บทเรียนวันเปลี่ยนผ่าน

บทเรียนวันเปลี่ยนผ่าน

ขึ้นชื่อว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้นยากที่จะคาดคะเนล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด โดยเฉพาะในเหตุการณ์อันเลวร้าย...

...แต่สิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องหยั่งรู้ล่วงหน้า คือเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม

            นักวิชาการทั่วโลกต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและที่ไหน

            หากย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา (26 ธันวาคม 2547) ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล คร่าชีวิตผู้คนในรัศมีที่คลื่นยักษ์ซัดไปถึง มิหนำซ้ำยังส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่าง ซึ่งความสูญเสียส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดประสบการณ์การเอาตัวรอด เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยประสบกับภัยพิบัติลักษณะนี้มาก่อน

  • ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’ ใกล้ตัวจึงต้องเตรียม

            เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของผู้คนในพื้นที่เสี่ยงภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมการจัดการองค์ความรู้เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิสำหรับบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดภูเก็ตและพังงา เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม2559 ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ12 ปี สึนามิ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

            ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ทีมวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศไทยและในโลกของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาเรียนรู้ทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจธรรมชาติของการเกิดและการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการให้ความรู้ด้านภัยพิบัติแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เสี่ยง ให้เอาตัวรอดได้เมื่อภัยมาถึง แล้วยังส่งต่อความรู้แก่คนอื่นได้อย่างถูกต้องด้วย

            “ในส่วนนี้ทีมวิจัยจึงได้เลือกจัดอบรมองค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวและสึนามิให้แก่ครู-อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดภูเก็ตและพังงา จำนวน 60 คน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 30 คน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้นำความรู้และประสบการณ์ด้านแผ่นดินไหวและสึนามิที่ได้รับการถ่ายทอดไปสอนน้องๆ นักเรียนได้อย่างมั่นใจและถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตน เพื่อรักษาตัวให้ปลอดภัยในขณะเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งช่วยลดความสูญเสียและสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้”

            สำหรับการอบรมช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เป็นการบรรยายเรื่องการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีต่างๆ บนโลกอันเป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ และความเสียหายจากแผ่นดินไหว ควบคู่กับการผลิตสื่อการสอนด้านแผ่นดินไหวและสึนามิที่มีคุณภาพ โดยคณะครู-อาจารย์ ที่เข้าร่วมการอบรมนำไปใช้สอนในโรงเรียนได้ทันทีหรือนำไปพัฒนาต่อยอดผลิตเป็นสื่อการสอนด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติประเภทอื่น เช่น สูตรการคำนวณ

            ที่สำคัญการอบรมจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการศึกษาและกิจกรรมที่ต่อเนื่องในอนาคต ระหว่าง สกว., สสวท. และภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ กับคณาจารย์ระดับมัธยมศึกษา ในด้านการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ

  • “วงแหวนแห่งไฟ” ปีศาจที่ยังมีลมหายใจ

            ด้าน ศ.เควิน เฟอลอง (Prof. Kevin Furlong) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (Pennsylvania State University) กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิ พร้อมกับขีดเส้นใต้หนาๆ ว่าแผ่นดินไหวและสึนามิ เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาเยือนเราได้ทุกเมื่อ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหน

            แต่ที่ฟังแล้วชวนให้คิดตามคือ ประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนถือว่าเสี่ยงมาก เพราะอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นเปลือกโลกบริเวณวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่กว่า 452 ลูก และตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีความยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร และมีลักษณะเป็นแนวโค้งแบบเกือกม้า

            ระหว่างการบรรยาย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวชี้ไปตามแผนที่วงแหวนแห่งไฟ พร้อมกับอธิบายว่า วงแหวนเริ่มจากอเมริกาใต้ทางชายฝั่งของอเมริกาเหนือข้ามช่องแคบเบริง (Bering Strait) จนมาถึงญี่ปุ่นและลงมาใต้สุดที่นิวซีแลนด์ ก่อนที่จะแนะให้ทุกคนจินตนาการตามว่า แผ่นเปลือกโลกบริเวณนี้จะมีลักษณะคล้ายกับจิ๊กซอว์ที่ยังคงเคลื่อนไหว และมีโอกาสที่บางครั้งแผ่นเปลือกโลกบริเวณนี้จะชนกัน (Convergent Boundaries) ออกจากกัน (Divergent Boundaries) หรือเสียดสีกัน (Transform Boundaries) รวมถึงโอกาสที่จะจมและละลาย กลายเป็นหินหลอมเหลวที่ร้อนมากใต้ผิวโลก ปะทุเป็นภูเขาไฟ และเหตุแผ่นดินไหว

เช่นกรณีแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนีจูด บริเวณเกาะใต้นิวซีแลนด์ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำได้คือ การเตรียมพร้อมรับมือ และแนวทางป้องกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยบทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งอดีต

  • สูตรลับรอดชีวิต

            เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นของผู้เข้าอบรม วิทยากรทั้งสองได้นำแผนที่มาประกอบการบรรยายและสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้แก่ผู้เข้าอบรม ทั้งการเดินทางของคลื่น ที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่า คลื่นมีการเดินทางเฉลี่ยประมาณ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงแล้วความเร็วของคลื่นนั้นขึ้นอยู่กับความลึกของรอยแยกแผ่นดิน

