“โรสแมนคลับ” ประทับแบรนด์ไทยในตลาดโลก

“โรสแมนคลับ” ประทับแบรนด์ไทยในตลาดโลก

“โรสแมนคลับ”แบรนด์แว่นตาสุดเท่ของยังดีไซเนอร์ไทยที่กำลังเฉิดฉายอยู่ในตลาดโลก พวกเขาไม่ได้ทำธุรกิจจากตัวเลข แต่ใช้“ความรู้สึก”นำทางความสำเร็จ

แว่นตาสุดชิค ดีไซน์คลาสสิค เรียบ เท่ ร่วมสมัย ขวัญใจหนุ่มสาวแว่นผู้มีสไตล์ เข้าใจแฟชั่น ที่พร้อมสลัดภาพความเนิร์ด มาเป็นคนโดดเด่น “มีบุคลิก”

นี่คือ “โรสแมนคลับ” (Rosemanclub) แว่นตาสัญชาติไทยแท้ ที่ปรากฏโฉมอยู่บนนิตยสารแฟชั่น Vogue ของอังกฤษ วางขายอยู่ใน ปารีส ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ และย่างกุ้ง ดึงดูดชาวต่างชาติในเมืองไทย นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ สายพันธุ์ “ฮิปสเตอร์” แม้แต่คนไทยที่ชอบงานดีไซน์และของคุณภาพ ยังต้องจำนนให้กับความคูลของพวกเขา

"ตอนแรกคิดว่ากลุ่มเป้าหมายเราน่าจะเจนวายหน่อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าผู้ใหญ่ฟีดแบคกลับมาดีมาก โดยคนอายุมากสุดที่มาซื้อแว่นกับเราคือ 87 ปี! เขาจับแว่นแล้วบอกว่า ‘Make sense’ มาก คือ คุณภาพดี แล้วก็ไม่แพงด้วย”

คำบอกเล่าจาก “ปอย-ปิยะวรรณ เอื้อบุญสิริ” วัย 31 ปี และ “แน๊ต-ภัศนันท์ ธราจรัสพัฒน์”วัย 30 ปี สองเพื่อนซี้ผู้ก่อตั้ง และดีไซเนอร์ โรสแมนคลับ ถึงการตอบรับของแว่นตาสายพันธุ์ไทย ที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้พวกเขาอยู่มากๆ หลังเปิดตัวธุรกิจนี้เมื่อ 2 ปีก่อน (ก่อตั้งปี 2014) และได้รับการตอบรับที่ดียิ่งจากทั้งลูกค้า

ทำไมแบรนด์ที่เข้าสู่ตลาดมาได้ไม่นานอย่าง โรสแมนคลับ ถึงประสบความสำเร็จ ชนิดที่สามารถไปแจ้งเกิดในต่างประเทศได้ โดยมีตลาดแรกอยู่ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังใช้เวที SILMO” งานแสดงสินค้านานาชาติด้านแว่นตาและอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาที่ปารีส แนะนำตัวเองสู่ตลาดโลก

ทั้งที่คนก่อตั้งไม่ได้เรียนมาทางด้านการออกแบบ ไม่เคยรู้เรื่องการทำแว่นตา ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวคนขายแว่น สิ่งเดียวที่พอจะเชื่อมโยงถึงกันได้ก็แค่ ทั้งสองคนเป็นสาวแว่น ชอบสะสมของวินเทจ และมีแว่นวินเทจอยู่มาก

“ที่เลือกทำแว่น เพราะมองว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองมากกว่า เพราะเดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ใส่แว่นกันเยอะขึ้น เพราะใช้คอมกันเยอะมาก แต่ทำไมเวลาเดินเข้าร้านแว่นทั่วไปถึงมีแต่แบบเชยจัง เลยเกิดแรงบันดาลใจว่า อยากทำแว่นตาที่ไม่เชย ทำไมใส่แว่นแล้วต้องดูเนิร์ด ทำให้ดูเท่ขึ้นได้ไหม” ทั้งสองบอกจุดเริ่มต้น

คิดได้ดังนั้นก็ตัดสินใจ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” หันหลังให้งานประจำ เทหน้าตักเงินเก็บทั้งหมด มาตั้งต้นธุรกิจใหม่ โดยใช้เวลาศึกษาหาความรู้เรื่องการทำแว่นอยู่เป็นปี หาแหล่งผลิตและวัตถุดิบที่จะตอบโจทย์ “คุณภาพสูง” จนได้พาร์ทเนอร์เป็นโรงงานที่ญี่ปุ่นมาผลิตให้ ส่วนการดีไซน์ก็ใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ มาปรับใช้กับการทำแว่น โดยชูจุดขายการตัดแว่นให้เข้ากับทรงหน้า สำหรับลูกค้าที่มารับบริการจากหน้าร้านด้วย

“เราใช้ความชอบอย่างเดียวจริงๆ ก็แค่พยายามทำให้ดีที่สุด โฟกัสกับตัวโปรดักส์ของเรา ทำให้มันดีและในแบบที่เราชอบ”

ภาพสะท้อนจากความชอบคือ แว่นตาคูลๆ ที่ไม่เน้นโชว์แบรนด์อยู่ด้านนอก เพราะพวกเขามองว่า อยากให้ดีไซน์ของแว่นแสดงตัวตนของบุคคล มากกว่าที่จะให้ตัวบุคคลสะท้อนตัวตนของแบรนด์ อยากเน้นความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ นี่คือจุดยืนของพวกเขา

เพราะไม่ใช่นักธุรกิจมาทำแว่น แต่เป็นกิจการที่เกิดจากแพสชั่น การผลิตผลงานของทั้งคู่ เลยเน้นลงรายละเอียดกับทุกจุด ชนิดต้นทุนแพงไม่สน ทำยาก ทำช้าไม่ว่า แต่ขอให้ได้ผลงาน “ได้ดั่งใจ” ก็พอแล้ว  

“บางวัสดุโรงงานยังบอกเองเลยว่า ขนาดแบรนด์ยุโรปที่ดังมากๆ เขายังไม่ใช้เลย แต่สำหรับเราจะไม่ประนีประนอม ต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ แพงได้ รอได้ ยอมรอ แต่ขอให้ได้แบบที่ต้องการ เราไม่ได้ทำธุรกิจจากตัวเลข แต่ทำธุรกิจจากความรู้สึก” ทั้งสองบอก

เพราะจัดหนักจัดเต็มขนาดนี้ เลยมีแว่นคูลๆ ออกมายั่วยวนตลาดอยู่เรื่อยๆ แถมราคาขายก็ยังจับต้องได้ ที่ 3,950-6,300 บาท พร้อมคลิปออนกันแดด วันแรกที่ไปออกงานกรุงปารีส หอบหิ้วผลงานไปแค่ 5 แบบ 5 ทรง หากทว่ากลับได้ตัวแทนจำหน่ายมาช่วยทำตลาดอินเตอร์ให้ตั้งแต่ครั้งแรก

“ตั้งแต่เปิดตัว เราเน้นขายยุโรปเป็นหลัก เพราะตอนนั้นตลาดบ้านเรา ยังยึดติดคำว่าแบรนด์อยู่ คือต้องมีชื่อในระดับโลกเขาถึงจะใช้ แต่ในทางกลับกันฝรั่งเขาเปิดกว้างมากกว่า เขามองว่า ขอให้ วัสดุดี คุณภาพดี ดีไซน์ได้ ก็สนใจแล้ว”

แบรนด์น้องใหม่สัญชาติไทยแท้เลยได้ปรากฏตัวอยู่ที่กรุงปารีส ก่อนขยับขยายไปวางขายในร้านแว่นตา และคอนเซ็ปต์สโตร์หลายประเทศ ทั้ง ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ และย่างกุ้ง ขณะที่ทุกครั้งที่ปล่อยคอลเลคชั่นใหม่บนโลกออนไลน์ก็มักได้รับการตอบกลับแบบ “ทันทีทันใด” จากเหล่าสาวกของพวกเขา

