วธ.รับมอบไม้จันทน์หอมใช้จัดสร้างพระโกศ

วธ.รับมอบไม้จันทน์หอมใช้จัดสร้างพระโกศ

วธ.รับมอบไม้จันทน์หอม ใช้จัดสร้างพระโกศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ณ อาคารกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จ.นครปฐม โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้เดินทางมาร่วมพิธีส่งมอบ และรับมอบและคณะผู้บริหาร เป็นผู้ส่งมอบ ไม้จันทน์หอมสำหรับนำไปจัดสร้างพระโกศ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวีระ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้การจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และ สมพระเกียรติยศทุกประการ

 โดย ทส. ได้จัดหาไม้จันทน์หอมสำหรับนำไปจัดสร้างพระโกศจันทน์ และใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยคัดเลือกไม้จันทน์หอม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ท้องที่ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีลักษณะเหมาะสม ยืนต้นตายตามธรรมชาติ เปลาตรง และมีพิธีบวงสรวงไม้จันทน์หอมไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.2559ที่ผ่านมา จากนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการตัดและแปรรูปไม้จันทน์หอม จำนวน 9 ต้น ได้ไม้จันทน์หอมแปรรูป เป็นแผ่น 1,461 แผ่น ปริมาตร 4.57 ลูกบาศก์เมตร เป็นไม้ ท่อนจำนวน 46ท่อน 

ทั้งนี้ ไม้จันทน์หอมที่ส่งมอบเพื่อนำไปจัดสร้าง พระโกศจันทน์และส่วนประกอบอื่นๆ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างส่วนราชการในการดำเนินการตามแบบแผนโบราณราชประเพณี และเพื่อให้สมพระเกียรติยศสูงสุด 

ทั้งนี้ วธ. โดยกรมศิลปากรจะนำไม้จันทน์หอมแปรรูปดังกล่าวไปจัดทำพระโกศจันทน์ และส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งได้ออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว ในการดำเนินการต้องอาศัยช่างหลายประเภท ได้แก่ ช่างโลหะ ดำเนินการจัดสร้างโครงโลหะ ช่างไม้ประณีตแปรรูปไม้จันทน์เป็นรูปลักษณะต่าง ๆ เพื่อใช้ฉลุลวดลาย ช่างโกรกฉลุ โกรกและฉลุลายตามแบบ ช่างประดับลาย นำดอกลายที่สำเร็จแล้วมาประดับกับโครงพระโกศ ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ประณีตและพิถีพิถัน โดยไม้จันทน์นั้นจะใช้เพื่อจัดทำพระโกศ ท่อนฟืน และทำช่อดอกไม้จันทร์ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งการจัดทำพระโกศไม้จันทน์จะเกี่ยวข้องกับหลายกลุ่มงาน  อาทิ ช่างเขียน ช่างไม้ ซึ่งช่างจะมีการทำฉลุลาย นำไปประดิษฐ์กับโลหะ คาดว่าต้องมีการเขียนลาย และฉลุแล้ว ได้ประมาณ 10,000กว่าชิ้น และจะเริ่มดำเนินการทันที 

โดย วธ. จะเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาและประชาชนที่มีฝีมือในงานประณีตศิลป์ งานฉลุลาย มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงของร่วมดำเนินการมายังสำนักช่างสิบหมู่แล้วกว่าร้อยราย คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2560 พร้อมกันนี้จะได้บันทึกองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดสร้างพระโกศจันทน์เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป

 ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดแสดงแบบพระโกศจันทน์ โดยมีการลายกลีบขนุนเทพพนม(แกะสลักเฉพาะเทพ) และแบบลายพุ่มกานบิณฑ์ก้านแย่งมีลายกลางเป็นครุฑ (แกะสลักเฉพาะครุฑ) ในส่วนของฐานรองพระโกศจันทน์ ,แบบลายท่อนฟืนไม้จันทน์ รวมถึงมีแบบช่อไม้จันทน์ 5 แบบ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช