'วิ่ง' แปรความข่มขืนเป็นพลัง

'วิ่ง' แปรความข่มขืนเป็นพลัง

แม้จะเจ็บปวดเพียงใด แต่การวิ่งก็ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกบางอย่าง เพื่อให้โลกรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เมื่อโดนข่มขืน คุณยังดำเนินชีวิตต่อไปได้


แคลร์ แมคฟาร์แลนด์ (Claire Macfarlane) หญิงสาวชาวออสเตรเลีย เติบโตในอาฟริกาใต้ ถูกข่มขืนวัย 20 กว่าๆ คนที่ข่มขืนเธอ ซ้อมเธออย่างหนัก และทิ้งเธอไว้ในสภาพเปลือยกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

2 ปีที่แล้ว เธอออกมาเล่าเรื่องนี้...

"ฉันจำได้ ไม่ลืมเลย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2542 เวลาตี 3 ช่วงที่บาร์ปิด คืนนั้นฉันทำงาน 2 กะ เหนื่อยมาก เพื่อน ๆ ชวนไปดื่มต่อ ฉันปฏิเสธ เพราะอยากกลับบ้านไปพักผ่อน เมื่อเดินออกมาจากบาร์ราว 100 เมตร เพื่อเรียกแท็กซี่ ก็มีคนมาขวางและจับตัวฉันไป ตลอด 1 ชั่วโมงฉันถูกทุบตี บีบคอ ใช้ความรุนแรงต่าง ๆ รวมทั้งข่มขืนฉัน" แคลร์ เล่าให้ฟังที่สภาคริสจักรแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559
วินาทีระหว่างความเป็นความตาย อะไรทำให้แคลร์รอดชีวิตมาได้...

1.
แคลร์เป็นใคร แล้วมาเล่าเรื่องนี้ในเมืองไทย เพื่ออะไร

ปัจจุบันเธอเป็นนักเคลื่อนไหว เจ้าของโครงการ Beach Run Awareness (Project BRA) เธอตั้งใจว่า จะวิ่งบนชายหาด 184 ประเทศทั่วโลก วิ่งเท้าเปล่าบนชายหาดไปกลับ 16 กม. โดยเธอวิ่งมาแล้ว 9 ประเทศ เริ่มจากประเทศบ้านเกิดคือ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน บาหลีในอินโดนีเซีย ศรีลังกา และอินเดีย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 10 ที่เธอวิ่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ที่หาดบางเทา จังหวัดภูเก็ต พื้นที่ที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถูกข่มขืนแล้วฆ่า โดยมีคนร่วมวิ่งกับเธอกว่า 60 คน

หากย้อนถึงชีวิตของเธอ ก่อนหน้านี้เธอใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาใต้ พออายุ 16 ครอบครัวย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย เธอเข้าเรียนสาขานิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียน 15 ปี หลังจากจบภาคเรียนแรก ตอนนั้นเธออายุ 19 ปี ได้เดินทางไปเที่ยวปารีสกับเพื่อน (ปี 2541) จนเลิกเรียนที่ออสเตรเลีย หันมาเรียนที่ Fine Art School ในปารีส เธอทำงานในบาร์แห่งหนึ่ง เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน ผ่านไปหนึ่งปี ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

"เมื่อเขาข่มขืนฉัน ฉันพยายามต่อสู้ แต่ยิ่งหนี คนร้ายก็ยิ่งตีหนักขึ้น เขากดฉันลงกับพื้น ฉันหมดสติ และคิดว่าต้องตายแน่ แต่ฉันยังไม่ตาย 2 นาทีต่อมาฉันฟื้น แต่ถูกจิกผมลากขึ้นบันได ฉันพยายามตะเกียกตะกายหนี ตอนนั้นฉันคิดว่า ฉันไม่อยากตาย" แคลร์ เล่า

"เขาขู่ว่าจะยิงฉันทิ้ง จากนั้นใช้มีดกรีดที่ตัว และชกที่หน้าอย่างแรง ฉันจำได้ว่าถูกชกเข้าที่ตา ระหว่างที่ฉันกำลังจะหมดสติ ความกลัวตายทำให้ฉันคิดวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ความรุนแรง จำบทเรียนตอนที่เคยเรียนมัธยมมาใช้ ฉันบอกคนร้ายว่า ฉันเป็นโรคร้ายต้องตายสิ้นปีนี้ เขาไม่เชื่อและยิ่งทุบตีหนักขึ้น ฉันพยายามชวนคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต แม้คนร้ายจะไม่หยุดทุบตี แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรอดมาได้"
เมื่อมีสติ แคลร์พบว่า อยู่ในสภาพเปลือย จึงพยายามพาตัวเองไปโรงพยาบาล...