ในการก้าวสู่ปีที่ 3 ของ โรสแมนคลับ พวกเขาย้ายฐานทัพจากสามย่าน มาเปิด แฟล็กชิพ สโตร์ แห่งใหม่ ที่สุขุมวิท 31 โดยไม่ได้มีแค่แว่นตา ทว่ารวมเอาแบรนด์จากดีไซเนอร์ไทยและอินเตอร์ ที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง มาสนองใจเหล่าแฟชั่นนิสตาร์โดยเฉพาะ ซึ่งพื้นที่เดียวกันนี้ยังเตรียมเปิดเป็นคาเฟ่ และครีเอทีฟ สเปซ อีกด้วย ส่วนแผนธุรกิจ ก็เตรียมขยายมาทำแอคเซสซอรี่เกี่ยวกับแว่นเพิ่มขึ้น เพื่อเติมความสนุกใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ของพวกเขา

ธุรกิจยังคงต้องลงทุนเพิ่มอยู่เรื่อยๆ และปัญหาเรื่อง “การเงิน” ยังเป็นปัญหาหนักอก แต่ทั้งสองยังยืนยันที่จะโตด้วยตัวเอง โดยไม่คิดกู้แบงก์ เพราะไม่อยากเติมความเครียด จนมาเปลี่ยนจุดยืนในการทำธุรกิจได้

วันนี้เลยยังยืนหยัดกับทางเดินของตัวเอง เหมือนที่เลือกออกจากงานประจำ เพราะไม่อยากใช้ชีวิตเป็นลูกจ้าง ยอมเสี่ยงในวัยที่ยังมีพลังและล้มได้ ดีกว่าไปเสี่ยงเอาตอนที่อายุมากไปกว่านี้ ยอมพิสูจน์ตัวเองจากครอบครัว ทั้งที่ยังมีธุรกิจดีๆ ให้ทำ ทั้งธุรกิจร้านอาหารของครอบครัวปอย และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของครอบครัวแน๊ต ด้วยความคิดแค่ว่า อยากพิสูจน์ตัวเอง และขอทำในสิ่งที่ชอบ

“การเป็นผู้ประกอบการเหนื่อยมากนะ เหมือนเลี้ยงลูกคนหนึ่ง ที่ไม่มีวันเลิกงาน ไม่มีวันปิดเทอม ไม่มีวันหยุด แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน ก็ยังจะทำเหมือนเดิม เพราะการเป็นผู้ประกอบการให้อะไรเยอะมาก ซึ่งสิ่งที่ได้อาจไม่ใช่เป็นตัวเงินเสมอไป แต่เราได้..ความสุข”

โรสแมน สะท้อนความเป็นแว่นตายูนิเซ็กส์ ที่ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดย Rose (กุหลาบ) คือตัวแทนของผู้หญิง ส่วน Man แปลตามตัวคือ ผู้ชาย ห้อยท้ายด้วย Club เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนเป็นชุมชนๆ หนึ่ง

กลายเป็น “โรสแมนคลับ” ธุรกิจยังดีไซเนอร์ไทย ที่กำลังส่องประกายอยู่ในตลาดโลก

................................................

Key to success

สูตรสำเร็จ “โรสแมนคลับ” ในตลาดโลก

๐ เลือกงานที่ใช่ ไปแสดงสินค้าในต่างประเทศ

๐ สินค้าคุณภาพดี ดีไซน์โดน ราคาสมเหตุสมผล

๐ ไม่ตามแฟชั่น แต่ใช้ความชอบ ทำของดีที่แตกต่าง

๐ แพงได้ รอได้ แต่ต้องได้ของที่ดีที่สุด

๐ โตด้วยตัวเอง รักษาจุดยืนธุรกิจให้มั่น

๐ กล้าเสี่ยง เชื่อมั่นในตัวเอง รับฟังเสียงลูกค้า