            ประเด็นนี้ ศ.เควิน เฟอลอง อธิบายว่า ผู้เข้าอบรมต้องเข้าใจการคำนวณหาเวลาที่คลื่นวิ่งเข้าหาฝั่ง เพื่อประเมินว่าแผนการแจ้งเตือนภัยและการอพยพใช้ได้หรือไม่ โดยคำนวณการเดินทางของคลื่นจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่ตรวจจับด้วยทุ่นที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ในมหาสมุทร แล้วจับใส่สูตร แก้สมการ

            เมื่อได้คำตอบจากสมการแล้วจะนำมาหาเวลาที่คลื่นเดินทางได้ ซึ่งผลที่ได้ละเอียดถึงขั้นทำให้รู้ว่าเรามีเวลาในการอพยพกี่นาที

            จากนั้นเมื่อทราบตัวเลขต่างๆ จากสมการข้างต้นแล้ว วิทยากรได้นำแผนที่บริเวณชายฝั่งป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มาให้ผู้เข้าอบรมได้ช่วยกันออกแบบเส้นทางอพยพ อย่างไรก็ตามแบบฝึกหัดข้างต้น ครูอาจารย์นำไปบูรณาการการเรียนการสอนได้อีกทางหนึ่ง โดย สมบูรณ์ เรือสนิท ครูจากโรงเรียนตะกั่วป่า “เลขานุกูล” สะท้อนภาพรวมการอบรพให้ฟัง ก่อนที่จะอธิบายต่อว่า แบบฝึกหัดจากการอบรมนั้น เหมาะที่จะนำไปปรับใช้กับการสอนในวิชาฟิสิกส์เรื่องคลื่น

            ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความตื่นตัวให้แก่คนในพื้นที่ โดยเริ่มจากครูอาจารย์ที่เข้าร่วมอบรมสู่เด็กนักเรียนของตน และมีการส่งต่อจากเด็กสู่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย แม้ที่ผ่านมาจะมีการบรรจุเนื้อหาเรื่องสึนามิในรายวิชาของโรงเรียน แต่การประยุกต์ใช้ยังไม่ชัดเจนเช่นนี้

  • ถอดบทเรียนจาก“ญี่ปุ่นถึงไทย”

            นอกจากกิจกรรมการอบรมภายในห้องสี่เหลี่ยม วันสุดท้ายของการอบรม วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญนำคณะครูอาจารย์ลงพื้นที่ อ.เขาหลัก จ.พังงา ท่ามกลางเม็ดฝนหลงฤดูที่โปรยปรายลงมาเพื่อศึกษาพื้นที่จริง ไม่ว่าจะเป็นอาคารหลบภัย ซากอาคารเก่าที่เสียหายคลื่นซัดกระแทก โดยผู้เชี่ยวชาญอธิบายถึงอาคารหลบภัยที่อยู่เบื้องหน้าว่าเป็นอาคารที่ยกตัวสูง และมีลักษณะของเสาปูนที่มีความแข็งแรง รองรับการกระแทกของคลื่น

            “ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีระบบการจัดการเรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิที่ดี แต่สึนามิครั้งที่ผ่านมา มีหลายเรื่องสะท้อนให้เห็นความผิดพลาด และการประเมินผลที่ต่ำเกินไป อย่างอาคารหลบภัยที่มีความสูงไม่เพียงพอ ทำให้อาคารอพยพใช้ไม่ได้ผล” ผู้เชี่ยวชาญฯอธิบาย

            ในเรื่องเดียวกันนี้ ผู้เข้าอบรมสะท้อนความเห็นว่า ในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดภูเก็ต เช่น ป่าตองใต้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และเส้นทางการอพยพยังน้อยเกินไป อีกประการคือ ในบางเส้นทางต้องใช้เวลานานกว่าจะวิ่งหรือเดินให้ไปถึงจุดปลอดภัย กล่าวติดตลกด้วยว่าในชีวิตจริงวันที่สึนามิมาคงไม่มีใครโชคดีมีจักรยานอยู่ข้างตัว ดังนั้นรัฐบาลควรลงทุนที่จะสร้างอาคารหลบภัยที่เป็นอาคารของโรงเรียน หรือ โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีการใช้ประโยชน์

            “เราไม่อาจห้ามให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิได้ แต่เราสร้างความรู้เพื่อลดความสูญเสียจากเหตุร้ายได้” เสียงสะท้อนของผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติธรรมชาติ พร้อมกับแนะนำนักวิจัยไทยให้ทำการศึกษารอยเลื่อนต่างๆ ของประเทศไทย ทั้ง 14 รอยเลื่อนที่กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด แม้รอยเลื่อนที่ว่านี้จะมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสูญเสียด้วยชีวิตและทรัพย์สิน อันเกิดจากแรงสั่นสะเทือนของอาคารและตึกสูง

          ตามคำกล่าวที่ว่า “แผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าใคร แต่เป็นตึกสูงที่ฆ่าคน” ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าวทิ้งท้ายและทิ้งโจทย์ใหม่ไว้ให้แก่นักวิจัยไทย