วิถีธุรกิจต่างขั้ว อ้วยอัน VS ศรีจันทร์

วิถีธุรกิจต่างขั้ว อ้วยอัน VS ศรีจันทร์

คนหนึ่งเลือกสานต่อและพัฒนา อีกคนสลัดทิ้งทุกความเก่า ชุบชีวิตใหม่ให้แบรนด์รุ่นเดอะติดตามวิถีธุรกิจต่างขั้ว “อ้วยอัน VS ศรีจันทร์”

มีความคล้ายคลึงกัน “โดยบังเอิญ” อยู่หลายอย่าง สำหรับธุรกิจเก่าแก่ “อ้วยอัน” และ “ศรีจันทร์”  แบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมาหลายทศวรรษ

ตั้งแต่อายุธุรกิจที่ไล่เลี่ยกัน โดยอ้วยอัน ครบ 70 ปี ในปีนี้ (ก่อตั้งปี 2490)  ส่วนศรีจันทร์ก็ตามมาติดๆ ที่ 69 ปี (เริ่มปี 2491) ทั้งสองก่อตั้งโดยครอบครัวคนจีน มีรุ่น “อากง” เป็นผู้บุกเบิก คิดค้นและพัฒนาสูตร เริ่มจากร้านขายยาเล็กๆ มีผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม “ยาเม็ดลูกกลอนอ้วยอัน” และ “ผงหอมศรีจันทร์” ที่ยังขายข้ามยุคมาจนถึงวันนี้ และปัจจุบันธุรกิจอยู่ในมือทายาท รุ่น 3 ที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ทั้งคู่

หากทว่าภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้นำรุ่นใหม่ ทั้งสองธุรกิจกลับมีทางเดินที่ต่างกันสุดขั้ว!

โดย “ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด เหมือนถูกวางให้มาสานต่อธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ต้น เขาถูกส่งไปเรียนภาษาจีนและอังกฤษที่สิงคโปร์ ก่อนต่อตรีและโท ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารที่มหาวิทยาลัย Ohio State สหรัฐอเมริกา ล่าสุดก็เพิ่งคว้ารางวัล Young Professional Achievement Awards 2017 ในฐานะศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจและสังคม เจ้าตัวเองก็ย้ำชัดว่า อยากมาสานต่อธุรกิจครอบครัว

ผิดกับฝั่งศรีจันทร์ “รวิศ หาญอุตสาหะ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ที่เรียนจบวิศวะจุฬาฯ และเลือกทำงานสายการเงินที่ชอบ โดยไม่มีธุรกิจครอบครัวอยู่ในหัวเลยสักนิด 

“ตอนเด็กๆ ผมแทบไม่มีความผูกพันอะไรกับบริษัทนี้เลย โตขึ้นมาโดยไม่รู้จักบริษัทตัวเองด้วยซ้ำ” เขายอมรับ

รวิศเลือกสานต่อธุรกิจครอบครัว ด้วยมีความคิดว่า ถ้าไม่มีใครทำอะไรกับมันเลย สักพักคงไปต่อไม่ได้ เพราะย้อนไปแค่ 8 ปีก่อน โรงงานยังเก่าคร่ำครึ ไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์สักเครื่อง มีผลิตภัณฑ์ตัวเดียวคือ ผงหอมศรีจันทร์ แถมยังขายถูกมหันต์แค่ 18 บาท! เขาเลยปล่อยปฏิบัติการฟื้นชีพแบรนด์ใกล้ตาย ด้วยการ “เปลี่ยน” ทุกอย่าง โดยมีเงื่อนไขกับครอบครัวว่า อย่าเพิ่งให้ลูกหลานคนอื่นเข้ามาทำ เพราะอยากให้องค์กรเป็น “มืออาชีพ” ที่สุด เพื่อดึงดูดคนเก่งมาทำงาน

“ผมต้องการให้บริษัทนี้โตขึ้นมา โดยมีความเป็นแฟมิลี่บิสสิเนสให้น้อยที่สุด นั่นคือเหตุผลที่อยากเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เร็วที่สุด”