2.
หลังเหตุการณ์นั้น เธออยู่ปารีสอีก 2-3 เดือน เพื่อคุยกับตำรวจเรื่องคนร้ายและอาการบาดเจ็บ แม้ตำรวจจะพยายามตามหาคนร้าย แต่ก็จับตัวไม่ได้ และในปี 2543 เธอย้ายกลับออสเตรเลีย ทำตัวให้ยุ่งเพื่อที่จะไม่ต้องมีเวลาคิดถึงเรื่องนั้น

กระทั่งเดือนมิถุนายน 2552 (เกือบ10 ปีหลังเหตุการณ์ข่มขืน) ตำรวจฝรั่งเศสติดต่อให้แคลร์กลับไปปารีส เพราะจับตัวคนร้ายได้แล้ว เนื่องจากเขาทำร้ายคนอื่นและมีการเทียบ DNA ที่ตรงกัน ตำรวจต้องการให้เธอไปชี้ตัว แม้เวลาจะผ่านไปนาน แต่แคลร์ยังจำคนร้ายได้

หลังจากชี้ตัวคนร้าย สภาพจิตใจแคลร์ย่ำแย่อีกครั้ง เนื่องจากในปารีส เมื่อได้ตัวคนร้ายมาและมีการฟ้องร้อง โจทย์ต้องมีการตั้งทนาย ซึ่งต้องมีเงินทุนราวๆ 40,000 เหรียญออสเตรเลีย (กว่า1 ล้านบาท) ซึ่งเธอต้องหาเงิน เพื่อต่อสู้คดี โดยไม่มีใครยืนมือเข้ามาช่วย

หลังจากต่อสู้คดี 2 ปีครึ่ง ในเดือนพฤศจิกายนปี 2554 คนร้ายก็ถูกส่งเข้าคุก โดยตัดสินจำคุก 12 ปี แต่หลังจากติดคุกได้เพียง 3 ปีครึ่ง คนร้ายก็ถูกปล่อยตัว (ภายใต้การคุมประพฤติ) ในปี 2556 ขณะที่แคลร์ยังต้องดำเนินการกับศาลต่อเนื่องมาจนถึงเดือนตุลาคม ปี 2558 รวมเวลาทั้งหมดที่เธอต้องเผชิญกับเรื่องนี้ คือ 16 ปี กว่าเรื่องจะจบ ซึ่งนานกว่าคนร้ายใช้ชีวิตในคุก

เรื่องของแคลร์ แม้จะจบลงเฉกเช่นกรณีทั่วไป คือ ไปโรงพยาบาล รักษาตัวจนหาย ไปแจ้งความ ขึ้นศาล คนร้ายเข้าคุก ไม่ได้รับความเป็นธรรม อยู่กับความรันทด และอยากฆ่าตัวตาย

ทั้งหมดคือ สิ่งที่หลายคนเจอ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เธอแตกต่างจากคนอื่น ก็คือ ลุกขึ้นมาสู้ 



3.

2 ปีที่ผ่านมา แคลร์ตัดสินใจเล่าเรื่องตัวเอง และพบว่า มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับเธอเป็นจำนวนมาก หลายคนเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกข่มขืนให้แคลร์รับรู้ เธอได้พบกับผู้ที่รอดชีวิตจากการถูกข่มขืนหลายคน และเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เธอได้เรียนรู้และคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

"การข่มขืนเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ การข่มขืนไม่เลือกประเทศ ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกสีผิวหรือวัย รวมทั้งไม่ว่าจะมีเพศสภาวะหรือรสนิยมทางเพศแบบใด แล้วทำไมเราถึงไม่พูดเรื่องการข่มขืน"

แคลร์เลือกที่จะบอกเล่า ส่งเสียง และใช้พลังการวิ่งเยียวยาจิตใจ รวมถึงรณรงค์เรื่องการข่มขืน เพื่อให้คนที่ถูกกระทำกล้าที่จะพูด และช่วยคนอื่นต่อไป รวมถึงช่วยให้คนทั้งโลกหันมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเธอใช้การวิ่งมาเป็นสื่อในการส่งสาร

"เรื่องที่แคลร์เล่าก็ไม่ต่างจากปัญหาผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในสังคมไทย ที่ถูกกดทับด้วยมายาคติว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี บางคนก็บอกว่าเพราะแต่งตัวโป๊ เดินในที่เปลี่ยว หรือไม่ก็แบล็คเมล์ผู้ชาย" จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่า และย้ำว่า

"การที่แคลร์มาพูดในเมืองไทย ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำรู้ว่าตัวเขาไม่ได้มีความผิดอะไร และได้รู้ว่าถ้าไม่ออกมาพูด เรื่องเหล่านี้ก็ยังอยู่กับตัวเขา การพูดเหมือนการเยียวยา ก่อนหน้านี้แคลร์ก็คิดอยากจะฆ่าตัวตายไม่รู้กี่ครั้ง แคลร์บอกว่า การพูดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง การวิ่งก็เป็นการปลดปล่อยอย่างหนึ่ง ทำให้ได้เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ และการวิ่งสามารถดึงกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันแก้ปัญหาได้"

