ต้านภัย ไข้เลือดออก

 ต้านภัย ไข้เลือดออก

รณรงค์ “ประสานพลัง ต้านภัย ไข้เลือดออก” เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครอง มีความรู้ ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตน

รณรงค์ “ประสานพลัง ต้านภัย ไข้เลือดออก” เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครอง มีความรู้ ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก และมีส่วนร่วมในการป้องกัน

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “โรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากยังมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกต่อเนื่องมาทุกปี โดยกลุ่มเสี่ยงอยู่ในกลุ่มวัยเรียน อายุระหว่าง 10 - 24 ปี ทั้งนี้ในปี 2559 พื้นที่เขตพระนคร มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอยู่ในอันดับที่ 17 จาก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งโรงเรียนวัดราชบพิธ มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 1,700 คน และเคยมีเด็กนักเรียนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาทุกปี จึงเห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้นักเรียน ครูและผู้ปกครอง มีความรู้ ความเข้าใจและรู้จักป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออกอย่างถูกต้อง

ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและถือเป็นนโยบายสำคัญยิ่งของกรุงเทพมหานครในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน โดยทุกภาคส่วน ทุกคน น้อมนำพระราชดำรัสมาถือปฏิบัติร่วมมือกันกำจัดยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและให้ตระหนักว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีการสืบสานต่อเนื่องไปยังบ้าน ครอบครัว ชุมชน ของนักเรียนทุกคน โดยโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนให้กิจกรรมของนักเรียนเกิดอย่างเป็นรูปธรรม อันจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆที่ยุงเป็นพาหะนำโรคร่วมด้วย”

ศ.นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะมีทั้งหมด 4 ชนิดซึ่งทำให้เป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งหมายความว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง โดยแต่ละครั้งเกิดจากเชื้อต่างชนิดกัน นอกจากนี้ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้งสิ้น และสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกขั้นรุนแรงได้ตั้งแต่การติดเชื้อครั้งแรก แม้แต่คนที่มีร่างกายแข็งแรงก็ตาม และสิ่งที่สำคัญของการสังเกตอาการคือระยะเริ่มต้น ผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกในช่วงแรก อาจมีอาการคล้ายการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น มีไข้ คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบาย ปวดเมื่อย มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองบวม หรืออาจไม่มีอาการเลย หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะพัฒนาไปสู่ขั้นรุนแรง จนอวัยวะภายในถูกทำลายจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากสงสัยว่าโดนยุงลายกัดหรือเป็นโรคให้รีบพบแพทย์ทันที และควรงดการใช้ยาแอสไพริน และไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น

นพ. เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม. กล่าวเสริมว่า โรคไข้เลือดออกมีการระบาดตลอดทั้งปีไม่จำกัดแค่ในฤดูฝน เนื่องจากประชาชนมีการเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยกว่าร้อยละ 90 ของแหล่งเก็บน้ำเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคไข้เลือดออก ดังนั้นวิธีการควบคุมไข้เลือดออกที่ได้ผลมากที่สุด คือการกำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรค ดังนั้น การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อเข้าไปกำจัดยุงลายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และนอกจากนั้น เรายังสามารถช่วยกันป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตนเองจากการดูแลรอบบ้านและชุมชนของเราไม่ให้มีน้ำขังแม้เพียงเล็กน้อยในภาชนะทุกชนิดหรือในขยะ โดยเฉพาะภาชนะที่มองข้ามกันมากที่สุดคือ ยางรถยนต์ แจกันดอกไม้ หรือ แก้วน้ำบูชาพระ เป็นต้น นอกจากนี้สามารถดูแลตนเองได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ฉีดยากำจัดยุงทุกๆ 7 วัน