ต่างจากฝั่งอ้วยอัน ที่ยังอยากรักษา “ความเป็นเจ้าของ” ให้อยู่กับครอบครัวตลอดไป

“เราอยู่มา 70 ปี เป็นเจ้าของมาตลอด ที่ไม่คิดถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพราะ ความเป็นเจ้าของ และอำนาจการตัดสินใจ โดยเราทำธุรกิจขายยาแผนโบราณ ใครจะรู้ดีที่สุดเท่าเรา เรามีศิลปะ มีศาสตร์ในการทำยา เป็นโนว์ฮาวของเรา ระบบของเรา มีข้อมูลที่รักษามา 70 ปี ซึ่งผมก็ยังอยากรักษาต่อไปอีกเป็นร้อยปี” คนหนุ่มบอก

ชนรรค์ บอกเราว่า เขามาทำธุรกิจครอบครัวด้วย “ความรัก” เพราะเห็นอากงอาม่าเหนื่อยมาตั้งแต่เล็ก เห็นผู้เป็นพ่อต้องทำงานหนัก เลยคิดมาตลอดว่า อยากมาสานต่อธุรกิจ 7 ทศวรรษ ให้อยู่ได้ไปอีกร้อยปีในยุคของเขา

เขามีเป้าหมายเข้ามาสานต่อและพัฒนา โดยมีโจทย์ชัดเจนว่า จะทำให้การใช้ยาสมุนไพรทันสมัยขึ้น อยากให้แบรนด์อ้วยอันที่อยู่มา 70 ปี มีทั้งความทันสมัย และความขลังข์ โดยที่ยังไม่ทิ้งจุดยืนรุ่นปู่นั่นคือ ผลิตยาคุณภาพ ด้วยจริยธรรม สะอาด และปลอดภัยตามความหมายของ “อ้วยอัน” ที่สำคัญลูกค้าทานแล้วต้องหาย และไม่ขายเกินราคา

ที่มาของการรีแบรนดิ้งอ้วยอันให้ไฉไลขึ้น ปรับลุคแบรนด์ให้น่าใช้ มีผลิตภัณฑ์ใหม่มาเจาะตลาดคนยุคนี้มากขึ้น

ขณะศรีจันทร์ เลือกฉีกตำราเก่า โละทิ้งทุกสิ่งเชยในองค์กร แล้วมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ แม้แต่ล่าสุดกับการออกผลิตภัณฑ์ที่ Made in Japan สวนทางแบรนด์ส่วนใหญ่ ที่ชื่อไฮโซ แต่กลับทำในจีนหรือเวียดนามเพื่อลดต้นทุน

“จะสู้กับแบรนด์เหล่านี้ ถ้าใช้ตำรารบเล่มเดียวกัน สู้อย่างไรก็แพ้ เพราะเขามีกำลังมากกว่าเราเป็นร้อยเท่าพันเท่า ฉะนั้นเราต้องใช้ตำรารบคนละเล่ม ในเมื่อแบรนด์ใหญ่เขาลดต้นทุน เราจะเพิ่มต้นทุน แต่เพิ่มอย่างไรให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” เขาบอกวิธีคิด

แบรนด์ชื่อไท๊ไทอย่างศรีจันทร์ เลยเลือกเซอร์ไพรส์ลูกค้าด้วยคำว่า Made in Japan ประกาศความเป็นของดีสุดๆ เทียบเท่า เคาท์เตอร์แบรนด์ แต่ขายในราคาแค่หลักร้อย

แม้ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองชนิดหน้ามือเป็นหลังมือแบบศรีจันทร์ แต่อ้วยอันก็มีพัฒนาการในแบรนด์ของพวกเขาอยู่เช่นกัน และมีความพยายามสร้าง “ความผูกพันกับลูกค้า” ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านกิจกรรมการตลาด ที่ทำร่วมกับลูกค้า รับฟังเสียงผู้ใช้ เพื่อนำมาปรับพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ ฯลฯ เพื่อไม่ให้แบรนด์เก่าแก่ ต้องล้มหายไปในวันโลกเปลี่ยน

