เหลียวหลังแลหน้า 2560 : ลิงไปไก่มา

เหลียวหลังแลหน้า 2560 : ลิงไปไก่มา

ในรอบปีที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์ กระทบ “แบรนด์สินค้า”มากมาย มีดัง-ดับ-บาดเจ็บ-เติบโต ปี 2560 กูรูประเมิน "เทคโนโลยี" จะเป็นตัวแปรเคลื่อนตลาด

ลาทีปีเก่า สวัสดีปีใหม่ 2560 ! 

สิ้นศักราชเก่า 2559 และเข้าสู่ปีใหม่ 2560 ปีระกา  “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ขออำนวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน มีสุขภาพกาย-ใจแข็งแรง เต็มเปี่ยมด้วยพลังปัญญา และพลังทรัพย์ พร้อมรับ “ปี 2560” ที่“ต้อง”สดใสกว่าเดิม

นั่นเพราะตลอดปี 2559 เป็นปีที่ “โหด หิน และเหนื่อย” นักธุรกิจบางราย มองว่าเป็น "จุดต่ำสุด" (Bottom) ทำให้ประเมินว่าปีนี้ต้องดีกว่าปีก่อน 

เศรษฐกิจกำลังจะโงหัว !  

สำหรับภาคธุรกิจ รอบปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์มากมายกระทบแบรนด์สินค้า ทั้งที่คาดไว้ ไม่คาดฝัน ตื่นตะลึง ดราม่า เป็นทั้งปรากฎการณ์ “ดี” และ “ร้าย” ไปดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

ประเดิมส่งท้าย “ปีเก่า” ต้อนรับ “ปีใหม่” กับมหกรรมกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ กับมาตรการ ช้อปช่วยชาติ  ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค.59 โดยขยายเวลาจาก 7 วันในปีที่ผ่านมา เป็น 18 วันในปีนี้ ถือเป็น ของขวัญปีใหม่” ที่รัฐบาลมอบให้ "คนไทย" และ “ภาคธุรกิจ” โดยเฉพาะห้างร้านค้าปลีกที่จดทะเบียนถูกต้อง ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้กับเหล่านักช้อป ที่ซื้อสินค้าและบริการ “วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท” นำไปลดหย่อนภาษี

งานนี้ผู้ประกอบการค้าปลีก ประเมินว่า จะช่วยกระตุ้นยอดขายมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราว 25% ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา

@“ทีวีดิจิทัลอ่วม

สาหัสสากรรจ์ สำหรับ ธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่เดิมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกว่า 20 ช่องต่างคาดการณ์จะชิงเค้กเม็ดเงินโฆษณาหลัก “แสนล้านบาท” จากช่องฟรีทีวีอนาล็อกเดิมอย่าง ช่อง 3, 5, 7 และ 9 แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อหลายค่าย เสียหลัก  จากภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด แถมผจญปัญหาการเปลี่ยนผ่านระหว่างทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล จนต้องดึง กลุ่มทุนใหม่ มาเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและคอนเทนท์ อาทิ

บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เจ้าของช่อง “AMARIN” เรียกได้ว่าเจอ 2 เด้ง ซ้ำเติมธุรกิจ เมื่อขาหนึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร (Old media) อยู่ในช่วงขาลง เม็ดเงินโฆษณาหดตัว กับอีกขาหนึ่งต้อง “แบกภาระทางการเงิน” จากการประมูลทีวีดิจิทัล ที่รายได้ไม่เข้าเป้า ทำให้เกิดอาการ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ขาดทุนสะสม จนต้องเพิ่มทุนและดึงทายาทตระกูลสิริวัฒนภักดี" อย่าง "ฐาปน-ปณต" เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน 47.62% ด้วยเงินราว 850 ล้านบาท

ด้านช่อง "ONE" ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างแกรมมี่ และบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ดึง “บริษัท ประนันท์ภรณ์ จํากัด” นิติบุคคลที่มี นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ทายาทนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของช่อง PPTV เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 50% ด้วยเม็ดเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของแกรมมี่ลดลงเหลือ 25.50% จากเดิม 51% และบอย-ถกลเกียรติ ถือหุ้น 24.50% จากเดิม 49% 

ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “เจ้ติ๋ม ทีวีพูล-พันธุ์ทิพา สกุนต์ไชย ชิงปิดตัว 2 ทีวีดิจิทัล คือ ช่อง LOCA และไทยทีวี ไปก่อนใคร จากภาวะเจ็บหนักทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม มีแสงสว่างในธุรกิจนี้เกิดขึ้น เมื่อล่าสุด คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาต เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประมูลใบอนุญาตกันไปในราคาสูงมาก แต่กลับประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามแผน

โดยให้ขยายระยะเวลาการชำระใบอนุญาตที่ค้างอยู่ 1 งวด ซึ่งต้องชำระภายใน 1 ปี ด้วยการแบ่งออกเป็น 2 งวด ชำระภายใน 2 ปี โดยเสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ขณะที่เงินส่วนต่างที่เกิดจากการประมูลจากเดิมจ่ายไปแล้ว 3 งวด คงเหลืออีก 3 งวด  ให้ขยายเวลาการจ่ายได้ 6 งวดภายใน 6 ปี จากเดิม 3 งวดภายใน 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี

@ปิดฉากซีทีเอช

มาที่ฟาก “เพย์ทีวี” แผนปั้นแพลตฟอร์ม “เคเบิลทีวี” ยิ่งใหญ่ของบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ของ วิชัย ทองแตง และอดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้น ไม่เป็นตามฝัน  

ย้อนกลับไปในปี 2555 “วิชัย” เข้ามาสู่แวดวงสื่ออย่างจริงจัง ดึงแม่ทัพในแวดวงโทรคมนาคมเข้ามาเคลื่อนธุรกิจ ท้าชนเจ้าตลาดเคเบิลทีวี “ทรูวิชั่นส์” ชิง King of Content อย่าง “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” หรือ EPL 3 ฤดูกาล (2013-2016) ด้วยมูลค่าสูงลิ่วหลักหมื่นล้าน! 

ทว่า ธุรกิจไม่ได้ง่ายเหมือนดีดนิ้ว เมื่อหมากที่ซีทีเอช วางไว้ไม่เป็นไปตามแผน ทั้งจำนวนสมาชิก การกินรวบตลาดเคเบิลท้องถิ่น การหมายมั่นปั้นบรอดแบนด์ให้เกิดขึ้นและอีกมากมาย

ระยะเวลาไม่นาน แค่สิ้นสุดฤดูกาล EPL ก็เริ่มเห็น “ลางร้าย” ในธุรกิจเพย์ทีวีของซีทีเอช จากการแบกภาระ “ขาดทุน” มโหฬาร 

สุดท้าย การหยุดเลือดไหลออกของซีทีเอช เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนก.ย.59 กับการประกาศ “ยกเลิกกิจการ” อย่างเป็นทางการพร้อมแบกหนี้อ่วม 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ยังเกิดปัญหาต่างๆตามมา  

โดยเฉพาะ กรณี ประธานบริษัทฟ๊อกซ์ เน็ตเวิรค์ กรุ๊ป ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง ยื่นเรื่องต่อศาลที่ฮ่องกงและประเทศไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ไม่จ่ายแบงก์การันตี สัญญาให้สิทธิ์ในการออกอากาศรายการต่างๆ กับจีเอ็มเอ็ม และซีทีเอช ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่ง 2 บริษัทได้ค้างชำระค่าสิทธิ์การออกอากาศ มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาทและต้องชำระดอกเบี้ยกรณีจ่ายล่าช้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีเพื่อค้ำประกันการชำระเงินให้กับจีเอ็มเอ็มและซีทีเอช และตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ทำตามสัญญาเพื่อจ่ายค่าแบงก์การันตีแทน 2 บริษัท

