เห็นภาพบิดเบี้ยว ส่งสัญญาณจอตาเสื่อม

เห็นภาพบิดเบี้ยว ส่งสัญญาณจอตาเสื่อม

เมื่อไรที่เริ่มเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นเส้นตรงเป็นโค้ง หงิกงอ อย่านิ่งนอนใจเพราะอาจส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะเส้นเลือดโป่งพองใต้จอตาที่ทำให้ตาบอดได้

สายตาที่พร่ามัวของผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องปกติตามความเสื่อมของวัย แต่เมื่อไรที่เริ่มเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นเส้นตรงเป็นโค้งหรือหงิกงอ อย่านิ่งนอนใจเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเส้นเลือดโป่งพองใต้จอตาที่ทำให้ตาบอดตามมาได้ โรคเส้นเลือดโป่งพองใต้จอตา เป็นโรคย่อยของโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก ความผิดปกติในช่วงแรกจะตรวจไม่พบ มีลักษณะเฉพาะคือ เส้นเลือดเติบโตผิดปกติจนทำให้เกิดเลือดออกบริเวณหลังดวงตาและนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นแบบเฉียบพลัน

รศ.นพ.วิชัย ประสาทฤทธา หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดของจอตา ทําให้มองเห็นตรงกลางของภาพเป็นเงาดำ ไม่ชัดเจนและเห็นภาพบิดเบี้ยว อาทิ มองไม่เห็นเข็มนาฬิกา หรือเห็นคนเดินมาแต่ไม่เห็นใบหน้า จึงบอกไม่ได้ว่ากี่โมงหรือใครเดินมา ดังนั้น หากรู้สึกว่าเกิดอาการผิดปกติเหล่านี้ขึ้นกับดวงตา ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน ควรต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ทางที่ดีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องสายตาเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่ไม่แสดงอาการ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถเยียวยาให้ดวงตาสามารถใช้งานได้ต่อไป

“อาการของโรคแตกต่างกันในแต่ละคน และผู้ป่วยก็ยากที่จะสังเกตความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี ก็อาจไม่สังเกตถึงความผิดปกติไปหลายปี แต่ถ้าจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นทั้งสองข้าง จึงจะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหายไป หรือมืดดำไป หรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป"

คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า โรคนี้พบมากในคนเอเชียโดยเฉพาะในประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เช่น พบอุบัติการณ์เกิดโรคนี้ในประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่น 23-55% ไต้หวัน 49% เกาหลี 22-25% และ จีน 22-25% ส่วนประเทศไทยพบเพียง 0.3% แม้จะยังน้อยแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โรคนี้เกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อีกทั้งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่วนปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ชี้ว่าผู้สูบบุหรี่เสี่ยงเพิ่ม 3 เท่าตัว เช่นเดียวกับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจและเบาหวาน อย่างไรก็ตาม โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมนั้นมีวิธีรักษาหลายวิธี ทั้งการยิงเลเซอร์ การฉีดยาเพื่อยับยั้งเส้นเลือดใหม่ที่งอกขึ้นมาหรือแม้กระทั่งการผ่าตัด

แต่คงจะดีกว่าถ้าเราดูแลดวงตาตั้งแต่แรกด้วยการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด เน้นเมนูปลา ผักใบเขียวและผลไม้ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมได้ รวมถึงการรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์กับดวงตา เช่น วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี เบตาแคโรทีน โอเมกา3 ลูทีน ซีแซนทีน เป็นต้น จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 17 เท่า ผลกระทบจากการสูญเสียการมองเห็น ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติตามลำพัง อาจต้องได้รับการดูแลจากญาติ พี่น้องหรือผู้ที่รับจ้างดูแล เพราะไม่สามารถขับรถ ทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ หรือช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนเดิม และมีความเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุจากการหกล้มเพิ่มขึ้น 2 เท่า

“ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องสายตาเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอย่างอื่น อาทิ ต้อหิน ต้อกระจก การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถเยียวยาให้ดวงตาสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น” คุณหมอกล่าว