ขณะที่ฝั่งศรีจันทร์ยังคงจัดหนักจัดเต็ม เพื่อชักจูงโน้มใจให้ลูกค้าพูดถึงสินค้า อย่างล่าสุดกับการแจกสินค้าตัวอย่างถึง 25,000 ชุด ใช้งบประมาณไป 4-5 ล้านบาท โดยเชื่อว่าจะ เป็นวิธีที่ชักนำให้เกิดเสียงของลูกค้าได้ดีที่สุด

“พอมีเสียงออกไปเรื่อยๆ ว่าสินค้านี้ดีนะ ทำที่ญี่ปุ่นด้วย ยิ่งได้ลองใช้แล้วมันดี เชื่อว่า เขาบอกต่อแน่นอน ซึ่งไม่มีเสียงไหนจะมีค่ามากเท่าเสียงของลูกค้าอีกแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ทรงพลังที่สุด คือให้เขาไปพูดเอง นี่เป็นวิธีที่เราคิด” เขาบอก

ความคิดบ้าบิ่นไม่ได้เพิ่งเกิดกับศรีจันทร์ ครั้งหนึ่งรวิศเคยทุ่มเงินไปกับแคมเปญโฆษณารีแบรนด์ศรีจันทร์ชนิดที่ว่า จำนวนเงินที่ใช้ในตอนนั้น ถ้าไม่สำเร็จ ธุรกิจอาจถึงขั้น “เจ๊ง!” ได้เลยทีเดียว วันนี้เขาว่า ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงขนาดนั้น เพราะธุรกิจใหญ่โตขึ้น และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เยอะขึ้น แต่ถ้าถามถึงนิสัยส่วนตัว เจ้าตัวย้ำแค่..

“ผมมีความเชื่อว่า จะเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ  มากกว่าสิ่งที่ได้ลองทำแล้วล้มเหลว ถึงจะเจ๊งก็ยังรู้สึกดีที่ได้ทำ”

รวิศมีแรงบันดาลใจเป็นหนังสือ และเชื่อมั่นในความคิดของตัวเขา แต่กับชนรรค์แรงบันดาลใจสำคัญคือ “ครอบครัว” ซึ่งการได้เรียนรู้วิธีคิดและการทำงานจากคนรุ่นก่อน ตกผลึกความคิดในใจเขา 

“คนรุ่นใหม่มักคิดว่า เขาจะหยุดเมื่อไม่มีทรัพยากร แต่ผมว่ารีซอร์สไม่ได้สำคัญอะไร แต่ความเก่งในการสรรหาทรัพยากรสำคัญมากกว่า คนที่เริ่มทำงานกับครอบครัว หรือเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เขาอาจมีทรัพยากรไม่มากนัก แต่ถ้าคุณมีความรักในสิ่งที่คุณทำ อยากทำให้ธุรกิจของคุณก้าวหน้าและเติบโต คุณห้ามบ่นว่า ไม่มีทรัพยากร เพราะรีซอร์สที่สำคัญอยู่ในตัวคุณ เป็นความรักที่คุณมีต่อธุรกิจนี้” เขาเชื่อเช่นนั้น

แม้มีทางเดินต่างกันสุดขั้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ทายาททั้งสองมีร่วมกัน นั่นคือความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่อยากทำให้ธุรกิจของครอบครัว อยู่ยั้งยืนยงในโลกธุรกิจนับจากนี้

ซึ่งความสำเร็จที่เกิดกับทั้งสองแบรนด์ในวันนี้ พิสูจน์ความเจ๋ง! ในวิถีที่พวกเขาได้เลือกแล้ว

....................................................

Key to success

สูตรธุรกิจต่างขั้ว อ้วยอัน VS ศรีจันทร์

๐ สานต่อ พัฒนา VS เปลี่ยนแปลง ชุบชีวิต

๐ คงธุรกิจครอบครัว VS เปลี่ยนเป็นองค์กรมืออาชีพ

๐ ทำของเดิมให้ทันสมัย VS ทำของใหม่ให้คนคาดไม่ถึง

๐ ค่อยๆ เติบโต รักษาคอร์ธุรกิจไว้ VS กล้าเปลี่ยน และกล้าเสี่ยง 

๐ รักษาความเป็นเจ้าของ VS มุ่งสู่ตลาดหลักทรัพย์