จะว่าไปเกมนี้ หลายๆ คนมองว่า ซีทีเอช วิกฤติ! ตั้งแต่ไปประมูล EPL แพงระยับ!ไปแล้ว 

 @“ดีลใหญ่แห่งปี2559

ดีลใหญ่แห่งปี หนีไม่พ้นการเข้าซื้อกิจการของ เจ้าสัวตระกูลใหญ่ เพื่อต่อยอดการค้าไร้พรมแดน บิ๊กดีลในปีนี้มีให้เห็นทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์หรือบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ทุ่มเงินร่วม 2 แสนล้านบาท ซื้อหุ้นบิ๊กซีในไทย กว่า 97% จากเจ้าของเดิมทั้งกลุ่มคาสิโน ทุนสัญชาติฝรั่งเศส และกลุ่มเซ็นทรัล จนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจ “ปลายน้ำ” เติมเต็ม 5 เสาหลักธุรกิจ ของไทยเจริญ คอร์เปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป 

ด้าน กลุ่มเซ็นทรัล” ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ก็หันไปปิดดีลซื้อ “บิ๊กซี” ในเวียดนาม ทุ่มเงิน 3.68 หมืื่นล้านบาท ขยายอาณาจักร “ค้าปลีก” สู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มเติมจากที่เข้าไปลงทุนในอาเซียนทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย พร้อมกันนี้ยังเปิดหน้าร้าน “ออนไลน์” ด้วยการซื้อ Market place อย่าง “Zalora” มูลค่า 350 ล้านบาท ค้าขายครอบวงจรทั้ง ออนไลน์-ออฟไลน์ 

ขณะที่ ทอม เครือโสภณ” ดีลเมคเกอร์ ระบุว่า ดีลที่ใหญ่สุดในมุมมองของเขาคือ การซื้อขายหุ้นบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัดหรือ AAV (เป็นบริษัทที่ถือหุ้นไทยแอร์เอเชียในสัดส่วน 55%) กับนายวิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี ผู้กุมบังเหียนอาณาจักร “คิงเพาเวอร์” จำนวน 1,892 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 39% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,945 ล้านบาท   

คิงเพาเวอร์เป็นบิ๊กดีล เพราะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา และใหญ่จริง เพราะพื้นฐานนำสินค้าอุปโภคมาเจอกับสายการบิน เป็นอินเตอร์ดีลจริงๆ ส่วนบิ๊กซี รีเทิร์นยาว คิงเพาเวอร์เป็นยักษ์หนึ่งนะ แล้ววันหนึ่งเขาตัดสินใจขยายธุรกิจสู่นอนดิวตี้ฟรี ทำให้เห็นว่าธุรกิจคนไทยอยู่เฉยไม่ได้ ต้องไปอันอื่นแล้ว หรือซีพีเอฟ (บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) ไปซื้อ ‘Bellisio’ ธุรกิจอาหารแช่แข็งรายใหญ่ของสหรัฐ (มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท) ก็ถือเป็นบิ๊กดีล หรือการที่บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ทุ่ม 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนในเรด ล็อบสเตอร์ ยักษ์ใหญ่ภัตตาคารอาหารทะเลโลก อาจมองว่าเมืองไทยไม่มีไรให้ซื้อแล้ว เพราะเจ๊งหมด หรืออาจเป็นสัญญาณว่าทุนไทยต้องไปลงทุนในต่างประเทศ คุ้ม ผลตอบแทนดีกว่าในไทย”  

@แข่งผุดสินค้าใหม่ป้องตลาด

มาที่ความเคลื่อนไหวค่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ รอบปีที่ผ่านมาพบว่ามีการกระตุ้นยอดขายคึกคัก มีสินค้าใหม่ “ตอบสนองความต้องการ” ของผู้บริโภคออกมาอย่างต่อเนื่อง 

ทว่า ที่เพิ่มดีกรีการแข่งขันให้ร้อนแรง ต้องยกให้การออกมา “ปกป้อง” ส่วนแบ่งทางการตลาดของค่ายน้ำเมา อย่าง “บุญรอดบริวเวอรี่ ของตระกูลภิรมย์ภักดี กับการปล่อย ยูเบียร์ เบียร์ใหม่ในรอบ 18 ปี ในบรรจุภัณฑ์สีสันฉูดฉาดแหวกตลาดเดิมๆ หลังจากปล่อยให้ “ค่ายช้าง” ของเจ้าสัวเจริญ ปรับโฉม เบียร์ช้าง” เล่นงานแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปเกือบ 10% 

