สคร.เตรียมเสนอแก้พ.ร.บ.ร่วมทุนเอื้อพีพีพี

สคร.เตรียมเสนอแก้พ.ร.บ.ร่วมทุนเอื้อพีพีพี

"สคร." เปิดแผนงานปี 60 เตรียมเสนอ "แก้พ.ร.บ.ร่วมทุน" ขจัดอุปสรรคการลงทุน หวังเอื้อให้เกิดโครงการพีพีพีไม่ต่ำกว่าปีละ 4.7 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลได้เร่งการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว โดยได้ดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบหรืออุปสรรคเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งหนึ่งในการดำเนินการเพื่อปลดล็อกอุปสรรคดังกล่าวก็คือออกพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ แต่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนดังกล่าวก็ไม่สามารถตอบโจทย์การลงทุนได้ เพราะนับตั้งแต่มีผลบังใช้ปี 2556 ก็ยังไม่เคยมีการใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนเกิดขึ้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 สคร.เตรียมเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หลักๆ คือการแก้ไขคำนิยามโครงการที่จะต้องใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดมูลค่าโครงการไว้ ทำให้ทุกโครงการที่มีการเปิดให้เอกชนมาใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรัฐ ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนหมด รวมถึงการเช่าที่ราชพัสดุด้วย

ส่งให้ปัจจุบันไม่ว่าโครงการเล็กหรือโครงการใหญ่ ทั้งในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบจ.) หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนหมด ซึ่งมีหลายกระบวนการ และอาจจะไม่เอื้อให้เกิดการลงทุน ขณะที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งเน้นที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

หวังดันพีพีพีเกิดปีละกว่า 4.7 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีนโยบายให้ปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมลงทุน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และเอื้อให้เกิดโครงการร่วมมือภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) มากขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ตั้งเป้าให้เพิ่มมูลค่าการลงทุนจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 4.7 หมื่นล้านบาท

“การแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนในครั้งนี้ จะกำหนดกรอบของโครงการที่ต้องใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนให้ชัดเจนมากขึ้น เช่นกำหนดมูลค่าโครงการ และอาจจะไม่ให้รวมการเช่าที่ราชพัสดุด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการนำกรอบและหลักการของพีพีพีฟาสต์แทรกเข้ามาอยู่ในพ.ร.บ.นี้ด้วย เพื่อให้กระบวนการทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้น”

ยันยังไม่เคยใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนเหตุปัญหามาก

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2556 แต่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ เพราะติดขัดหลายอย่าง จึงจะมีการเสนอให้มีการแก้ไขตั้งแต่ช่วงนั้น แต่อีกฝ่ายบอกว่ากฎหมายเพิ่งเริ่มใช้จะเสนอให้แก้ไขเลยก็ไม่ได้ เพราะยังไม่เคยลองใช้เลย จนมาถึงปัจจุบันที่เริ่มนำกฎหมายมาใช้ ในรูปแบบของพีพีพีฟาสต์แทรก ก็ติดปัญหาหลายอย่าง แต่ใช้การบริหารเข้ามาแก้ไข เช่นการกำหนดกรอบการดำเนินงานตามมูลค่าโครงการลงทุน เช่นมูลค่าต่ำกว่าพันล้าน มูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านแต่ไม่เกิน 5 พันล้าน และ และมูลค่าที่เกิน 5 พันล้านบาท ต้องทำอย่างไร

สคร.เปิด 5 ยุทธศาสตร์สำคัญปี 60

นายเอกนิติกล่าวว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุน เป็นส่วนหนึ่งใน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญในปี 2560 ของ สคร. ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน โดยการปรับแก้พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2. ยุทธศาสตร์ด้านรัฐวิสาหกิจ จะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ทำให้บทบาทมีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งผลักดันร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ...

