“ชีววิถี” ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้คนและโลก

“ชีววิถี” ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้คนและโลก

จากกิจการเล็กๆ โตมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน ปันรายได้สู่ชุมชนนับสิบล้านบาทต่อปี ติดตามเรื่องราวของ “ชีววิถี” ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้คนและโลก

สมุนไพรไทย สรรพคุณคุ้นกันดีมาแต่อดีต ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า แม้แต่รับประทาน ภายใต้แบรนด์ “ชีววิถี” ชื่อที่รู้จักดีของคนรักผลิตภัณฑ์สมุนไพร แถมยังหาซื้อง่ายผ่านช่องทางทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง และร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ

เราได้รู้จักแบรนด์น้ำดีม หลังมีโอกาสพูดคุยกับ “อรประภา พรมรังฤทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนต์ บิวตี้ คอสเมติก (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร “ชีววิถี” ที่เริ่มจากโอทอปเล็กๆ ใน อ.สามพราน จ.นครปฐม มีคนงานแค่ 7 คน เมื่อประมาณ 10 ปี ก่อน (เริ่มต้นปี 2549)

“เราเริ่มจากทำทรีทเมนต์น้ำมันมะพร้าว เนื่องจากใน อ.สามพราน เป็นแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย” เธอบอกจุดเริ่มต้น ที่หาโอกาสจากวัตถุดิบในท้องถิ่น จนปลุกปั้นเป็นธุรกิจขึ้นมาได้

เวลาเดียวกับขับเคลื่อนธุรกิจไป เธอเริ่มสนใจสมุนไพรเพราะเห็นว่าใช้แล้วดีกับตัวเอง ถึงขนาดลงทุนไปร่ำเรียน

ด้านเภสัชกรสมุนไพร ที่ สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งได้รับใบประกอบโรคศิลปะ ทางด้านเภสัชกรแพทย์แผนไทย จึงได้เริ่มนำความรู้มาพัฒนาสินค้า นั่นเองที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักกับแบรนด์ “ชีววิถี”

ระหว่างทางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ได้สรรพคุณที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า พวกเขายังเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งนับเป็นต้นทางของวัตถุดิบคุณภาพที่ส่งให้กับชีววิถี

เริ่มจาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน วิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ที่มีสมาชิกอยู่ 678 คน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ อรประภา เธอว่าที่นี่เป็นแหล่งที่มี “ใบหมี่” พืชยืนต้นจากธรรมชาติอยู่เยอะมาก เหมาะกับการไปผลิตเป็นแชมพูใบหมี่ที่มีสรรพคุณป้องกันผมร่วงได้อย่างดี

ส่วนกลุ่มที่สอง คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านรำมะสัก จ.อ่างทอง ที่มีสมาชิกอยู่ 300 ครัวเรือน เป็นแหล่งเพาะปลูกพวก ขิง ข่า ตะไคร้ ไพล ฯลฯ ป้อนให้กับโรงงานพวกเขามานับสิบปี

“อย่างกลุ่มแม่บ้านรำมะสักเอง ตอนนี้เขาตื่นตัวมาก มีการเพิ่มผลผลิตไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเขาปลูกถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง เดี๋ยวนี้ก็เลิกปลูกเพราะราคาไม่นิ่ง แล้วก็ขายได้ไม่ต่อเนื่อง แต่พอเราไปซื้อ ขิง ข่า ตะไคร้ เขาเป็นประจำ เขาก็ไม่เดือดร้อน โดยเราจ่ายให้เกษตรกรตามราคาตลาด ถ้าช่วงไหนแพงขึ้นหน่อยก็หยวนๆ ไป ให้เขาได้ตรงนี้กลับไปบ้าง”

วัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรในพื้นที่นครปฐม ที่ใครมีอะไรก็จะหอบหิ้วมาขายให้ โดยผลผลิตที่ว่าต้องปลูกได้ตามเงื่อนไขและคุณภาพของบริษัท คือ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ปลูกใกล้พืชที่ต้องพ่นยา และมีอายุการปลูก ตามที่บริษัทต้องการเท่านั้น เพื่อรักษาสรรพคุณของสมุนไพรไว้ เช่น ดอกอัญชัน น้ำมันมะพร้าว ก็มาจากเกษตรกรในพื้นที่

วัตถุดิบกว่า 90% มาจากกลุ่มเกษตรกร โดยใช้เงินไปกับการรับซื้อผลผลิตที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี เป็นรายได้หมุนเวียนสู่เกษตรกร

ด้วยราคาวัตถุดิบสมุนไพรที่ไม่ผันผวนมากนัก และการบริหารจัดการของพวกเขาที่รู้จักช่วงเวลารับซื้อและจัดเก็บ ทำให้ไม่ได้มีต้นทุนวัตถุดิบที่แพงเกินไป ส่งผลต่อราคาขาย ที่ยังยืนยันจะขายในราคาย่อมเยา โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีราคาแค่หลักสิบ ที่ขยับมาถึงหลักร้อยมีแค่พอนับได้เท่านั้น จากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่กว่า 200 รายการในปัจจุบัน

