คาดที่ปช.กนง.นัดสุดท้ายยังคงดอกเบี้ยที่1.5%

คาดที่ปช.กนง.นัดสุดท้ายยังคงดอกเบี้ยที่1.5%

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดที่ประชุม กนง. นัดสุดท้ายของปีนี้ ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% รอผลเฟดขึ้นดบ.-การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ในวันที่ 21 ธ.ค. 2559 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง เพื่อรอประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แม้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในการประชุมเดือนธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา จะเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ดี สัญญาณที่สะท้อนว่า เฟดอาจเร่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยในปี 2560 ที่กำลังจะมาถึง ทำให้ประเด็นที่ต้องติดตามของไทยจะอยู่ที่กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่อาจจะมีความอ่อนไหวและผันผวนมากขึ้น เนื่องจากตลาดการเงินทั่วโลก อาจยังคงต้องการเวลาในการซึมซับ และประเมินช่วงเวลาที่ชัดเจนของการขยับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. น่าจะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.50% ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อรอประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดต่อเศรษฐกิจไทยอีกระยะ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. น่าจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากที่ได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากมาตรการของภาครัฐ ทั้งนี้ ประเทศไทยนับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังมีพื้นที่/เครื่องมือผ่อนคลายทางการคลังที่สามารถนำปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที (มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ และช้อปช่วยชาติ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการประชารัฐสร้างไทยให้กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม) เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหนี้สาธารณะของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก (ประมาณ 42-43% ของจีดีพี ต่ำว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี) ประกอบกับตามกฎหมายแล้ว รัฐบาลยังมีพื้นที่ในการกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อไฟแนนซ์การใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยไม่ละเมิดกรอบวินัยทางการคลังอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยในปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. น่าจะยังคงส่งสัญญาณรักษา Policy Space และดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนปรนต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ยังคงมีความเปราะบาง ขณะที่ เงินเฟ้อที่อาจจะขยับขึ้นในปีหน้าจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. ซึ่งยังไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อกนง. มากนัก