รถไฟฟ้าดัน“บ้านแนวราบ”นอกเมืองรุ่ง

รถไฟฟ้าดัน“บ้านแนวราบ”นอกเมืองรุ่ง

ปี 2559 การขยายแนวรถไฟฟ้าหลายสายออกสู่นอกเมื่อมีความชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบ บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านแฝด

ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ซึ่งชะลอตัวเมื่อปี 2558 ให้กลับมาเติบโต และกลายเป็นตลาดที่โดดเด่น ท่ามกลางภาวะตลาดอสังหาฯ ที่มีความผันผวน และมีปัจจัยลบเกิดขึ้นหลายอย่าง ที่มีผลต่อภาวะจิตใจ ความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจ

ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายที่อยู่อาศัยทุกประเภทปี 2559 มีมูลค่า 2.99 แสนล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีมูลค่า 3.13 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีมูลค่าซื้อขาย 2.67 แสนล้านบาท แต่ในส่วนของตลาดแนวราบ มีมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้น ทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ โดยการซื้อขายบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด มีมูลค่า 72,826 ล้านบาท เติบโต 3% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 70,381 ล้านบาท เช่นเดียวกับ ทาวน์เฮ้าส์ มีมูลค่า 68,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 67,048 ล้านบาท สวนทางกับคอนโดที่มีมูลค่าซื้อขาย 1.58 แสนล้านบาท ลดลง 10% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 1.76 แสนล้านบาท

ด้านซัพพลาย พบว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 โดยบ้านเดี่ยวมีโครงการเปิดใหม่มูลค่า 3.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท และทาวน์เฮ้าส์ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 1.88 แสนล้านบาท

รถไฟฟ้าเปิดหน้าดินใหม่

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัวโดดเด่น โดยเฉพาะพื้นที่รอบนอกหรือชานเมือง เกิดจากการขยายแนวรถไฟฟ้าและโครงข่ายคมนาคมในช่วงที่ผ่านมา และอีกหลายสายที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2560 ซึ่งเป็นการเปิดหน้าดินใหม่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ เพราะผู้บริโภคจะสามารถเดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวกขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองหรือพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในหรือชั้นกลาง ที่ราคาสูงมาก 

นอกจากนี้ แนวราบเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการอย่างแท้จริง แตกต่างจากตลาดคอนโดที่มีความต้องการเทียมจากการซื้อเพื่อเก็งกำไรผสมด้วย เมื่อพิจารณาถึงระดับราคาของบ้านแนวราบที่ขยายตัวสูงสุด คือ บ้านระดับราคา 3-5 ล้านบาท คิดเป็น 33% ของจำนวนบ้านจัดสรรทั้งหมดในกรุงเทพฯ กว่า 40,000 ยูนิต

อย่างไรก็ตาม ยอดขายแนวราบที่ดี อยู่ในเฉพาะโครงการของผู้ประกอบรายใหญ่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อโครงการอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก จึงไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ ทำให้ซัพพลายใหม่ของที่อยู่อาศัยแนวราบเข้าสู่ตลาดในปี 2559 ส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่

ทาวน์เฮ้าส์ในเมืองมาแรง

อีกหนึ่งตลาดมาแรง คือ ทาวน์เฮ้าส์ในเมือง ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป อาศัยช่องว่าง จากการที่ตลาดคอนโดหรู มีราคาที่แพงมาก ระดับ  2-3 แสนบาทต่อตร.ม. ทำให้ทาวน์เฮาส์กลุ่มนี้แทรกตัวเข้าสู่ตลาด ให้ผู้ซื้อได้เปรียบเทียบความคุ้มค่า  โดยตลาดกลุ่มนี้เลือกพัฒนาในทำเลโซนเมืองชั้นใน หรืออยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางธุรกิจ และมีจำนวนยูนิตที่ไม่มาก ซึ่งกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบเติบโต

ตลาดทาวน์เฮ้าส์ในเมืองเริ่มโดดเด่นมาในช่วง 1- 2 ปี เพราะความต้องการที่อยู่อาศัยในเมือง ขณะที่ราคาคอนโดปรับตัวขึ้นไปสูงมาก แต่มีพื้นที่ใช้สอยไม่มาก จึงเป็นโอกาสให้ทาวน์เฮ้าส์หรูในเมืองที่มีจำนวนยูนิตไม่มากประมาณ 10-20 ยูนิตแจ้งเกิด โดยมีราคาต่อยูนิตใกล้เคียงกับเพนเฮ้าส์ของคอนโด และลูกค้าตลาดนี้นิยมใช้รถ ไม่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้า โครงการจึงไม่จำเป็นจะต้องอยู่ติดรถไฟฟ้ามาก ที่สำคัญมีพื้นที่จอดรถหลายคัน 

นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป จะไม่นิยมซื้อบ้านหรูชานเมือง แต่เป็นกลุ่มทำงานในเมือง กินดื่ม เที่ยวในเมือง ซึ่งแตกต่างกับคนมีกำลังซื้อสูงยุคก่อน ชอบบ้านหลังใหญ่ ที่อยู่นอกเมือง แนวโน้มโครงการลักษณะแบบนี้ จะมีออกมาต่อเนื่องในปี 2560