เคาะมติสมัชชาสุขภาพฯ4เรื่อง เคลื่อนนโยบายสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

เคาะมติสมัชชาสุขภาพฯ4เรื่อง เคลื่อนนโยบายสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 เคาะมติเดินหน้า 4 วาระใหญ่ น้ำดื่มปลอดภัย สุขภาพเด็กปฐมวัย สานพลังปราบยุงลาย และที่อยู่อาศัย

วันนี้ (๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙) ในการแถลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ จัดขึ้นภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมการจัดงานที่ผ่านมาว่า มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น ๒,๓๐๐ คน จาก ๒๘๐ เครือข่าย เป็นการดำเนินงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน ๔ ระเบียบวาระ ได้แก่ ๑)การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ๒)น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ๓) การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และ ๔) สานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งทุกประเด็นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกระดับ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งการเสวนาบริเวณลานสมัชชาสุขภาพ เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม การรายงานการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาจุดอ่อน จุดแข็ง และปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในปีต่อๆ ไป

โดยการจัดงานในปีนี้ยังพิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากได้เพิ่มในส่วนกิจกรรมเสียงจากภาคี เพื่อเป็นการสะท้อนเสียงจากเครือข่ายไปถึงผู้ดำเนินนโยบาย ซึ่งตลอดระยะเวลา ๓ วันของการจัดงาน ตัวแทนเครือข่ายได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง โดยพัฒนาการที่เห็นได้ชัด คือ สมาชิกเครือข่ายที่เข้าร่วมเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ทุกประเด็นมีการเตรียมตัวมาก่อน แต่ละคนทำความเข้าใจในประเด็นที่สนใจมาเป็นอย่างดี

นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๑ กล่าวว่า จากข้อมูลการทำงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พบว่า การเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแทบจะทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องน้ำดื่มในครัวเรือนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพทั้งด้านชีวภาพ ด้านกายภาพ ด้านเคมี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ ที่อาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคบิด และโรคอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง

อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งจากการพิจารณาระเบียบวาระร่วมกัน ที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักเรื่องนี้ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งน้ำดื่มในครัวเรือนและน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ พร้อมกับประสานให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่นจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ ระดับจังหวัด ตลอดจนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพพื้นที่และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันจัดทำข้อมูลหรือรายงานการตรวจสอบเฝ้าระวังน้ำดื่ม และการแจ้งเตือนภัยน้ำดื่มไม่ปลอดภัยร่วมกันผ่านสื่อสาธารณะระดับชาติและท้องถิ่นที่ประชาชนเข้าถึงได้ด้วย

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๑ กล่าวถึงมติที่ ๒.๓ การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม กล่าวว่า จากการสำรวจของคณะทำงานพบว่า ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ประสงค์จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะของเด็กปฐมวัย ทุกหน่วยงานมีแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กแทบทั้งสิ้น

สวนทางกับข้อมูลสุขภาพของเด็กปฐมวัยที่พบว่าเด็กในหลายพื้นที่มีปัญหาพัฒนาการตกต่ำ มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหาร และเมื่อไปพิจารณาถึงแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน พบว่า ยังมีปัญหาเรื่องขาดการเชื่อมโยงกัน ซึ่งจากการลงมติในที่ประชุมแล้วมีมติร่วมกันในภาพรวมว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้สุขภาพดีทั้งจิต กาย และใจ เพื่อส่งต่อเด็กที่มีคุณภาพให้กับระบบการศึกษา ให้เด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต และคาดหวังว่าจะเกิดแนวทางสร้างเสริมสุขภาพวะเด็กปฐมวัย โดยสามารถเข้าถึงสถานศึกษา องค์ความรู้เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ นางปรีดา คงแป้น ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๒ กล่าวว่า นอกจากเรื่องน้ำดื่มที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ ประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายน้อยในเขตเมืองที่ถูกบรรจุในวาระการจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ยังเป็นอีกหนึ่งความกังวลใจของประชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั้งของรัฐและเอกชน จากการลงพื้นที่ของคณะทำงานพบว่า ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือ การเตรียมหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงรองรับประชากรหลายพันครัวเรือนที่อาศัยอยู่ตามริมทางรถไฟ ซึ่งจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ทันทีที่โครงการรถไฟรางคู่เริ่มก่อสร้าง

ซึ่งจากการพิจารณาระเบียบวาระร่วมกัน ที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักทำงานและบูรณาการร่วมกันโดยเบื้องต้น ตั้งเป้าให้ทุกกลุ่มรายได้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และในระยะยาวได้มีมติให้ปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ โดยใช้กรอบของหลักการและ พันธกิจในการพัฒนาการอยู่อาศัยและเมืองสุขภาวะ และแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนในทุกระดับ

นางภารณี สวัสดิ์รักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๒ กล่าวถึงมติ ๒.๔ สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยจากไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งมิติสุขภาพและการท่องเที่ยว แม้ว่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่จะมีการดำเนินการกันอย่างเข้มแข็ง แต่ยังมีช่องว่างอยู่ในหลายมิติ ซึ่งจากการลงมติในที่ประชุมแล้วมีมติร่วมกันในภาพรวมว่า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน ได้แบ่งมติการดำเนินงานออกเป็น ๕ กลุ่ม

ได้แก่ ๑) สานพลังปราบยุงลายในพื้นที่ โดยเริ่มจากในครัวเรือน ชุมชน ๒) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และจังหวัดในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ สร้างแผนยุทธศาสตร์และรายงานผลการดำเนินงานร่วมกัน ๓) ทำงานร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพในท้องที่ ๔) พัฒนางานวิจัยเรื่ององค์ความรู้ในการปราบยุงลายโดยมีเจ้าภาพหลักเป็นสถาบันวิจัยและระบบสาธารณสุข และ ๕) เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีมาตรการในทางกฏหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ นี้ว่า ระเบียบวาระทั้ง ๔ มาจากการเสนอปัญหาจากเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง ๔ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่พบว่าหลายพื้นที่ ทุกระดับ มีร่วมกัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างมติและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพ โดยในระดับจังหวัดก็มีกลไกรับฟังความเห็นโดยเฉพาะ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนออกเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีให้นำไปขับเคลื่อนต่อในเชิงนโยบาย

“การส่งต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้คณะรัฐมนตรีนำไปขับเคลื่อนต่อ หมายความว่านโยบายของรัฐที่ออกมานั้น มาจากปัญหาและความต้องการของประชาชนทั่วประเทศอย่างแท้จริง โดยมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งผ่าน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้นักการเมืองเข้ามาแก้ปัญหาให้ เรียกว่าเป็นนโยบายจากประชาชนและขับเคลื่อนโดยประชาชนอย่างแท้จริง” นพ.พลเดช กล่าว

นพ.พลเดช กล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่อยากให้ทุกภาคส่วนนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานให้ไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

อนึ่ง “สมัชชาสุขภาพ” คือ เครื่องมือพัฒนานโยบาย สาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม เกิดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ถือเป็นแนวทางใหม่ของการพัฒนานโยบายสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สมัชชาสุขภาพแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒) สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และ ๓) สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น โดย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง