5 ดีลใหญ่แห่งปี มูลค่ารวมเฉียด 3 แสนล้านบาท

5 ดีลใหญ่แห่งปี มูลค่ารวมเฉียด 3 แสนล้านบาท

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 5 ดีลใหญ่แห่งปี มูลค่ารวมเฉียด 3 แสนล้านบาท สะท้อนความแกร่งของ "ตระกูลนักธุรกิจไทย" ที่ไต่อันดับความใหญ่จากไทยสู่โลก

ปี 2559 แม้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่เป็นอีกปีที่ยังคงเห็น “บิ๊กธุรกิจไทย” เดินหน้า “ซื้อกิจการ” เพื่อเพิ่ม “อีโคโนมี ออฟ สเกล” ต่อกร “ธุรกิจข้ามชาติ” ที่รุกข้ามมาดำเนินธุรกิจในไทย และในหลายภูมิภาคของโลก อย่างต่อเนื่อง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 5 ดีลใหญ่แห่งปี มูลค่าดีลรวมกว่า 2.75 แสนล้านบาท สะท้อนความแข็งแกร่งของ “ตระกูลนักธุรกิจไทย” ที่ไต่อันดับความใหญ่ จากไทย สู่ โลก

ยิ่ง“ทุนหนา”ยังเป็น“ปัจจัย”ที่ซื้อความสำเร็จได้ง่ายขึ้น สำหรับสังเวียนธุรกิจที่ต้องอาศัยมรรควิธีในการ "ซื้อและควบรวมกิจการ" (Mergers and Acquisitions : M&A) ทางลัด เจ้าสัวแสนล้าน “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเจริญ คอร์เปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป)

5 ปีก่อน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคในเครือทีซีซี พยายามทุ่มเงินหลัก “หมื่นล้านบาท” เพื่อประมูลซื้อกิจการค้าปลีกเมืองน้ำหอม “คาร์ฟูร์” 42 สาขาในไทย แต่ต้องผิดหวัง เพราะกลุ่ม “กาสิโน” สัญชาติเดียวกัน และเจ้าของบิ๊กซีขณะนั้นเป็นผู้ชนะประมูล

ทว่า เมื่อกลุ่มกาสิโน เผชิญภาวะขาดทุนหนักในธุรกิจค้าปลีกบางทวีป มีหนี้ต้องสาง ทำให้จำต้องขายกิจการห้างค้าปลีก “บิ๊กซี” ในไทย ที่มีจำนวนสาขาทุกรูปแบบกว่า 700 สาขา

และครั้งนี้สมใจ “เจ้าสัวเจริญ” เมื่อ “บีเจซี” ทุ่มเงินก้อนแรกกว่า 1.2 แสนล้านบาท ฮุบหุ้น 58.55% ของบิ๊กซีในไทยแล้วดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยอีก 39.38% และใช้เงินอีก 8.2 หมื่นล้านบาทจนถือหุ้นบิ๊กซีสัดส่วน 97.94% มาครองรวมใช้เงินกว่า 2 แสนล้านบาทในช่วงต้นปี 2559

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันบีเจซี ยังซื้อห้างค้าปลีกประเภทชำระเงินสด (แคชแอนด์แครี่) เมโทร เวียดนามอีก 19 สาขา ด้วยเงินกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท

เซ็นทรัล ซื้อ "บิ๊กซี เวียดนาม" 

บิ๊กซี ประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งดีลใหญ่ที่เรียกความสนใจจากกลุ่มทุนค้าปลีกทั่วโลกช่วงชิงสินทรัพย์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้ทันที ไม่พลิกโผมากนักเมื่อกลุ่มเซ็นทรัลค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยเป็นผู้ปิดดีล!! โดยปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับกลุ่มเหงียนคิม ทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม เข้าซื้อกิจการ บิ๊กซี ในเวียดนาม มูลค่า 920 ล้านยูโร หรือกว่า 36,800 ล้านบาท ครอบครองเครือข่ายสาขา 43 แห่ง เป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่แบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 33 สาขา ร้านคอนวีเนียนสโตร์ 10 สาขา ธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้กว่า 586 ล้านยูโร ในสิ้นปี 2558

การเข้าซื้อกิจการ บิ๊กซี จึงเป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจสำหรับกลุ่มเซ็นทรัลในเวียดนามได้เป็นอย่างดีโดย“บิ๊กซี” เป็นอันดับ 2 หรือนับเป็นอันดับ 1 ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกข้ามชาติประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม

ในปีนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ยังได้เข้าซื้อกิจการ ซาโลร่า (Zalora) ประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำแฟชั่นในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การครอบครองกิจการครั้งนี้เป็นการกระตุ้นภาพรวมธุรกิจออนไลน์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้คึกคัก เพิ่มช่องทางการค้าให้ผู้ผลิตทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอีไทย” เพื่อต่อยอดธุรกิจให้คู่ค้าได้ครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สอดคล้องแนวคิดประชารัฐที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจในทุกระดับ

ไทยยูเนี่ยนเทคร้านอาหารสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ดีลการซื้อกิจการต่างประเทศของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้รับความสนใจไม่น้อย โดยการที่บริษัทยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ต้องการจะมีรายได้แตะระดับ 8,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563 และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ การซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารทะเลเข้ามาเพิ่มเติม