แคลร์เชื่อว่า วิธีนี้จะช่วยสร้างความตระหนักเรื่องการข่มขืนได้ และเป็นโอกาสที่จะสร้างความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมของโลกสมัยใหม่ ตัวเธอเองก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากการวิ่ง และยังมีสิ่งที่จะได้เรียนรู้ต่อไปอีกมากจากการทำงานใน Project BRA เธอหวังว่า ทุกปีที่วิ่งจะทำให้เกิดการวิ่งประจำปีในกลุ่มคนทำงานด้านนี้ หรือการวิ่งของเธอจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเรื่องนี้

4.
หลังจากบอกเล่าเรื่องราวให้สาธารณชนฟัง เธอพบว่า สังคมควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้คุยถึงประสบการณ์ที่แต่ละคนเจอ

"ประสบการณ์ของการถูกข่มขืนหรือโดนทำร้าย ไม่ใช่เรื่องโดดเดียว เพราะมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องอาย และไม่ใช่ความผิดของเหยื่อเลยสักนิด ฉันเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต้องใช้ทั้งการอ่านหนังสือ การเล่นโยคะ และนั่งสมาธิ เพื่อเยียวยาตัวเอง และสิ่งสำคัญคือต้องฟังตัวเอง คนอื่นจะพูดอะไรก็ได้ แต่การฟังตัวเองจะทำให้ตัวเราเข้มแข็ง ฉันรู้ว่าเรื่องนี้สำคัญ และอยากให้คนอื่นกล้าทำแบบที่ฉันทำ"

แคลร์ บอกว่า เมื่อเธอเปิดตัว Project BRA มีคนหลากหลายเข้ามาคุยกับเธอผ่านพื้นที่ online บางคนกล่าวหาว่า เธอเป็นนักกิจกรรมที่สนับสนุนการข่มขืน เธอต้องอธิบาย เพื่อให้เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องแบ่งปันแลกเปลี่ยนกัน

"ปัญหาใหญ่ของการข่มขืนไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง ผู้ชาย แต่เป็นเรื่องของทุกคน และการพูดคุยก็เพื่อช่วยเหลือกัน ในหลายประเทศยังมีกฎหมายที่ไม่ช่วยเหลือคนที่มี gender ต่างออกไปด้วย วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้คนทั้งกล้าและกลัวที่จะพูด ในอินเดียหากผู้หญิงถูกข่มขืนคือการเสียคุณค่าไปแล้ว เธอจะถูกขับไล่จากครอบครัวและชุมชน ไม่มีใครช่วย"

กรณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ผู้อำนวยการมูลนิธิชายหญิงก้าวไกล บอกว่า ส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดตัวเองต่อสาธารณชน อย่างกรณีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนบนรถไฟ พอเธอกลับไปบ้าน คนที่รู้เรื่องนี้ ก็ถามเธอว่า ถูกข่มขืนมากี่ครั้งแล้ว

"ผมมองว่า ผู้หญิงหลายคนที่ถูกกระทำทางเพศ บางทีครอบครัวก็ไม่เข้าใจ เราเคยเจอกรณีคนที่อยากฆ่าตัวตาย ไม่รู้จะพูดกับใคร ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย และกฎหมายไทยก็มีช่องว่างเยอะ ผู้หญิงอายุเกิน 18 ปี ถ้าถูกข่มขืน ทางกฎหมายสามารถไกล่เกลี่ยและยอมความได้ ทำให้ผู้หญิงเสียสิทธิ ซึ่งคนทำงานเครือข่ายด้านนี้มองว่า ไม่ควรยอมความ เพราะคนที่มีอิทธิพลแล้วกระทำผิด มักจะใช้เส้นสายทางกฏหมาย เพื่อให้เกิดการยอมความ ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้"

และอีกสิ่งที่แคลร์อยากจะบอกคนในโลกใบนี้ ก็คือ

"เราจะต้องไม่หยุดพูดเรื่องนี้ ไม่ทำให้เรื่องการข่มขืนเป็นเรื่องเงียบ ไม่ทำให้มันเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป"
.....................................
หมายเหตุ : ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/projectbra /กิจกรรมครั้งนี้ ร่วมจัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมเพศวิถี และเครือข่ายหญิงรักหญิง


""""""""""""""""

