'หุ้น' โยกธุรกิจ 'ลุ้น' พลังงานทดแทนดึงกำไร

'หุ้น' โยกธุรกิจ 'ลุ้น' พลังงานทดแทนดึงกำไร

ในปี 2559 บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งหันมารุกธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินงาน

บจ.โยกธุรกิจ

ลุ้นพลังงานทดแทนดึงกำไร

ปี 2559 หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนลดความคึกคักลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการจะผันตัวจากธุรกิจเดิมมาสู่ธุรกิจใหม่นี้ ก่อนหน้านี้บริษัทจดทะเบียนหลายรายในตลาดหลักทรัพย์ประกาศที่ต้องการจะรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยอยู่ในวงการนี้มาก่อน

จะเห็นว่าจำนวนผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างจริงจังนั้นถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับบริษัทที่เคยประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลจากเรื่องนโยบายภาครัฐที่ไม่นิ่ง และล่าช้า หรือจะเป็นเหตุผลในเชิงธุรกิจ อาทิ ความคุ้มค่า เงินลงทุน หรือพันธมิตร ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการพยายามเข้ามาสู่ธุรกิจใหม่

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ทิ้งธุรกิจเดิม มาลุยพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัว และเริ่มมีกำไรเข้ามาเพียงไม่กี่บริษัท อาทิ ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) เดิมทีเป็นผู้ผลิตอิฐมวลเบา หันมาทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เต็มตัว และเริ่มมีกำไรจากธุรกิจใหม่เข้ามาชัดเจนในปีนี้ ซึ่งไตรมาส 3/2559 มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 1,195.16 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 311.86 ล้านบาท โดยมาจากโรงไฟฟ้ารวม 109 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 675.9 เมกะวัตต์ ขณะที่ไตรมาส 3/2558 มี 8 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 28.95 เมกะวัตต์

ขณะที่ เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) จากผู้จำหน่ายเหล็กหันรุกธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยผลประกอบการ 9 เดือนปีนี้ มีรายได้รวม 2,518.83 ล้านบาท เป็นรายได้จากบริษัทย่อยซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า 1,212.34 ล้านบาท จากทั้งหมด 6 โครงการ กำลังการผลิต 16.76 เมกะวัตต์ รวมถึงรายได้จากการพัฒนาโครงการ 1 แห่ง กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ และรายได้จากการก่อสร้างโครงการตามอัตราส่วนงานที่ทำเสร็จ 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 27.22 เมกะวัตต์

ล่าสุด บริษัทได้ลงทุนโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ผ่านบริษัทย่อย มีกำลังการผลิต 6.64 เมกะวัตต์ เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว เมื่อรวมกับโครงการขายไฟแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น 24.04 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้บริษัทมีโครงการ COD และรับรู้รายได้แล้ว 30.68 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ฟิลิปปินส์ 25 เมกะวัตต์ 

บริษัทอื่นๆ ที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนอย่างเต็มตัวเช่นกัน ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เดิมทีทำธุรกิจเหมืองสังกะสี ปัจจุบันสังกะสีในเหมืองหมด ล่าสุดซื้อโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เข้ามา 1 แห่ง กำลังการผลิต 5.25 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น 35 เมกะวัตต์ คาดแล้วเสร็จปี 2561 รวมถึงยังรอใบอนุญาตที่จะก่อสร้างบนพื้นที่เหมืองเก่าอีก 80 เมกะวัตต์

ส่วน คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เดิมทีเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าหันรุกพลังงานทดแทนเต็มตัว ล่าสุด อนุมัติงบ 80 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในพม่าและลาว นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ดำเนินการ อาทิ ชัยวัฒนา (CWT) ทีดับบลิวแซด (TWZ) สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ (WIN) แมกซ์ เมทัล (MAX) อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) และวันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) แต่สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจใหม่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ นักลงทุนคงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมา ผู้ที่จะทำได้สำเร็จก็ยังมีไม่มากนัก