ชี้ม.44ชะลอคืนคลื่นวิทยุ หน่วยงานรัฐเฮ ปฏิรูปสื่อเหลว

ชี้ม.44ชะลอคืนคลื่นวิทยุ หน่วยงานรัฐเฮ ปฏิรูปสื่อเหลว

สแกนหน่วยงานรัฐถือครองคลื่นวิทยุ ทหารเยอะสุด ม.44ส่งผลไม่ต้องคืนมาจัดสรรใหม่ กสทช.-นักวิชาการ ประสานเสียงปฏิรูปสื่อเหลว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 76/2559 เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

โดยในข้อ 7 ระบุว่า "ให้ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไป จัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปี นับแต่วันครบกำหนดแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว ทั้งนี้ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการกระจายเสียงตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และได้รับความเห็นชอบให้ถือครอง คลื่นความถี่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ตามขอบเขตและสิทธิเดิม"

ทั้งนี้ มีการตีความว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลให้หน่วยงานรัฐสามารถถือครองคลื่นวิทยุได้ต่อไป โดยที่ไม่ต้องคืนคลื่นมาเพื่อจัดสรรใหม่

โดย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมา กสทช. เคยมีแผนแม่บทเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปคลื่นวิทยุของรัฐให้มาเข้าสู่กิจการที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การออกมาตรา 44 นี้ออกมาเป็นการทำลายเจตนารมณ์แผนการปฏิรูปที่ได้วางแผนไว้ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าคลื่นที่รัฐมีอยู่ทำธุรกิจที่ไม่เสรีและโปร่งใส

“ขอรับฟังเหตุผลของ คสช. ว่าการขยายการคืนคลื่นออกไป คืออะไร หากมีเหตุผลดีก็พอรับฟังได้” น.ส. สุภิญญากล่าว

ทั้งนี้เมื่อถามว่า ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ น.ส. สุภิญญาระบุว่า คนที่ได้ประโยชน์ปัจจุบันคือคนที่ได้ประโยชน์อยู่แล้ว มาตรา 44 ที่ออกมาทำให้เห็นชัดเจนว่าเกิดความล้มเหลวในประเด็นการปฏิรูปคลื่นวิทยุของรัฐที่จะเต้องเน้นเรื่องการเปิดเสรีโปร่งใสและความเป็นธรรมในการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้ น.ส.สุภิญญา ได้โพสต์ทวิตเตอร์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า “เรื่อง ม.44 ต่ออายุการถือครองคลื่นวิทยุของรัฐไปอีก 5 ปี ดิฉันขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับ คสช. อย่างยิ่ง เพราะกระทบการปฏิรูปสื่อของรัฐในขณะที่ทีวีเริ่มเข้าสู่ระบบใบอนุญาตและ การแข่งขันเสรีเป็นธรรม แต่วิทยุของรัฐยังอยู่กับระบบอุปถัมภ์แบบเดิม 5ปีที่ผ่านมาคือให้เวลาปรับตัวแล้วการต่ออายุการถือครองคลื่นวิทยุของรัฐโดย ม.44 จะทำให้สังคมกังขาต่อการเอื้อประโยชน์หน่วยงานรัฐที่ครองคลื่นอยู่เยอะ และเอกชนที่ใกล้ชิดรัฐได้ถ้าหน่วยงานรัฐจะถือครองคลื่นวิทยุต่อ จริงๆย่อมทำได้ แต่คือต้องปรับตัว เน้นการประกอบกิจการด้วยตนเอง และ เพื่อประโยชน์สาธารณะจริงๆดิฉันไม่เห็นด้วยกับ คสช.ในการต่ออายุ สิทธิการถือครองคลื่นวิทยุของรัฐทุกรายไปอีก5ปี เพราะเป็นการเอื้อเอกชนที่อยู่ภายใต้ระบบเช่าช่วง อุปถัมภ์”

ขณะที่ ดร.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวถือว่าช็อกโลก หน้าที่ของกสทช.คือการจัดสรร เรียกคืน การะจายการถือครอง แต่คำสั่งนี้ให้สัญญาต่อไปอีก 5 ปี และคนที่เตรียมตัว ปรับตัว ทำตัวดีเพื่อรอให้ถึงวันที่ครบสัญญาการจัดสรรคลื่น จะทำอย่างไร 5 ปีที่ผ่านมารัฐไม่เคยเสียค่าใบอนุญาติเลย แต่วิทยุชุมชนเสียค่าใบอนุญาติ

“คำสั่งนี้ถือว่า ทำลายหลักการการปฎิรูปสื่อทั้งหมด การปฎิรูปสื่อ คือการกระจายการถือครองไปสู่มือประชาชน ครั้งนี้ถือว่าเป็นการพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง” ดร.สุวรรณาระบุ

ดร.สุวรรณากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามช่องวิทยุทั้งหลายใครได้ประโยชน์ ทั้งหมดเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น อย่างวิทยุจุฬาฯก็ถือว่าเป็นคลื่นของรัฐ แต่เราไม่มีความสุข เราโดดเดี่ยว เพราะเราปรับตัว เป็นวิทยุสาธารณะมานานแล้ว เราก็อยากให้คลื่นอื่นได้เป็นคลื่นสาธารณะบ้าง