ก่อนหน้านี้ ค่ายช้าง ยังปลุกกระแสตลาด “นอนแอลกอฮอล์” ตัดหน้าไปก่อน ด้วยการส่ง โซดาร็อคเมาเท่น เขย่าตลาด 1.5 หมื่นล้านบาท ไล่หลังติดๆ บุญรอดฯก็ออกหมัดปล่อย โซดาลีโอ มาชน ซึ่งนับเป็นการแตกไลน์แบรนด์แอลกอฮอล์ สู่ นอนแอลกอฮอล์ในรอบ 18 ปี เช่นกัน 

 @Rare Items สินค้าฮอตแห่งปี

​ขณะที่ยุคนี้การ “ทดลอง” ตลาด ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะมี “โลกออนไลน์” ที่พร้อมสร้างกระแสปากต่อบอก กดไลค์ กดแชร์ มากมายที่จะช่วยปลุก “ดีมานด์” ของผู้บริโภค ตัวอย่างสินค้าฮอตแห่งปีและเป็น “Rare Items” มีอยู่ไม่น้อย 

โดดเด่นสุดต้องยกให้เป็นไอศกรีมแบรนด์ซามูไร กูลิโกะ” หลังแตกไลน์สินค้าใหม่ไอศกรีม ก็มีแฟนๆและผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายตั้งตารอกินกันเต็มที่ 

ทว่า สินค้ากลับมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เกิดการ “ตามล่า” หาไอศกรีมในร้านสะดวกซื้อตามย่านต่างๆ ชนิดที่ไปกี่โมง ก็จะพบว่าสินค้าหมด!อดกินกันไป ระยะหลังจึงเกิดการจำกัดการซื้อ “ต่อชิ้นต่อคน” ซึ่งสถานการณ์ซัพพลายไม่สอดคล้องกับดีมานด์ เกิดขึ้นหลายเดือนพอสมควร

@สินค้าดาวรุ่ง

สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดมีมากมายหลายแบรนด์ แต่สินค้าที่เป็น “ดาวรุ่ง” และความหวังให้กับผู้ประกอบการธุรกิจในปีนี้ต่อเนื่องจากปีก่อน คงต้องยก ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม เพราะหลายค่ายต่างผลิตออกมาแย่งตลาด หรือบางรายใหญ่ โฟกัสขายในต่างแดนอย่างเดียว 

ประเดิมจากโคโคแม็กซ์ เจ้าตลาด จากนั้นทุกแบรนด์ไม่ยอมทิ้งโอกาสทอง มาลี โคโค, ทิปโก้, อีฟ, ยูเอฟซี, ชาวเกาะต้องส่งแบรนด์คิงไอส์แลนด์ เข้ามาทำตลด, เซปเป้เข้าไปลงทุนถือหุ้น 40% เพื่อขยายตลาดออล โคโค่ หรือแบรนด์ 28 DAYS (เนเวอร์ มอร์ แดน ทเวนติเอย์ท เดย์) เป็นต้น 

บางรายไม่ได้โฟกัสตลาดในประเทศ แต่มุ่งขายต่างแดน เช่น สิงห์  ทำตลาดน้ำมะพร้าวผ่านบริษัทในเครืออย่างวราฟู้ดส์,ไทยโคโคนัท ที่โฟกัสตลาดจีน เป็นต้น 

อีกสินค้าดังต้องยกให้ กระทะ “KOREA KING” ซึ่งมีพิธีกรชื่อดัง “วู้ดดี้” เป็นพรีเซ็นเตอร์ จนได้รับสมญานามว่ากระทะวู้ดดี้”  ส่วนจะดังแค่ไหนเชื่อว่าผู้บริโภครับรู้กันดี ทั้งยังเป็นแชมป์แบรนด์ที่ใช้เม็ดเงินในการโฆษณาสูงสุดติดต่อกันหลายเดือน 

@“อีคอมเมิร์ซเปลี่ยนมือ

กระแสของ Marketplace หน้าร้านออนไลน์ อีคอมเมิร์ซต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาร้อนแรงใช่ย่อย เพราะบรรดายักษ์ใหญ่ในต่างประเทศตบเท้าเข้ามาเปิดธุรกิจในไทยไม่ว่าจะเป็น Lazada และ Zalora ภายใต้เครือบริษัท ร็อคเก็ต อินเทอร์เน็ต (Rocket Internet) จากประเทศเยอรมันนี การที่ Rakuten ยักษ์ใหญ่ออนไลน์เอเชียจากญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นใน Tarad.com ของทุนไทยอย่าง “ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ” ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซ Tarad 

