กสทช.หนุนทีวีดิจิทัล เคาะงบจ่ายโครงข่าย

กสทช.หนุนทีวีดิจิทัล เคาะงบจ่ายโครงข่าย

"กสทช."จัดสรรงบเข้ากองทุนฯปีแรก 922 ล้าน หนุนทีวีดิจิทัล จ่ายค่าโครงข่ายดาวเทียม แจง ม.44 เปิดทางใช้สิทธิยืดจ่ายใบอนุญาต มั่นใจช่วยธุรกิจรอด

หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมีคำสั่ง เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนผู้ประกอบกิจการ“ทีวีดิจิทัล”

วานนี้ (28 ธ.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องให้ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและ พัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) แล้วแต่กรณีจัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์ แคร์รี่) เป็นเวลา 3 ปี

ปีแรกเคาะงบ 922 ล้าน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าวานนี้ บอร์ด กสทช.ได้เห็นชอบจัดสรรงบประมาณ 922 ล้านบาท จากเงินงบประมาณรายได้ปี 2559 ของสำนักงาน กสทช. เพื่อโอนให้กองทุน กทปส. นำไปใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณดาวเทียมของทีวีดิจิทัล ทั้งประเภทธุรกิจ 22 ช่อง และช่องบริการสาธารณะ 4 ช่อง เพื่อเผยแพร่ในประเทศไทย และการส่งสัญญาณของโทรทัศน์ดาวเทียม ไทยทีวี โกลบอล เน็ตเวิร์ค (ทีจีเอ็น)เพื่อเผยแพร่ทั่วโลก ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เพื่อสนับสนุนทีวีดิจิทัล

ทั้งนี้ การเห็นชอบงบประมาณดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าเช่าโครงข่ายดาวเทียมปีแรก ซึ่งตัวเลขการจ่ายค่าเช่าส่งสัญญาณจะเจรจากับไทยคมอีกครั้ง โดยสำนักงานได้เสนอกรอบงบประมาณจ่ายค่าโครงข่ายดาวเทียม 3 ปี วงเงิน 2,500 ล้านบาท

ใช้สิทธิยืดจ่ายไลเซ่นส์พ.ค.60

ส่วนคำสั่ง คสช. ข้อ 3 หากผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใด ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ได้ ให้ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล แจ้งหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

ตามคำสั่งดังกล่าวทีวีดิจิทัล ที่ต้องการใช้สิทธิขยายระยะเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาต จากอีก 3 ปีที่เหลือ เป็น 6 ปี โดยมีอัตราเฉลี่ยจ่ายเงินรายปีลดลง พร้อมจ่ายดอกเบี้ยอัตรา 1.5% สามารถส่งหนังสือแจ้งใช้สิทธิมายังสำนักงาน กสทช.ตั้งแต่วันที่คำสั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันที่ 24 พ.ค.2560 วันครบชำระจ่ายเงินงวดที่ 4

นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้มีทีวีดิจิทัล 1 ช่อง ได้ ส่งหนังสือขอใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายใบอนุญาตมาให้สำนักงานแล้ว ส่วนทีวีดิจิทัล ที่ต้องการจ่ายค่าใบอนุญาตตามปกติ โดยไม่ใช้สิทธิขยายเวลาสามารถจ่ายเงินงวดที่ 4 ตามกำหนดในวันที่ 24 พ.ค.2560

มั่นใจหนุนทีวีดิจิทัลอยู่รอด

สำหรับมาตรการต่างๆทั้งคำสั่ง คสช. รวมทั้งประกาศฯ และมติ กสท. และมติ กสทช. ที่ออกมาสนับสนุนธุรกิจทีวีดิจิทัลขณะนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ทีวีดิจิทัล มีโอกาสอยู่รอด เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจปี2560 มีโอกาสกลับมาเติบโต ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินโฆษณาฟื้นตัวจากปีนี้และมีโอกาสที่ช่องทีวีดิจิทัลจะมีรายได้มากขึ้น

ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้เห็นชอบให้ช่วง 1 เดือน ระหว่างวันที่ 13 ต.ค.-14 พ.ย.2559 ที่สถานีทีวีนำเสนอรายการช่วงถวายความอาลัย ให้ถือเป็นการนำเสนอรายการที่เป็นเนื้อหาสาระ สามารถนำมาใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมประจำปีได้ ซึ่งตามประกาศฯ กสทช.ระบุการนำเสนอเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จะได้รับการลดหย่อนตามสัดส่วนที่นำเสนอ

วานนี้ บอร์ด กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 วงเงิน 4,604 ล้านบาท ลดลง 10.8% จากปี 2559 ที่มีวงเงิน 5,162 ล้านบาท

คาด 80-90% ใช้สิทธิยืดจ่าย

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เปิดเผยว่าตามมาตรา 44 สนับสนุนทีวีดิจิทัลขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาต จาก 3 ปี เป็น 6 ปี ทำให้อัตราจ่ายเฉลี่ยต่อปีลดลง พร้อมจ่ายดอกเบี้ยส่วนต่างอัตรา 1.5% เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการ 80-90% ใช้สิทธิขยายเวลาจ่าย เนื่องจากหลายช่องได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวกับ คสช. ส่วนกลุ่มที่อาจพิจารณาจ่ายปกติคือช่องผู้นำเรทติ้ง ฟรีทีวีรายเดิมที่มีเงินลงทุนจำนวนมาก

“ปีหน้าเริ่มเห็นสัญญาณบวกมากขึ้น ทั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รวมทั้งสัดส่วนผู้ชมทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขยายเวลาจ่ายเงินจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินลงทุนคอนเทนท์และมีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้น หลังเศรษฐกิจกลับมาเติบโตและเม็ดเงินโฆษณากระจายสู่ช่องทีวีดิจิทัล”

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี เปิดเผยว่า เชื่อว่าจะมีทีวีดิจิทัลจำนวนมากใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาต เพราะต้องการนำเงินทุนไปใช้พัฒนาคอนเทนท์ในปีหน้า อีกทั้งอัตราจ่ายดอกเบี้ย 1.5% ถือว่ารับได้