ปั่นไปใน 'ธรรมชาติ'

ปั่นไปใน 'ธรรมชาติ'

ไม่ว่าจะเขียวแท้ เขียวเทียม เขียวเข้ม หรือเขียวอ่อน แต่วันนี้เราจะพาทุกคนไปพบกับความเขียวขนานแท้ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ใครจะเปรียบเปรยให้จักรยานเป็นยานพาหนะสายสีเขียว หรือมองว่าเป็นพวกรักธรรมชาติ หากเจาะลึกในรายละเอียดอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปเสียหมด เพราะต่างคนต่างเหตุผลที่เลือกมาบนเส้นทางสองล้อถีบสายนี้

            ไม่ว่าจะเขียวแท้ เขียวเทียม เขียวเข้ม หรือเขียวอ่อน แต่วันนี้เราจะพาทุกคนไปพับกบ เอ้ย! พบกับความเขียวขนานแท้ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งล้วนแต่เกิดจากก้าวแรกที่ตามรอยพ่อ

            ใครผ่านไปผ่านมาบนถนนอ่อนนุช (ระหว่างซอยอ่อนนุช 37-39) อาจเคยสังเกตเห็นศูนย์การค้าหน้าตายุโรปๆ ตั้งตระหง่านริมถนนฝั่งขาออก นอกจากหน้าตาที่ยุโรปจ๋า ชื่อ ‘พิคคาเดลี่ แบงค็อก’ ยังสะท้อนความเป็นอังกฤษได้อย่างดี เหมือน Piccadilly Circus ย่านใจกลางกรุงลอนดอนนั่นเอง

            และทุกๆ เสาร์-อาทิตย์ที่ 2 และที่ 4 ของเดือน ตลาดนัดธรรมชาติ ‘ยักษ์กะโจนสัญจร’ จะแวะเวียนมาเติมสีสันให้บรรยากาศที่พิคคาเดลี่ แบงค็อก ดูสดชื่นรื่นรมย์ด้วยสีเขียวตั้งแต่ของที่นำมาขายไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องบอกว่าแต่ละคนมากันด้วยใจจริงๆ

            แน่นอนว่าถ้าเป็นตลาดทั่วไปเราคงไม่พามาหมุนโลกด้วยสองล้อ แต่ตลาดนัดธรรมชาติเหมาะสมกับนักปั่นรักธรรมชาติ และรักสุขภาพเป็นที่สุด เพราะนอกจากจะมีที่จอดจักรยานอย่างเป็นสัดเป็นส่วน ทุกกระเบียดนิ้วในงานนี้ยังให้ความรู้สึกยิ่งกว่าอยู่แถวบ้าน

            ที่บอกว่ายิ่งกว่าอยู่แถวบ้านเพราะอะไร? เคยไหมที่เดินตลาดใกล้บ้าน บ่อยครั้งที่เจอคนรู้จัก พ่อค้าแม่ค้าหลายคนก็เป็นคนคุ้นเคยกัน แต่จิตใจไปจดจ่ออยู่กับเรื่องซื้อของ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าก็จับจดอยู่การค้าขาย สถานะคนคุ้นเคยจึงถูกจำกัดอยู่แค่คู่ค้า ทว่าที่ตลาดนัดธรรมชาติคือพื้นที่ให้เพื่อนพ้องน้องพี่ที่หัวใจเดียวกันได้มาพบปะสังสรรค์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่แต่ละคนปลูกเอง เลี้ยงเอง สร้างมันขึ้นมาด้วยมือตัวเอง เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะสื่อสารกัน

            โครงการธรรมธุรกิจ ก่อตั้งโดย อ.ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (ประธานธรรมธุรกิจ), อ.โจน จันใด (รองประธานธรรมธุรกิจ), หนาว – พิเชษฐ โตนิติวงศ์ (ผจก.ธรรมธุรกิจ) ได้พากลุ่มชาวนาธรรมชาติ (ชาวไร่และชาวนาดั้งเดิม) และกสิกรอินดี้ (คนเมืองที่หันเหชีวิตเข้าสู่อาชีพเกษตรกร) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ยักษ์กะโจน ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ทุกคนได้นำความรู้เรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ วิถีพอเพียง การพึ่งตนเอง หรือที่เรียกรวมๆ กันว่า ศาสตร์พระราชา ไปปฏิบัติจนกระทั่งตกผลึกเป็นภูมิปัญญาตามแนวถนัดของแต่ละคน เมื่อเหลือจากที่กินใช้ พวกเขาจึงนำมันมาขายแบบไม่สนกำไร แต่ทำแบบใจแลกใจ

            หากเหนื่อยจากการปั่นจักรยานมาที่นี่ แนะนำให้ลองชิมไอศกรีมข้าวกล้องเหนียว หน้าตาอาจคล้ายไอศกรีมกะทิใส่ข้าวเหนียว แต่ที่แตกต่างกันคือทำมาจากข้าวกล้องเหนียวที่ปลูกแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ และใช้นมสด รสชาติจึงหอมหวานกำลังดี และรับรองว่ากินแล้วสุขภาพดีแน่นอน