ด้วยรูปแบบของธุรกิจออนไลน์ ภาวุธ เคยระบุว่า หากต้องการให้เกิดพฤติกรรมการซื้อ ธุรกิจนี้ก็จะต้อง เผาเงินทิ้ง โดยลดราคากระหน่ำจูงใจผู้บริโภค โดยโมเดลค้าขายออนไลน์หลายประเทศต้องเผชิญภาวะ “กลืนเลือด” ท้ายที่สุด เมื่อไม่มีกำไรก็ต้องกัดฟันขายกิจการทิ้งออกไป 

แต่ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้าน หรือออฟไลน์  ก็ต้องการขยายธุรกิจให้ “ครบวงจร” ทั้ง ออนไลน์-ออฟไลน์ การมี Marketplace จึงเป็นคำตอบ

เมื่อฝั่งหนึ่งแย่ อีกฝั่งอยากได้ จึงเกิดดีลซื้อขายกิจการหน้าร้านออนไลน์เกิดขึ้น และเปลี่ยนมือกันจ้าละหวั่น ไม่ว่าจะเป็น ภาวุธ ซื้อหุ้น Tarad คืนจาก Rakuten กลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อ Zalora ประเทศไทย อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีนซื้อ Lazada ประเทศไทย เป็นต้น 

นอกจาก Marketplace มีการเปลี่ยนมือ ธุรกิจที่เป็นออนไลน์อย่าง WebDeal ก็มี "ปิดกิจการหนี“ โดยเฉพาะกรณีของ "Ensogo” ที่ไม่แค่ “ลอยแพ” พนักงาน แต่ “ผู้บริโภค”  จำนวนมากก็รับเคราะห์กรรมไปด้วย เนื่องจากซื้อดีลสินค้าและบริการไม่สามารถใช้ได้ ส่วนร้านค้าก็ได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่ได้รับเงินเช่นกัน

@ปรับโครงสร้างบริหารคึกคัก

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเห็นการ ปรับทัพ ผู้บริหารกันยกใหญ่ เพื่อเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า รับมือกับธุรกิจการค้า พฤติกรรมผู้บริโภคโลกอนาคต โดยที่เห็นเด่นชัดมีมากมาย 

ไม่ว่าจะเป็น บริษัท โอสถสภา จำกัด”  ที่ดึงมือดีอดีตผู้บริหารยูนิลีเวอร์ นักเศษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ผ้บริหารระดับสูงธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) มาเสริมทัพ ได้แก่ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร อดีตผู้บริหารยูนิลีเวอร์ และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีบี  

วรรณิภา ภักดีบุตร เป็นกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ อดีตผู้บริหารยูนิลีเวอร์ และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นกรรมการบริหาร เป็นต้น 

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ก็ปรับโครงสร้างโยกย้ายตำแหน่งกันยกใหญ่ เพื่อสานวิสัยทัศน์ปี 2563 และยังเป็นการเตรียมเฟ้นหา “ซีอีโอ” รับอนาคตภายในปี 2573 ที่ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟ มุ่งมั่นว่าถึงวันนั้น ซีอีโอของบริษัทจะต้องอายุไม่เกิน 45 ปี! 

เช่นเดียวกันกับค่ายสิงห์ ปรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงกันยุ่บยับไปหมด แต่ที่สะเทือนสุดๆ คงเป็นตำแหน่งของ ปิติ ภิรมย์ภักดี ทายาทคนกลางของแม่ทัพ สันติ ภิรมย์ภักดี”  เมื่อถูกโยกไปเป็นกรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน รับผิดชอบการบริหารของบริษัท ลีโอ ลิงค์ จำกัด และบริษัท บุญรอดเอเชีย จำกัด จากเดิมเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด คู่พี่ชาย ภูริต ภิรมย์ภักดี ส่วน พลิศร์ ภิรมย์ภักดี ก็รับผิดชอบการบริหารธุรกิจของ บริษัท สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท สิงห์ รีเจนนัล โฮลดิ้ง จำกัด 

