‘ซุปเปอร์ซารา’ยอมวางเงินประกันรถเมล์เอ็นจีวี370ล้าน

‘ซุปเปอร์ซารา’ยอมวางเงินประกันรถเมล์เอ็นจีวี370ล้าน

“ศุลกากร” เผย “ซุปเปอร์ซารา” ยอมวางเงินประกัน 370 ล้าน เพื่อขอนำรถเมล์เอ็นจีวีออก 100 คันแรก

นายชัยยุทธ คำคูณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า บริษัทผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีจะต้องใช้เงินเกือบ 800 ล้านบาท เพื่อนำรถเมล์เอ็นจีสีทั้ง 391 คัน ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง กรณีบริษัทซูปเปอรซารา ผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีในนามของบริษัทเบสริน ที่ชนะประมูลการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ของ ขสมก. โดยสำแดงการนำเข้าในรูปแบบ form D จากมาเลเซีย หรือเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดสินค้าภายในกลุ่มอาเซียนเกินกว่า 40% ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจพบว่า รถเมล์ดังกล่าวผลิตทั้งคันที่ประเทศจีน ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตรา40%

"ล่าสุดบริษัทผู้นำเข้า ยินยอมที่จะวางเงินประกันเพื่อนำรถเมล์ 100 คันแรกที่ได้ดำเนินการยื่นใบขนสินค้ากับกรมศุลกากรแล้ว เพื่อนำออกจากท่าเรือแหลมฉบัง การวางเงินประกัน กรณีรถเมล์ 100 คัน แรกที่นำเข้ามานั้น ผู้นำเข้าต้องจ่ายค่าภาษีที่ขาดซึ่งตกคันละ 1.2 ล้านบาท บวกค่าปรับสองเท่าของภาษีที่ขาด และหนึ่งเท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงินวางประกันคันละ 3.7 ล้านบาท รวม 370 ล้านบาท"

ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีอีก 291คัน ที่นำเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบังแล้ว แต่ยังไม่ยื่นใบขนต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร จึงยังไม่เข้าข่ายสำแดงเท็จเหมือน 100 คันแรกนั้น มีแนวโน้มว่า ทางบริษัทผู้นำเข้า ยินดีที่จะเสียภาษีในอัตราปกติ คือ 40% เมื่อรวมภาระภาษี ทั้งหมด รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จะเป็นมูลค่าภาษี 422ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีสิทธิ์ ขอสงวนสิทธิ์ ที่จะโต้แย้งในภายหลัง

สำหรับรถเมล์เอ็นจีวี อีก 98คัน ที่ทางบริษัท จะต้องนำเข้าประเทศตามแผนนั้น ขณะนี้รถเมล์ทั้ง98คันดังกล่าว ยังอยู่ที่มาเลเซีย กรณีมีการนำเข้าสินค้ามายังท่าเรือภายในประเทศแล้ว แต่บริษัทผู้นำเข้ายังไม่ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ภายใน 2 เดือนครึ่ง สินค้าดังกล่าวจะถือเป็นของตกค้าง เจ้าหน้าที่สามารถนำขายทอดตลาดได้ ทั้งนี้ รถเมลทั้ง 291คันดังกล่าว ที่นำเข้าแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแต่ยังไม่ยื่นใบขน

กรณีที่ form D จากมาเลเซีย ในกรณีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวนั้น แม้เป็นform Dที่ออกโดยหน่วยงานของทางการมาเลเซียก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงของแหล่งกำเนิดสินค้าไม่เป็นไปตามform D ทั้งผู้นำเข้า สำแดงว่า รถเมล์คันดังกล่าว มีแหล่งกำเนิดสินค้าในมาเลเซีย 90.11% แต่ตามข้อเท็จจริง ประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นผู้ผลิตประกอบ ไม่น่าที่จะมีชิ้นส่วนภายในประเทศสูงถึงขนาดนั้น ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกต เป็นที่มาของการตรวจสอบต่อมา เมื่อรวมกับการตรวจสอบเส้นทางของสินค้าดังกล่าว ทำให้มั่นใจว่ารถเมลดังกล่าวไม่ได้ผลิตในมาเลเซีย แต่นำเข้าจากจีน

“ตนยังไม่สามารถบอกรายละเอียด ของข้อมูลที่ได้รับ หลังจากเดินไปตรวจสอบข้อมูลที่มาเลเซีย เพื่อเก็บไว้เป็นไพ่ตาย”

ด้านนายกรีชา เกิดศรีพันธ์ รองโฆษกกรมศุลกากรกล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะหวังเงินรางวัลนั้น ไม่เป็นจริง เพราะกรณีนี้ ถือเป็นการตรวจสอบตามปกติของเจ้าหน้าที่ ณ ท่าเรือ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่มีเงินรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่