            สำหรับคนที่ชอบอาหารคาวหรือต้องการจัดหนักให้อิ่มท้อง หลายร้านตอบโจทย์นี้ ด้วยหลากหลายเมนู อาทิ ส้มตำ ปลาทอด หมี่กรอบ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวไข่เจียวปู ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ทำจากวัตถุดิบที่ไว้วางใจได้

            ของหวานก็มี พืชผลทางการเกษตรก็มา อย่างมะนาวพันธุ์ทูลเกล้าลูกยักษ์จนทีแรกนึกว่าเป็นส้มเขียวหวาน ซึ่งมีจุดเด่นคือเปลือกบาง น้ำเยอะ และที่สำคัญปลูกอย่างปลอดสารพิษ ส่งตรงมาจากบ้านสวนปลายนา อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กันเลยทีเดียว

            หรือน้ำผึ้งที่เลี้ยงเอง ที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ (Organic) น้ำผึ้งที่ได้จึงหวานพอดี ไม่ใช่หวานแบบดอกลำไยอย่างน้ำผึ้งเลี้ยงทั่วไป จะเอาไปผสมกับน้ำมะนาวของร้านเมื่อกี้ กลายเป็นน้ำผึ้งมะนาวสูตรอินทรีย์ก็ชุ่มคอชื่นใจ

            อีกอย่างที่ทำให้อดชื่นชมไม่ได้ คือ ได้เห็นหลายคนนำความรู้ไปต่อยอด ประยุกต์ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือแม้กระทั่งใช้กับคนสัตว์สิ่งของ เช่น แชมพูอาบน้ำสุนัข, น้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน, เครื่องสำอางจากสมุนไพรปลอดสารพิษ เป็นต้น

            เดินดูของเพลินๆ ช็อปบ้าง ชิมบ้าง (แทบทุกร้านใจดีให้ชิมก่อน) จากทีแรกคิดว่าตลาดนัดแนวนี้คงเป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่ม คงไม่ค่อยมีคนสนใจ เอาเข้าจริงตลาดนัดธรรมชาติกลับได้รับความสนใจล้นหลามจากกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและคนทั่วไปที่ได้รับข่าวสาร

คงต้องยกเครดิตให้แนวคิดการสร้างเครือข่ายระหว่าง ผู้ปลูก ผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งยึดหลักการดำเนินชีวิตตามทางศาสตร์พระราชา “บันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง” โดยเริ่มจากการปลูกเพื่อพออยู่พอกินในครอบครัว เมื่อมีมากก็รู้จักแบ่งปันและทำบุญ ขยันเรียนรู้การเก็บถนอมรักษาผลผลิตเพิ่มเติม แล้วจึงเริ่มนำมาขยายผลด้วยการค้าขายที่ยั่งยืนต่อไป โดยการนำมาจัดจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม แม้ว่าจะเป็นเพียงตลาดนัดเล็กๆ ที่มีร้านค้าอยู่เพียงประมาณ 10กว่าร้าน แต่ก็มีผู้คนแวะเวียนมาซื้อของกันอย่างไม่ขาดสาย สินค้าทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางธรรมชาติโดยไม่พึ่งสารเคมีทั้งสิ้น

            ใครอยากไปตลาดนัดธรรมชาติแบบนี้ ยังไปได้เรื่อยๆ โดยหมุนเวียนสถานที่จัดงาน ดังนี้ สัปดาห์ที่ 1 จัดที่ จิตรโภชนา พาร์ค ดอนเมือง, สัปดาห์ที่ 2 จัดที่พิคคาเดลี่ แบงค็อก, สัปดาห์ที่ 3 จัดที่ธรรมสถาน วัดพระราม 9 และสัปดาห์ที่ 4 จัดที่ พิคคาเดลี่ แบงค็อก เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีใจรักสุขภาพและต้องการสินค้าที่ปลอดสารพิษ ได้มีพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันในเรื่องศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นกัน

            ดูเหมือนว่าการเดินวนไปวนมารอบๆ ร้านเพียง 10 กว่าร้าน กลับกินเวลาเกือบทั้งวัน กว่าที่ผมจะได้ปั่นจักรยานกลับบ้านไปพร้อมของพะรุงพะรังที่ได้จากงานนี้ ก็เพราะมัวแต่หลงอยู่กับรอยยิ้มและมิตรภาพที่พ่อค้าแม่ค้า ไม่สิ! ต้องเรียกว่าทุกคนคือพี่ๆ น้องๆ กันหมด พวกเขาไม่ได้มาขายของ แต่พวกเขามาแบ่งปันของดีที่ภาคภูมิใจนำเสนอ

          หลายครั้งที่ผมบอกว่าระหว่างทางอาจสำคัญกว่าจุดหมายปลายทาง แต่คราวนี้ต้องบอกว่า ปลายทางที่ตลาดนัดธรรมชาติที่พิคคาเดลี่ แบงค็อก คือความสุขจนหลงลืมระหว่างทางไปเลย

(ติดตามเรื่องราวการเดินทางบนอานจักรยานได้อีกช่องทางที่ www.facebook.com/2wheelsspinworld)