ขณะเดียวกันการปรับตำแหน่งล่าสุด “ภูริต” ก็ก้าวเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด” เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เป็นต้น 

@แบรนด์ดราม่าแห่งปี

ใครว่า ดราม่า มีแค่ในละครทีวี เพราะชีวิตจริง บางครั้งก็ยิ่งกว่านิยายน้ำเน่าบนจอแก้ว 

ปัจจุบันดราม่ายังลุกลามถึงการตลาดหนักข้อขึ้นทุกวัน แต่ปีนี้มีกรณีดราม่า ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการตลาด แต่เป็น “ปมความขัดแย้ง”ธุรกิจในครอบครัว ก็มีผลต่อแบรนด์สินค้า ที่เห็นชัดคือ ดราม่าพันล้านของน้ำพริก แม่ประนอม” และเป็น 1 ใน 10 ผู้ส่งออกกลุ่มซอสรายใหญ่ระดับโลก เมื่อผู้เป็นแม่คือ นางประนอม แดงสุภา ผู้ก่อตั้งธุรกิจน้ำพริกเผาแบรนด์ “แม่ประนอม” ภายใต้ บริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด ยื่นฟ้องนางศิริพร แดงสุภา ลูกสาวคนโต ฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารในการฮุบหุ้นเป็นของตนและสามีรวมทั้งลูกๆ​

กรณีดังกล่าวเกิดเป็นปมดราม่าในโลกออนไลน์ กระทั่งกระเทือนแบรนด์ เพราะมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ที่รับทราบข่าว ก็เกิดกระแสต้าน ตั้งท่าจะไม่บริโภคสินค้าแบรนด์นี้ เลิกกิน หรือย้ายไปกินน้ำจิ้มยี่ห้ออื่น เป็นต้น 

--------------------------------

เทคโนโลยี” เคลื่อนตลาดปี 60

ดร.ชลิต ลิมปะนะเวช” อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาว่า “ไม่ดีมาก” เห็นจากรัฐบาลพยายามงัดมาตรการต่างๆมาประคองสถานการณ์ 2-3 ระลอก ทั้งช้อปช่วยชาติ เที่ยวช่วยชาติต่างๆ ซึ่งเมื่อสะท้อนมายังภาคธุรกิจการตลาดในปี 2559 จึงเรียกได้เกือบไม่เต็มปากว่าเป็นปี เกือบปราบเซียน” เพราะจากการพูดคุยกับรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่า ยอดขายเติบโตผิดจากเป้าหมายถ้วนทั่ว 

“ผู้บริหารบางรายที่ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในช่องทางร้านสะดวกซื้อชั้นนำ ยังบอกว่าขายไม่ค่อยดี ยอดขายทรงๆ กระทั่งลดลง” เมื่อเป็นเช่นนั้น กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้จึงเป็นเหมือนเดิมคือกระหน่ำลด แลก แจก แถม เพื่อหาหนทางรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ 

เป็นปีเกือบปราบเซียน ไม่ถึงกับแย่ กึ่งๆปราบเซียน เพราะผู้ประกอบการที่อยู่ได้ แล้วเติบโตได้ ต้องถือว่าเซียน เพราะที่แน่ๆบางรายยอดขายตก

​ส่วนการตลาดเจ๋งๆในปี 2559 มองว่าไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก การฟาดฟันในตลาดเบียร์ระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ สิงห์และช้าง ที่ต่างออกสินค้ามาสู้กันยิบตา กระทั่งเบียร์ช้างได้ส่วนแบ่งทางการตลาดได้เกือบ 10% แต่หากมองเกมนี้ควรมองยาวๆ เพราะถ้ามองสั้น การงัดกลยุทธ์ลด แลก แจก แถมต่างๆมาห้ำหั่นกัน อาจมีผลทำให้ยอดขายพุ่ง!