3. ยุทธศาสตร์ด้านหลักทรัพย์ของรัฐ ทำแผนบริหารหลักทรัพย์เชิงรุก มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวางกรอบการขายหลักทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็นออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ของหน่วยงานต่างๆ กว่า 100 กิจการ มูลค่าณวันที่ยึดมากว่า 5 พันล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2560 รวมทั้งมีการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาบุคลากร และ 5. ยุทธศาสตร์ด้านกระบวนการทำงานของสคร. เน้นการพัฒนาการทำงานในเชิงรุก และการพัฒนาด้านไอที

รัฐลงทุน 2 ไตรมาสปีงบ 60 สูง 2 แสนล้าน

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ รัฐบาลกำลังเร่งอัดเม็ดเงินลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้า โดยคาดสองไตรมาสของปีงบประมาณ 2560 จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเกือบ 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วงสองเดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.-พ.ย.2559) เม็ดเงินลงทุนของรัฐบาล ได้เบิกจ่ายออกไปแล้ว 49.3 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 40.9% แต่หากดูข้อมูลจนถึง วันที่ 23 ธ.ค.นี้ ตัวเลขการเบิกจ่ายงบลงทุน จะอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท และ สศค.คาดว่า ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณนี้ (ม.ค.- มี.ค.2560) จะมีเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาล ที่จะต้องเบิกจ่ายอีกราว 1 แสนล้านบาท รวม 2 ไตรมาสจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท

เม็ดเงินลงทุนดังกล่าว ยังได้นับรวมการเพิ่มเติมงบประมาณรายจ่าย ที่รัฐบาลจะออกเป็น พรบ.งบกลางปี 2560 อีก 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่า การใช้จ่ายของงบเพิ่มเติมดังกล่าว จะทยอยออกมาในช่วงกลางปีหน้า

ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติการจัดทำงบกลางปี 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุนสำหรับ 18 กลุ่มจังหวัด 1 แสนล้านบาท,งบชดเชยเงินคงคลัง 2.70 หมื่นล้านบาท ,การลงทุนพัฒนาระดับหมู่บ้านผ่านกองทุนหมู่บ้าน 3 หมื่นล้านบาท ,ตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป็นงบกลางสำรองจ่ายอีก 2 หมื่นล้านบาท

รัฐเร่งลงทุนหวังเอกชนเดินตาม

"การเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชน เริ่มขยายการลงทุน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน สศค.ยังมองว่า การลงทุนของภาคเอกชน ยังอยู่ในลักษณะทรงตัว โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน จาก ม.ค-พ.ย.นี้ ยังขยายตัวในระดับต่ำ และบางตัวอยู่ในภาวะติดลบ กล่าวคือ ภาษีที่เก็บจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ บวก 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ,ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ ติดลบ 1.8%, ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ติดลบ 3%, ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ติดลบ 0.2%, ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ติดลบ4.3%, ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ ติดลบ 2.8%

สำหรับภาคการส่งออกของประเทศ ที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออก เดือน พ.ย.ที่มีมูลค่าส่งออก 18.9 พันล้านเหรียญ ซึ่งบวก 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

คลังคงจีดีพีปี 59 โต 3.3%

นายกฤษฎา กล่าวว่า เดิม สศค.คาดการณ์ว่า การส่งออกในปีนี้จะติดลบ 0.5% แต่การประเมินใหม่ ณ วันนี้ หลังจากมีสัญญาณการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของสศค.น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ไว้ที่ ติดลบ 0.2% ทั้งนี้ สศค.ยังยืนการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 3.3%

สำหรับเครื่องชี้ด้านการผลิตในเดือน พ.ย.นี้นั้น ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นเดือนที่สามติดต่อกันที่ระดับ 87.6 และสูงสุดในรอบ 20 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนตากความคาดหวังของผู้ประกอบการต่อมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี, ดังนี้ผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัว 3.3% จากการลดพื้นที่ปลูกข้าว ขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรบวก 3% จากราคายางพารา และราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ในเดือน พ.ย. มีจำนวน 2.45 ล้านคน หดตัว 4.4% ขณะที่ราคาได้จากการท่องเที่ยว ขยายตัว 0.06% คิดเป็นมูลค่า 1.28 แสนล้านบาท

รายได้รัฐ2เดือนเกินเป้า1.97หมื่นล.

นายกฤษฎา กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ว่า มีรายได้ 3.7 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.97 หมื่นล้านบาท หรือ 5.6% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.5%

สาเหตุจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 1.1 หมื่นล้านบาท การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น 9.85 พันล้านบาท และการจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 1.45 พันล้านบาท

สำหรับกรมสรรพากรจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 0.3% ขณะที่ กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ ต่ำกว่าประมาณการ 18.7% และ 3.4% ตามลำดับ