จัดระเบียบ‘ขายตรงคุมทำตลาดเกินจริง

จัดระเบียบ‘ขายตรงคุมทำตลาดเกินจริง

ภาพรวมธุรกิจขายตรงค่อนข้างซบเซาจากปัจจัยลบในตลาดเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น  เป็นภารกิจและความท้าทาย

ของ สุชาดา ธีรวชิรกุล นายกสมาคมการขายตรงไทย วางเป้าหมายขับเคลื่อนตลาดให้กลับมาเติบโตในปี 2560 

สุชาดา กล่าวว่า  ธุรกิจขายตรงปีหน้าจะเติบโต 2-3%  โดยมีปัจจัยส่งเสริมตลาด ประกอบด้วย เทรนด์สุขภาพความงามที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจส่วนตัว หันมาสนใจทำธุรกิจขายตรงมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน แนวโน้มคนใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้เกิดสังคมและสื่อสารเป็นกลุ่มมากขึ้น ซึ่ง “สื่อออนไลน์” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการสร้างเครือข่ายธุรกิจ และสื่อสารข้อมูลสินค้าได้มากขึ้น

งานวิจัยเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย ระบุว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมักจะเชื่อเพื่อน หรือคนใกล้ตัวมากกว่าสื่อโฆษณาทั่วไป เช่น การรีวิวสินค้าของบล็อกเกอร์ หรือผู้บริโภคทั่วไป มีผลจูงใจการซื้อสินค้าเช่นกัน และจะเปลี่ยนรูปแบบการติดต่อสื่อสารจากการบอกข้อมูลระหว่างกันในวงแคบสู่การสื่อสารในวงกว้างมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องทำตลาดควบคู่ออนไลน์และออฟไลน์ ประโยชน์ของเครื่องมือออนไลน์ ถือเป็น Pain Killer ที่สามารถทำลายความเจ็บปวดในแบบการสื่อสารดั้งเดิมได้ ตัวอย่างเช่น การถูกปฏิเสธไม่เข้าร่วมเครือข่าย หากปฏิเสธผ่านออนไลน์ก็ทำให้ผู้ชักชวนรู้สึกไม่เจ็บปวดเท่ากับการถูกปฏิเสธจากการชักชวนต่อหน้า (One on One) และออนไลน์ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเผยแพร่ ชักชวนเครือข่ายได้รวดเร็ว และทำได้ในจำนวนมากกว่าออฟไลน์

คุมทำตลาดออนไลน์เกินจริง

สมาคมฯ วางแนวทางขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมขายตรงปี 2560 เติบโตมากขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลระหว่างผู้บริหารของบริษัทขายตรงแต่ละรายที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ พร้อมส่งเสริมให้สมาชิกขยายธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

การทำงานและประชุมเครือข่ายของสมาชิกหลายค่ายเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยหัวหน้า หรือตัวแทนที่ส่งไปประชุม จะใช้สื่อเฟซบุ๊ค ช่วยถ่ายทอดสด หรือไลฟ์การประชุมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิกที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้”

ขณะเดียวกัน จะหารือสมาชิกเพื่อร่วมกันหาแนวทางดูแลและควบคุมจรรยาบรรณของ “นักธุรกิจอิสระ” หรือ นักธุรกิจขายตรง ที่ใช้เครื่องมือออนไลน์ในการทำตลาดและจำหน่ายสินค้าอย่างมีจรรยาบรรณมากขึ้น ระมัดระวังเรื่องการโฆษณาคุณภาพสินค้า รวมถึงการโฆษณาเชิงรายได้ที่ผู้ลงทุนหรือผู้ที่จะสมัครสมาชิกเครือข่ายไม่ให้เกินความเป็นจริง รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบ ดูแลการดำเนินงานของสมาชิกด้วยกันมากขึ้น

แนะปรับตัวเร็วได้เปรียบ

สุชาดา กล่าวต่อว่า ปีหน้ามีปัจจัยที่น่ากังวลอยู่บ้าง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังไม่คล่องตัวมากนัก ผนวกกับการเข้ามาทำตลาดของสินค้าสกินแคร์หลายแบรนด์ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรงต้องปรับตัว 

ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการทำตลาดให้รวดเร็ว เพราะถ้าหากปรับตัวช้าจะเสียเปรียบการแข่งขัน”

แนวทางการปรับตัวมองว่าผู้ประกอบการจะต้องมีสินค้า 2 ประเภท ประกอบด้วย สินค้า “เรือธง” ที่สามารถครองใจผู้บริโภคได้นาน และต้องมีสินค้าประเภทที่สามารถรองรับโอกาส หรือกระแสที่เกิดขึ้นได้เร็ว เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมที่กำลังได้รับความนิยม

ขายตรงปี59 ทรงตัว

ขณะที่ภาพรวมตลาดขายตรงในปี2559 “ทรงตัว” หรือมีมูลค่าประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท มีสมาชิกออกจากสมาคมฯ 2 ราย ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 32 ราย

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดขายตรงทรงตัวต่อเนื่อง 2 ปี แต่ยังมีสัญญาณที่ดี จากจำนวนสมาชิกบริษัทขายตรงเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยปี 2559 มีสมาชิกสามัญรายใหม่ 2 ราย ได้แก่  บริษัท โมเดเร (ประเทศไทย) จำกัด จากสหรัฐ เน้นจำหน่ายสินค้าหลักในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสกินแคร์ และ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการไทย จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหลัก

ดัน‘อาวียองซ์’เจาะตลาดใหม่

สุชาดา กล่าวถึง แบรนด์อาวียองซ์ ในเครือยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง ว่า ปัจจุบันมีสินค้าทำตลาด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความงาม กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มออรัลแคร์ หรือช่องปาก และกลุ่มเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยยอดขายสินค้า 2 กลุ่มแรก เติบโตดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ตามเทรนด์ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เมื่อใช้แล้วเห็นผลผู้บริโภคก็จะซื้อซ้ำ

ปี 2560  มุ่งเจาะตลาดใหม่ จากปัจจุบันทำตลาดใน 4 ประเทศ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา เติบโตดีทุกตลาดยกเว้นกัมพูชาค่อนข้างทรงตัว นอกจากนี้ มีแผนปรับปรุงระบบเทคโนโลยี และเปิดตัวโมบายแอพพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกสมาชิกในการเช็คคะแนนสะสม