มาแล้ว...'วัคซีนไข้เลือดออก' เฉพาะอายุ 9-45 ปี

มาแล้ว...'วัคซีนไข้เลือดออก' เฉพาะอายุ 9-45 ปี

ก.ย.ที่ผ่านมา อย.ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกแล้ว ซึ่งเป็นของบริษัทต่างประเทศ ออกฤทธิ์ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์แต่ไม่ป้องกันซิก้า มาลาเรีย

บุษกร ภู่แส
วัคซีนไข้เลือดออกเฉพาะอายุ 9-45 ปี

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากไวรัสเดงกี่ ที่มียุงลายเป็นพาหะ สามารถเกิดกับทุกเพศวัย ทุกชนชั้นไม่มีข้อยกเว้น ที่สำคัญไม่มียารักษา โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทยสามารถเป็นได้ตลอดปี จากตัวเลขในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อกว่า 1.4 แสนคน ในปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 6 หมื่นคน เฉพาะในกรุงเทพฯ 6,104 คน คิดเป็นสัดส่วน 10% แม้ในภาพรวมจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศลดลง แต่กลับเกิดในกรุงเทพฯ มากขึ้น ทำให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ต้องพึงระวัง

ศ.คลินิก นพ.เสน่ห์ เจียสกุล ประธานคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง การรักษาโรคนี้จึงต้องเป็นการรักษาแบบตามอาการ มีการตรวจเลือดเป็นระยะ ให้เกลือแร่ ยาแก้ปวดไม่แตกต่างจากแนวทางรักษาในอดีต แต่ดีกว่าที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้สามารถวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้บ้าง ทั้งนี้ เมื่อกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกแล้วซึ่งเป็นของบริษัทต่างประเทศ จัดเป็นยาทั่วไปที่สถานพยาบาลสามารถนำไปให้บริการแก่ประชาชนได้

วัคซีนนี้สามารถควบคุมได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ไวรัสก่อโรคไข้เลือดออก แต่ไม่ครอบคลุมโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุงทั้งโรคไข้สมองอักเสบ ชิคุนกุนย่า ซิกาและมาลาเรีย ผลิตจากไวรัสที่มีชีวิตและถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง หรือเรียกว่า วัคซีนเชื้อเป็น (live vaccine) เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโรคไข้เลือดออก ผ่านการทดสอบกับอาสาสมัครกว่า 3 หมื่นคนในเอเชียและละตินอเมริกาพบว่า สามารถควบคุมโรคได้ 65% ถือว่าสูงในระดับหนึ่ง ทั้งช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80% และลดความรุนแรงของโรคได้ 93%

คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนดังกล่าวเหมาะกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 9-45 ปี อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้เลือดออกระบาด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงช่วงฤดูระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน บ้านเรามีการระบาดของไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อคหรือเสียชีวิต จึงเป็นเหตุผลให้เริ่มฉีดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไปเพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วัคซีนชนิดนี้จะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน หลังฉีดครบ 3 เข็ม ตามหลักวิชาการภูมิคุ้มกันจะยังคงอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องฉีดทุกปีเหมือนวัคซีนหวัดใหญ่ แต่ต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหรือไม่ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวเพิ่งเริ่มฉีดมา 5-6 ปี ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รับประทานยากดภูมิ กำลังได้รับยาเคมีบำบัด มีเชื้อเอชไอวี หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรรับวัคซีนตัวนี้

สำหรับผลข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะและมีไข้ โดยพบได้ 1 ใน 10 บางคนอาจมีอาการวิงเวียน ไอ เจ็บคอ มีผื่นคัน กลุ่มนี้ก็พบได้น้อยลงไปอีก อยู่ที่ 1 ใน 100 ส่วนถ้ารุนแรงกว่านั้น คือ มีผลต่อระบบประสาทนี่เรียกว่าน้อยมาก มากกว่าอัตรา 1 ใน 10,000 แต่จากรายงานจนถึงปัจจุบันยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ควรจะสังเกตตนเองหรือคนใกล้ชิดว่า เสี่ยงกับโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ทั้งไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวและปวดลึกไปถึงกระดูกเหมือนกระดูกจะแตก ซึ่งทางการแพทย์เรียกอาการปวดลักษณะนี้ว่า Break Bone ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกเหมือนไข้หวัด อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน บางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ถ้าเริ่มมีอาการลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่า เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด อย่านิ่งนอนใจ เพราะหากขยับไปยังระยะต่อไปที่รุนแรงมากขึ้นจากมีไข้สูงบางรายอาจจะมีจุดเลือดสีแดงออกตามลำตัว แขนขา เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด และตามมาด้วยอาการตับโต เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตจะทำให้ผู้ป่วยช็อคและเสียชีวิตในที่สุด