“เต่งโปรดักส์” นักสร้างสรรค์แห่งเมืองกาญจน์

“เต่งโปรดักส์” นักสร้างสรรค์แห่งเมืองกาญจน์

“เต่งโปรดักส์”คือผู้ผลิตกุนเชียงจากปลายี่สกแห่งเมืองกาญจน์ที่มุ่งมั่นผลิตอาหารคุณภาพและปลอดภัยเสิร์ฟผู้คน ยืนหยัดเติบโตไปพร้อมชุมชนของพวกเขา

กุนเชียงสมุนไพร สอดไส้อยู่ในแพคเก็จจิ้งรูปปลายี่สก พร้อมกับสโลแกน "อร่อยเหลือล้ำ ทุกคำได้คุณค่า" ช่างดูต่างไปจากสินค้าโอทอปแบบเดิมๆ นัก

นี่คือผลงานล่าสุดจาก “เต่งโปรดักส์” วิสาหกิจชุมชนแห่ง ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หลังถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 77 แบรนด์ เข้าร่วมโครงการ OTOP SELECT โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 77 EXPERIENCE สินค้าดี 4 กลุ่ม กินดี อยู่ดี สวยดี ดูดี เพื่อยกระดับสินค้าโอทอปให้มีโอกาสในตลาดสากลมากขึ้น

นี่ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดกับ เต่งโปรดักส์ หากทว่าลองย้อนกลับไปดูตลอดเวลาที่อยู่ในสนามโอทอป แบรนด์เล็กๆ แห่งนี้ มีการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ตั้งแต่เริ่มต้นลงสนามเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

“ผมทำงานในอุตสาหกรรมอาหารมากว่า 20 ปี พออายุเยอะขึ้นก็เริ่มคิดอยากไปอยู่ชนบท เลยย้ายครอบครัวไปที่กาญจนบุรีบ้านของภรรยา หาโอกาสทำธุรกิจเล็กๆ ในท้องถิ่นที่เราไปอยู่ โดยหวังว่าจะช่วยสร้างงานให้กลุ่มแม่บ้าน หรือผู้สูงอายุ ที่อยู่แถวนั้นด้วย”

“พสิษฐ์ เต่งภาวดี” วัย 58 ปี ผู้ก่อตั้ง เต่งโปรดักส์  บอกเล่าที่มาของโอทอปแห่งเมืองกาญจน์ที่เขาจุดไอเดียขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน (เริ่มต้นปี 2547) เพื่อหวังสร้างเศรษฐกิจเล็กๆ ให้กับชุมชน และช่วยสร้างงานให้คนพื้นที่ไม่ต้องย้ายถิ่นไปทำงานไกลบ้าน

ประสบการณ์จากการทำไส้กรอก และกุนเชียง ในโรงงานอาหารแปรรูปมาหลายปี กลายเป็นต้นทุนสำคัญที่เขาใช้เริ่มต้นกิจการ โดยเริ่มทำพวก กุนเชียงหมู ไส้กรอกหมูสมุนไพร ไส้กรอกเยอรมัน ฯลฯ ที่เน้นใช้เนื้อส่วนที่ดีของหมู ไม่ผสมเหมือนเจ้าอื่น เริ่มจากทำขายอยู่กับบ้าน ก่อนเข้าร่วม โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยตั้งเป็นกลุ่มไส้กรอกสมุนไพรขึ้น มีสมาชิกเริ่มต้นที่ 21 คน ร่วมหุ้นกัน ได้เงินมา 1.6 แสนบาท เป็นทุนตั้งต้น

การทำไส้กรอกหมูในช่วงแรก พวกเขาใช้แต่วัตถุดิบที่ดี คุณภาพจัดเต็ม ไม่ใส่สารอันตรายให้เป็นภัยต่อลูกค้า แต่ทว่า เพราะอย่างนั้นต้นทุนเลยสูงลิ่ว แถมพวกเขายังยืนยันจะขายถูกด้วย เพราะไม่ได้หวังจะเอากำไรมากมาย แค่อยากให้คนได้กินของดีๆ พอต้นทุนสูง แต่กำไรต่ำ แถมไส้กรอกถ้าไปฝากขายตามร้าน ถ้าตู้แช่ไม่ดี ของก็เสียหายกลับมาอีก ไปออกงานแต่ละครั้ง ก็ขาดทุนกลับมาทุกที เลยเป็นอุปสรรคชิ้นโตให้แต่เริ่ม   

ภายหลังสังเกตว่า คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น นิยมทานปลากันเยอะขึ้น เลยคิดนำปลาท้องถิ่นของเมืองกาญจน์อย่าง “ปลายี่สก” มาทำเป็นกุนเชียงปลา เปิดตลาดใหม่ๆ ให้พวกเขา

“มาคิดว่า เมืองกาญจน์มีวัตถุดิบอะไรบ้าง พบว่า เรามีปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นของที่นี่ และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกาญจน์ด้วย เขาว่า ถ้ามากาญจน์ไม่กินปลายี่สกก็เหมือนยังมาไม่ถึง ผมเลยนำมาทดลองทำเป็นกุนเชียงดู”

จากปลาท้องถิ่น ที่หลายคนคุ้นชินกับแค่ทำทอดมัน พวกเขานำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการแปรรูปเป็นกุนเชียงปลาคุณภาพดี ที่รสชาติอร่อย ปลอดภัย ไร้กลิ่นคาว โดยครั้งแรกทำมาลองตลาดแค่ 20 กิโล ปรากฏว่า “ขายหมดเกลี้ยง”

“เลยคิดว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว จึงวางแผนการตลาดเพื่อขายให้เยอะขึ้น โดยคำนวณว่า เราต้องกำไรเท่าไรถึงจะเลี้ยงคนของเราได้ จากเดิมวางตลาดแบบหว่านไปหมด ตอนหลังร้านที่ขายไม่ดีก็ตัดออก เหลือไว้แต่พวกร้านของฝาก ซูเปอร์มาร์เก็ตที่พอขายได้ เริ่มจากในเมืองกาญจน์ ก่อนขยายไปจังหวัดใกล้เคียงด้วย” เขาบอก  

พอต้องขยายธุรกิจเลยต้องเริ่มกู้เงินจากสถาบันการเงิน เขาเล่าว่า ยอมเอาที่ดินส่วนตัวไปค้ำประกันให้กับทางกลุ่ม เพราะกลัวเสียโอกาสกับตลาดที่เกิดขึ้น ทว่าพอขอให้สมาชิกช่วยเซนต์รับรอง กลับมีคนร่วมมือด้วยแค่ 13 คน เขาเลยขอซื้อหุ้นคืนจากสมาชิกที่เหลือ

เงินก้อนใหม่ถูกนำมาใช้ซื้อเครื่องจักร พอได้เงินทยอยคืนมา ก็ขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นด้วย จากคนไม่มีเครดิตเพราะเป็นรายเล็ก แต่การเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่เคยผิดนัดชำระ ไม่เคยเสียเครดิตกับธนาคาร เลยสามารถกู้เงินเพิ่มได้ ใช้เวลา 4 ปี ธุรกิจที่ขาดทุนสะสมมานานก็ถึงจุดคุ้มทุน และเริ่มมีกำไร จนแบ่งปันผลให้สมาชิกที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันมาได้

                แม้เป็นโอทอปเล็กๆ แต่เต่งโปรดักส์ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง ทว่ากลับแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยพสิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า เขาชอบที่จะไปอบรมหาความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และเข้ากับสภาวการณ์ของสังคมในปัจจุบัน เช่น การออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งไปเรียนจนสามารถสร้างเว็บของตัวเองได้สำเร็จ ที่เว็บไซต์ www.teng-pd.com

เวลาส่วนหนึ่งถูกใช้ไปกับการอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ อบรมเรื่องนวัตกรรม ด้านบัญชีการเงิน เอกสารการซื้อการขาย เทคนิคการขาย ตลอดจนหนังสือสัญญา และเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งไม่มีอะไรหลุดพ้นนักแสวงหาความรู้อย่างพวกเขา

“แพคเก็จที่เป็นถุงซีลและกล่อง ผมออกแบบเองทั้งหมด ส่วนปลาที่เป็นตัวห้อย อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นคนออกแบบมาให้ จากการที่เราเข้าร่วมโครงการ OTOP SELECT ซึ่งเดิมกุนเชียงขายได้แท่งละประมาณ 15 บาท แต่แพคเก็จจิ้งใหม่นี้มองว่า จะตั้งราคาขายได้ที่ตัวละ 25-30 บาท เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น”

เต่งโปรดักส์ มีกำลังการผลิตประมาณ 3 ตัน ต่อเดือน  ปัจจุบันส่งสินค้าขายไปใน 30 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นร้านของฝาก ร้านเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ตลอดจนผ่านทางไลน์ ที่ “TENGPD”

ส่วนเป้าหมายในอนาคตเขาบอกว่า อยากขยายตลาดไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ทานของดีๆ รวมถึงการทำตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มจากเอเชีย และจีน ส่วนแนวทางพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ก็เตรียมพัฒนาปลาแผ่นกรอบ เพื่อเป็นของทานเล่น ขยายตลาดสู่คนรุ่นใหม่ โดยยังมีจุดยืนที่แจ่มชัดคือ

“สินค้าต้องไม่เหมือนใคร รสชาติต้อง แปลก ใหม่ ทำเลียนแบบยาก และเน้นสุขภาพ” เขาย้ำ

วันนี้ธุรกิจที่มุ่งมั่นมาตลอดกว่า 10 ปี ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้รายได้จะหดตัวลงบ้าง จากสภาวะเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็ยังหาทางกระตุ้นตลาดอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ธุรกิจยังอยู่ได้ กลุ่มยังเข้มแข็ง และเติบโตไปด้วยกันได้

“ผมไม่ท้อนะ ต้องสู้ ต้องหาทางขยายงานของเราออกไปให้ได้ ถ้ามีโอกาสไม่ฉวยไว้ ก็ไม่มีประโยชน์ ธุรกิจต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ต้องขยายตลาด ไม่ขยายก็ทำกำไรไม่ได้ คนของเราก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วย ฉะนั้นเราจะท้อไม่ได้”

เพื่อให้คนทำกุนเชียงปลาแห่งเมืองกาญจน์ ยังนำพากลุ่มของพวกเขาให้เติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่ง ยกระดับสินค้าจากชุมชนให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลให้ได้