ในปี 2559 บริษัทใช้เงินซื้อกิจการเพิ่มเติมกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยหลักเกิดจากการเข้าลงทุนในเรด ล็อบสเตอร์ ซีฟู้ด (Red Lobster Seafood Co.)ในสหรัฐ ซึ่งทำธุรกิจเครือข่ายร้านอาหาร “Red Lobster”และนับเป็นภัตตาคารอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเงิน 575 ล้านดอลลาร์ หรือราว 20,100ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 25%

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวในเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และจะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากทีมบริหารของ เรด ล็อบสเตอร์ และโกลเดนเกท ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมร้านอาหารทะเลอย่างครอบคลุมและกว้างขวาง

“เรด ล็อบสเตอร์ เป็นแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจร้านอาหารทะเล รวมถึงมีทีมบริหารที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก และยังมีผลการดำเนินงานที่ดีนับตั้งแต่โกลเดนเกทเข้าซื้อกิจการในปี 57”

นอกเหนือจากนี้ บริษัทได้เข้าซื้อกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ รูเก้นฟิช เอจี ในประเทศเยอรมนี มูลค่าราว 1,664 ล้านบาท อะแวนติ โฟรเซ่น ฟู้ดส์ ไพรเวท ในประเทศอินเดีย มูลค่าราว 650 ล้านบาท และการเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 18%ของ ไตร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น ซึ่งประกอบธุรกิจภายใต้แบรนด์Chicken of the Sea Frozen Foodsในสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,600 ล้านบาท

ไม่เพียงแต่การเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติมเท่านั้น ล่าสุดบริษัทยังมีแผนที่จะทุ่มเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณทูน่าอย่างยั่งยืนในระบบอุปทานโลก โดยจะตั้งโครงการพัฒนาการประมง 11 โครงการทั่วโลก

คิงเพาเวอร์ฮุบ“หุ้นใหญ่”ไทยแอร์เอเชีย

การเข้าซื้อกิจการอีกรายในปีนี้ คือ การเข้าซื้อหุ้นของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ (AAV)ของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ โดยวิชัยและพันธมิตร ได้ทำรายการซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชีย ในวันที่12 มิ.ย.2559 จากกลุ่มธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและครอบครัว จำนวน 1,892 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 39% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในราคาหุ้นละ 4.20 บาท รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,945 ล้านบาท

การเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้วิชัยมองว่า จะช่วยเสริมธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นช่องทางที่จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัททัวร์จีนรายใหญ่พานักท่องเที่ยวจีนมาไทยซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีประมาณ 11 ล้านคน ปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 12 ล้านคน และในจำนวนดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวจีนมาใช้บริการซื้อสินค้าปลอดอากรของคิงเพาเวอร์ประมาณ 6-7 ล้านคน

ขณะที่ไทยแอร์เอเชียมีผู้โดยสารปีละประมาณ 17 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 20%การที่คิงเพาเวอร์ได้แอร์เอเชียมาเป็นเครือข่ายต่อยอดทางธุรกิจ น่าจะช่วยสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ภายหลังจากการทำรายการซื้อหุ้นแล้ว บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น ได้ประกาศเจตนาในการเข้าถือหุ้น เพื่อครอบงำกิจการจาก นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้บริหารกลุ่มคิงเพาเวอร์ซึ่งจะทำคำเสนอซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชีย ส่วนที่เหลือ จำนวน 60.17% เสนอซื้อที่ราคาหุ้นละ 4.20 บาท คิดเป็นมูลค่า12,300 ล้านบาท

เครือรพ.กรุงเทพฯซื้อ “ปาร์คนายเลิศ”

ดีลที่สร้างความฮือฮา ในแวดวงธุรกิจช่วงปลายเดือนก.ย. ต้องยกให้ดีลที่บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่มี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้ถือหุ้นใหญ่ (สัดส่วน 18.26% ณ วันปิดสมุดทะเบียน 16 ก.ย.59) ทุ่มเงิน 10,800 ล้านบาท เข้าซื้อที่ดิน 15 ไร่พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ประกอบด้วย โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และอาคารสำนักงาน Promenadeโดยคาดว่า BDMS จะรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ในไตรมาส 2 ปี 2560

ปิดตำนาน 36 ปีโรงแรมสวิสโฮเต็ลปาร์คนายเลิศ ในมือทายาทรุ่น 4 (เหลนนายเลิศ - ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร) ที่จะยุติกิจการโรงแรม ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป

ขณะที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุชัดว่า จะใช้เงินลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท เนรมิตที่ดินแปลงงามดังกล่าว จากธุรกิจโรงแรม สู่ธุรกิจ ศูนย์บริการสุขภาพสุขภาพครบวงจรแห่งแรกในเอเชีย (BDMS Wellness Clinic) บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และฟื้นฟูสุขภาพ เกาะเทรนด์โลกในธุรกิจบริการสุขภาพ (Health Care) รับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)โดยในไทย มีมูลค่าธุรกิจกว่า “แสนล้านบาท” ต่อปี

ดีลดังกล่าว ยังถือเป็นการ“เปิดฉากรุกธุรกิจศูนย์บริการสุขภาพครบวงจร”ของผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจโรงพยาบาลอย่างเต็มตัว ที่ทำให้ผู้เล่นเบอร์รอง นั่งไม่ติดเก้าอี้

ขณะที่สนนราคาซื้อขายที่ดินที่ตร.ว.ละ 1.8 ล้านบาททำให้แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่าจะทำให้ราคาที่ดินย่าน“เพลินจิต-ชิดลม-วิทยุ” ราคาพุ่งขึ้นอีก โดยอาจขยับสูงถึงตร.ว.ละ 2 ล้านบาท