหม่ 5 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่เป็นกลุ่มคุณภาพมีการใช้จ่ายสูง มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในกลุ่มอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน หรือเกือบ 10% ของประชากรโลก นักท่องเที่ยวจากตลาดอาเซียน เป็น ตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวี ที่มีประชากร 200 ล้านคน เศรษฐกิจขยายตัว 7-8% ต่อปีทั้งสิ้น ล้วนเป็นลูกค้าหลักของชอปปิงมอลล์ในไทย

บลูเพิร์ลภูเก็ตเปิดปลายปี61

สำหรับ โครงการ บลูเพิร์ล ภูเก็ต บนที่ดิน 160ไร่ ลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดบริการปลายปี2561 หรือ ต้นปี2562 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกระดับภูเก็ต เป็น “ริเวียร่าแห่งตะวันออก” สอดรับนโยบายของภาครัฐที่มีแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือสำราญมากขึ้น

แอตต้าชี้ปี60นักท่องเที่ยวโต9%

นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่าประเมินนักท่องเที่ยวในปี 2560 ว่าจะเติบโตราว 9% จาก 32 ล้านคน เป็น 34.8 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านทัวร์ในกลุ่มสมาชิกของแอตต้า อยู่ที่ 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวน 5.4 ล้านคน

“แอตต้ายังประเมินแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวปี 2560 เติบโตสดใส แม้ขยายตัวไม่ถึง 10% แต่ระดับ 9% เป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยการเติบโตของการท่องเที่ยวทั่วโลก"

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ ความมั่นใจน่าจะดีขึ้น หลังจากปลายปีที่ผ่านมา แอตต้าร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดโรดโชว์ไปยังเมืองหลัก 4-5 เมืองต่อเนื่องและเอเย่นต์ทัวร์ฝั่งจีนเริ่มเข้าใจสถานการณ์ และพร้อมกลับมาทำตลาดไทยอีกครั้ง

ท่องเที่ยวปรับสู่ตลาดคุณภาพ

นายดิลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ โฮเทลส์ เปิดเผยว่ายังเชื่อมั่นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่พิสูจน์ด้วยการฟื้นตัวอย่ารวดเร็วมาตลอด ที่สำคัญคือระยะการฟื้นตัวที่รวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ

มองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกำลังปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาสู่การท่องเที่ยวคุณภาพแทนเชิงปริมาณ ดังนั้นการที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดการณ์นักท่องเที่ยวขาเข้าจะเติบโตราว 6% เป็น 34 ล้านคน แม้ว่าเติบโตลดลงจากผลพวงจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ยังเชื่อว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวจะปรับดีขึ้นด้วยศักยภาพการใช้จ่ายที่สูงขึ้น ส่งประโยชน์โดยตรงต่อเซ็กเมนท์ที่กลุ่มโรงแรมไมเนอร์ทำตลาดอยู่ในขณะนี้ด้วย