ขณะที่นายนันทสิทธิ์ กิตติวรากูล อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เท่าที่ดูคำสั่งดังกล่าว ในส่วนของ ข้อ 7 เรื่องการคืนคลื่นนั้น เมื่อไปดูเหตุผลที่ให้ไว้ในตอนต้นของคำสั่งก็ปรากฏว่าไม่มีเหตุผลไหนเลย ที่เกี่ยวข้องกับข้อดังกล่าว ซึ่งจากนี้ไปสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเหมือนเดิม เพราะรูปแบบการจัดสรรคลื่นเดิม รัฐเป็นผู้ครอบครอง เขาก็ยังให้รัฐมีสิทธินั้นตามเดิม ถ้าดูตามแผงหน้าปัดวิทยุก็เป็นคลื่นของรัฐเกือบหมดแผงแล้ว จึงคิดไม่ออกว่าจะปฏิรูปออกมาได้อย่างไร การปฏิรูปเราต้องการให้ทุกหน่วยงานต้องคืนหมด แต่คราวนี้กลับพูดชัดว่าหน่วยงานรัฐไม่ต้องคืน

“จากนี้หากอยากปฏิรูปต้องรับประกันว่าหน่วยงานรัฐต้องไม่ให้เอกชนมารับช่วงทำต่ออีก” นายนันทสิทธิ์กล่าว

นายเอกพล เธียรถาวร หัวหน้าแขนงวิชาวารสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่าการที่มีคำสั่งปล่อยให้หน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นวิทยุยังไม่ต้องคืนคลื่นความถี่เพื่อการจัดสรรใหม่โดยอ้างว่ายังอยู่ระหว่างการปฏิรูป แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงในในการที่จะปฏิรูปสื่อ ทำให้การปฎิรูปสื่อพังไป ทั้งนี้ถ้าคสช. ยังประนีประนอมกับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ยอมปล่อยผลประโยชน์ในมือตัวเองมาอย่างยาวนานก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างที่วาดฝันไว้ ซึ่งนับว่าเป็นการเสียโอกาสของประชาชนส่วนรวมไปอีกอย่างน้อย 5 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อมีคำสั่งแบบนี้ออกมาแล้ว หน่วยงานที่กำกับดูแลก็ควรมีแผนการและกำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดในการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ที่ชัดเจนด้วย มิฉะนั้นถึงรอไปอีก 5 ปีก็อาจจะยังไม่สามารถทำได้
สแกนคลื่นวิทยุ ใครถือครอง

ทั้งนี้เมื่อเราตรวจสอบ ฐานข้อมูลของ กสทช. ถึงหน่วยงานรัฐถที่ถือครองคลื่นวิทยุ พบว่าในส่วนของคลื่นระบบ AM มีทั้งสิ้น 193 สถานี โดยมีผู้ถือครองคลื่นรายใหญ่ประกอบด้วย ทหาร 112 สถานี , กรมประชาสัมพันธ์ 88 สถานี

โดยมีรายละเอียดดังนี้ กรมประชาสัมพันธ์ 57 สถานี กรมพลังงานทหาร 2 สถานี กรมส่งเสริมการเกษตร 1 สถานี กรมอุตุนิยมวิทยา 1 สถานี กระทรวงการต่างประเทศ 1 สถานี
กระทรวงศึกษาธิการ 1 สถานี กรุงเทพมหานคร 1 สถานี กองทัพบก 78 สถานี กองทัพอากาศ 18 สถานี กองทัพเรือ 7 สถานี กองบัญชาการกองทัพไทย 7 สถานี
บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) 2 สถานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สถานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4 สถานี สำนักงานกสทช. 3 สถานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 7 สถานี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 1 สถานี สำนักพระราชวัง 1 สถานี

ส่วนคลื่น FM มีหน่วยงานรัฐถือครองทั้งสิ้น 313 สถานี โดยมีผู้ถือครองคลื่นรายใหญ่ 4 รายคือ กรมประชาสัมพันธ์ 88 สถานี ทหาร 89 สถานี บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) 60 สถานี
และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 37 สถานี

โดยมีรายละเอียดดังนี้ กรมพลังงานทหาร 1 สถานี กรมประชาสัมพันธ์ 88 สถานี กรมอุตุนิยมวิทยา 5 สถานี กรมเจ้าท่า 1 สถานี กระทรวงศึกษาธิการ 1 สถานี กองทัพบก 49 สถานี
กองทัพอากาศ 18 สถานี กองทัพเรือ 14 สถานี กองบัญชาการทัพไทย 7 สถานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 สถานี บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) 60 สถานี ม.นเรศวร 1 สถานี ม.มหาสารคาม 1 สถานี ม.สงขลานครินทร์ 2 สถานี ม.เชียงใหม่ 1 สถานี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี 1 สถานี สำนักงานกสทช. 5 สถานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 37 สถานี สำนักงานเลขาธิการสถาผู้แทนราษฎร 15 สถานี สำนักพระราชวัง 1 สถานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 สถานี กรมประมง 3 สถานี

ทั้งนี้หากรวมทั้งสองคลื่นจะพบว่า ทหารคือผู้ที่ถือครองคลื่นจำนวนมากที่สุดถึง 201 สถานี ส่วนอันดับ 2 คือกรมประชาสัมพันธ์ 145 สถานี อันดับสาม บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) 62 สถานี และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 44 สถานี