“บางคนพอชูความเป็นสมุนไพรจากธรรมชาติ ราคาจะสูงมาก แต่เราอยากให้ทุกคนได้ใช้ เลยไม่อยากบวกอะไรแพงไป เราเกิดจากโอทอป สมุนไพรก็มาจากพื้นบ้าน บางอย่างปลูกเอง บางอย่างก็มีคนเอามาใช้ ในเมื่อเราได้วัตถุดิบมาไม่แพง ก็ไม่รู้จะขายแพงไปทำแพง ถ้าผลิตได้จำนวนมาก เราก็อยู่ได้เอง” เธอสะท้อนความคิด

หลายแบรนด์อาจหมดงบไปกับการโฆษณาและค่าการตลาด เลยทำให้ราคาสินค้าต้องพุ่งสูงลิ่ว แต่สำหรับชีววิถี ผู้นำบอกเราว่า ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยโฆษณาเลย ไม่มีงบโฆษณา เลยขายในราคาที่ถูกได้

“มีคนมาถามว่า ขายราคาแค่นี้แล้วมีส่วนแบ่งค่าโฆษณาอย่างไร เลยบอกว่า เราไม่เคยคิดที่จะโฆษณาอะไร เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าคนใช้แล้วดีจริง ก็น่าจะทำตลาดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแบบนี้มองว่า เป็นอะไรที่ถาวรว่า”

ซึ่งคงจริงอย่างเธอว่า คุณภาพดีชนะทุกอย่าง เมื่อวันนี้แบรนด์ที่ไร้การโฆษณา ไร้พรีเซนเตอร์อย่าง ชีววิถี ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แถมมีวางขายในร้านสินค้าสมุนไพรอย่าง ตำรับไทย ร้านบิวตี้ มาร์ท ขายผ่านช่องทางทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง และร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ อย่าง ผลิตน้ำมันกัวซา ให้แบรนด์ยอดนิยมของจีน ผลิตสินค้าสปาให้กับแบรนด์ของประเทศลาว ผลิตแชมพู โลชั่น ทรีทเมนต์น้ำมันมะพร้าว ให้แบรนด์ใน เกาหลี แม้แต่วันที่ไปออกบูธงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศก็ยังได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง

จากโอทอปที่เริ่มจาก คน 7 คน มีรายได้ต่อเดือนแตะ 4 แสนบาท ก็นับว่าอัศจรรย์แล้ว ปัจจุบันชีววิถีมีโรงงานใหญ่โตที่ลงทุนไปถึง 33 ล้านบาท มีพนักงาน 120 คน ทำยอดขายได้สูงถึงปีละ 150 ล้านบาท และไม่ว่าจะออกโปรดักส์อะไรใหม่ ก็มักได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่ดีอยู่เสมอ

สำหรับเป้าหมายต่อไป คนทำบอกเราว่า จะมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าที่มีผลงานวิจัยรับรอง เน้นทำสินค้าให้มีนวัตกรรม เพื่อนำไปประกวดในเวทีต่างประเทศ หลังปีที่ผ่านมาได้นำสินค้าไปโชว์ที่งาน BrusselsInnova งานนวัตกรรม ณ ประเทศเบลเยี่ยม มาแล้ว เพื่อให้มีรางวัลการันตีผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากไทย จะได้พร้อมสยายปีกเติบใหญ่ในตลาดโลก หลังปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่แล้วทั้งใน จีน อาเซียน และดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

“เรามีตัวแทนจำหน่ายที่เป็นทางการอยู่ในหลายประเทศ ในปีนี้คิดว่า จะเข้าไปส่งเสริมการตลาดให้กับตัวแทนจำหน่าย ว่าสินค้าเรามีจุดเด่นอย่างไร และไปศึกษาเรื่องแพคเก็จจิ้ง และพัฒนาแพคเก็จจิ้งให้เหมาะกับประเทศนั้นๆ เราต้องไปเรียนรู้วัฒนธรรมแต่ละประเทศ รวมถึงพฤติกรรมการซื้อขาย เพื่อทำสินค้าของเราให้เหมาะสมกับตลาดของเขา”

วันนี้อรประภา ไปซื้อที่ในกาญจนบุรีไว้ประมาณ 8 ไร่ สำหรับปลูกวัตถุดิบรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต บั้นปลายที่เหน็ดเหนื่อยจากงานมานาน เธอก็อยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เมื่อวันที่รู้สึกว่าทุกอย่าง “พอแล้ว”

“คนเราต้องรู้จักพอ ถ้าเราไม่พอกับชีวิต ไม่พอกับธุรกิจ เราก็จะเหนื่อยไม่รู้จักจบ ค่อนข้างเหนื่อยมาเยอะ แต่ก็มีความสุข เพราะงานที่ทำ คืองานที่รัก และถนัด แต่วันหนึ่งก็ต้องพอ”

เพื่อให้ชีววิถีได้ทำหน้าที่ของมันไปด้วยตัวเอง เป็นธุรกิจน้ำดี ที่ยังคงเป็นมิตรกับผู้คนและโลก