สินค้าขายดีอย่างน้ำมะพร้าว ก็ยังฮิตติดลมบนต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ยอมรับว่าช่วยทำให้ผู้ประกอบการหลายบริษัทมีกำไรจากน้ำมะพร้าวกันค่อนข้างมาก 

น้ำมะพร้าวป็นสินค้าที่ยอดขายเติบโตเร็วมาก อย่างมาลี ทำกำไรได้มหาศาล”  

อีกหนึ่งธุรกิจที่ขาขึ้นเขามองว่าเป็น “โลจิสติกส์” เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ มีผลให้บริษัทขนส่งได้รับอานิสงส์ไปด้วย และจะเห็นว่าชื่อของ “Kerry express” จากฮ่องกง ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าทั่วถึงค่อนข้างมาก จนกลายเป็นพระเอกก็ว่าได้ ส่วนบุคคลที่โดดเด่นเคยเรียกเสียงฮือฮา สร้างกระแสจากกิจกรรมการตลาด เช่น ตัน ภาสกรนที แห่งอิชิตัน ปีนี้ในเชิงการตลาดยอมรับว่าค่อนข้างเงียบ  

ส่วนการซื้อกิจการห้างบิ๊กซีในไทยของเจ้าสัวเจริญ ต้องบอกว่าไม่ได้ฮือฮามากนัก เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว จากสถานการณ์ธุรกิจของกลุ่มคาสิโน กรุ๊ปในบางประเทศไม่ดี ถ้าหากจะให้ฮือฮา คือต้องรอให้เกิดการซื้อขายกิจการ “ห้างเทสโก้ โลตัส” ในเมืองไทยเสียก่อน รับรองสนุก! 

ทว่า สิ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของการตลาดปีระกา 2560 เมื่อ เทคโนโลยี ยังมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือการทำตลาดจะทวีความเข้มข้นขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ เซ็กเตอร์การเงิน เมื่อ ฟินเทค หรือไฟแนนเชียล เทคโนโลยี เข้ามา หลายธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเองมากขึ้น เริ่มลดการขยายสาขา หันไปให้บริการทางออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด 

ขณะที่การเปิดสาขาแบงก์ในห้างมีต้นทุนสูง ทำให้เห็นโมเดลใหม่ๆในการให้บริการแก่ลูกค้าตลอดเวลา โดยเฉพาะการขยับตัวของธนาคารซีไอเอ็มบี ที่เช่าพื้นที่ให้บรการ ในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเชื่อว่าต้นทุนจะต่ำกว่าห้างทั้งค่าเช่า การใช้จำนวนพนักงานให้บริการ และยังสามารถเข้าถึงลูกค้าได้จำนวนมาก เพราะร้านสะดวกซื้อมีสาขามากกว่าศูนย์การค้า และห้างค้าปลีกสมัยใหม่    

กลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาดหรือ4Ps(Product, Price, Place, Promotion) จะค่อยๆเลือนหายไป โดยมี4Csเข้ามาทดแทน ได้แก่  

Consumer โดยแบรนด์ยังคงต้องเน้นความต้องการของผู้บริโภคเป็นลำดับแรก แล้วตอบโจทย์ให้ได้ Cost ต้นทุนยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆให้ได้ 

Convenience ความสะดวกสบายจากการชอปปิงซื้อสินค้า เช่น อีคอมเมิร์ซจะมีความร้อนแรงในตลาดมากขึ้น และสุดท้าย 

Combination รวมออฟไลน์และออนไลน์ในการทำตลาดให้ลงตัว 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักการตลาดอื่นที่มอง Connectivity หรือการเชื่อมต่อผู้บริโภคและเชื่อมต่อหลายๆอย่างเพื่อทำการตลาดด้วย

นอกจากนี้ เรื่องของการค้าขายอาจจะเปลี่ยนภูมิทัศน์และสมรภูมิอีกรอบ หลังจากอาลีบาบา ที่จะเข้ามามีบทบาททำตลาดออนไลน์ในประเทศไทยในปีหน้าเป็นต้นไป

ส่วนกระแสที่อาจจะได้เห็นอีกอย่าง คือ บริการชอปปิงแบบใหม่เหมือนกับ “Amazon go”  ซึ่งเป็นร้านค้าจริง (Brick-and-mortar) และผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องมีพนักงานคอยให้บริการ ทุกอย่างดำเนินการผ่านเทคโนโลยีได้แทบทั้งหมด 

ปี 2560 ยังเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง และทดแทนในตลาด