บทเรียนจากแคลร์
-เธอต้องใช้เวลาถึง 14 ปี กว่าจะพร้อมและออกมาพูดเรื่องนี้ ตอนอยู่ฝรั่งเศสคิดจะล้มเลิกหลายครั้ง เธอถูกตั้งคำถามมากมาย โดนกล่าวหาว่าเป็นเพราะเธอผิดเองหรือเปล่า แต่สิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจสู้คือความจริง 2 อย่างคือ 1. ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากถูกข่มขืน และ 2. สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเธอ หรือความผิดของผู้หญิงที่ถูกกระทำ

-การพูดเรื่องนี้ ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้ประสบเหตุ รู้สึกปลอดภัยจากการถูกตำหนิ ไม่ควรตั้งคำถามกับเหยื่อ แต่ควรตั้งคำถามกับคนที่ทำ

-ต้องไม่ตั้งคำถามแบบเดิม ๆ ที่มุ่งเน้นไปที่ผู้ถูกกระทำ ควรจะเป็นคำถามว่า “จะช่วยอะไรได้บ้าง”, “ทำอย่างไรจะช่วยให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น”, “ต้องการอะไรบ้าง” คือมีทางเลือกให้เหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการทำแท้ง การกินยา ปัญหา HIV หรืออะไรที่เสี่ยงต่อชีวิตของเหยื่อ ต้องถูกให้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อให้เขาได้เลือกว่าสิ่งไหนที่เขาต้องการ

-เมื่อเจอเหตุการณ์นั้นแล้ว ผู้หญิงคนนั้นต้องให้อภัยตัวเอง อ่อนโยนกับตัวเอง

-ต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกระทำ และต้องมีระบบการช่วยเหลือเยียวยาที่มีความละเอียดอ่อนสำหรับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย


""""""""""""""""""""

เรื่องแบ่งปันจากแคลร์

โรเซตต้า (Rosetta) ถูกข่มขืนจากชาย 3 คน มีตำรวจผ่านมาเห็นเหตุการณ์ และจับคนร้ายได้ หลังเจอกับเรื่องเลวร้าย เธออยากฆ่าตัวตาย แต่เธอเลือกที่จะใช้ศรัทธาและครอบครัวเป็นที่พึ่ง สร้างกำลังใจให้ตัวเอง โดยตัดสินใจพูดเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้ในเคปทาวน์ เพื่อช่วยให้เธอสู้คดี
เธอเลือกที่จะเป็นทนายให้ตัวเอง เล่าเรื่องตัวเอง ในที่สุดเธอชนะ และคนร้ายถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ปัจจุบันเธอแต่งงาน และมีลูก เธอต้องการให้เรื่องราวของเธอถูกเล่าเพื่อเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ เธอเชื่อว่า “ยิ่งเล่ามากเท่าไร ยิ่งเยียวยามากเท่านั้น”
............................

อัลต้า (Alta) ถูกสามีจัดการให้คนแปลกหน้าเข้ามาข่มขืนเธอในห้องนอนแล้วเก็บเงิน ทั้ง ๆ ที่ลูกสาวของพวกเขานอนหลับอยู่ในห้องถัดไป เธอไม่พูดเรื่องนี้นาน 10 ปี เพราะไม่อยากให้ลูกรู้ว่า พ่อของตัวเองทำอะไรลงไป

ในที่สุดตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง และนำไปสู่การจัดตั้งองค์กร APEX เพื่อจัดชุดดูแลผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่เผชิญกับสถานการณ์ถูกทำร้ายทางเพศ โดยในเซ็ทของชุดดูแลประกอบด้วย เสื้อผ้า ชุดชั้นใน อุปกรณ์ทำความสะอาด เตรียมไว้ที่โรงพยาบาล เพื่อให้คนที่ถูกข่มขืนได้ใช้หลังการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล เพราะในกระบวนการสอบสวนจะยึดเสื้อผ้าของเหยื่อทั้งหมด และให้เหยื่ออยู่ในสภาพเปลือย การมีของชุดนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถูกข่มขืน ซึ่งไม่ได้เตรียมการหรือเตรียมของเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า 

............................

มาร์ติน (Martin) ถูกครูข่มขืนตอนอายุ 11 ปี แล้วโดนอีกตอนเป็นหนุ่ม เขาต้องเผชิญกับความสับสนในใจ เพราะด้านหนึ่งก็พึงพอใจ อีกด้านก็รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันผิด เพราะตอนนั้นเขายังเด็กและไม่พร้อมทั้งทางร่างกายและอารมณ์

หลังอายุ 40 ปี มาร์ตินตัดสินใจเปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้เขาเลือกใช้เหล้าเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งเเขามีลูกสาวและไม่ต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก มาร์ตินเลือกทำงานในด้านช่วยให้ผู้ชายที่เคยเผชิญปัญหาแบบเดียวกับเขาได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตัวเอง
.....................