ปลดหนี้รถคันแรก หนุนสร้างบ้านโต10%

ปลดหนี้รถคันแรก หนุนสร้างบ้านโต10%

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ประเมินตลาดรับสร้างบ้านปี 60 มีโอกาสโต 10% มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน เหตุการลงทุนรัฐ-หนี้รถคันแรกหมดดันกำลังซื้อบ้าน

ธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นธุรกิจที่เติบโตสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง แม้ปีนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จะยอมรับว่าตลาดทั้งปีติดลบ แต่ในปีหน้ายังมองโลกในแง่ดีว่าตลาดจะฟื้นกลับมาได้ จากรายได้ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ภาระทางการเงินของผู้บริโภคเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน คาดการณ์ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี2560 ว่า จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% มูลค่าตลาดรวมราว 12,000 ล้านบาท จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ(จีดีพี) ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3.4% เป็นผลจากภาครัฐเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสีต่างๆ หลังประมูลเสร็จ จะส่งผลให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก

อีกทั้งปัจจัยบวกจากกำลังซื้อที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากหมดภาระการผ่อนรถคันแรก รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ออกมาสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน เช่น มาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 การกระตุ้นการท่องเที่ยว จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึงภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีพบว่า การปลูกสร้างบ้านเองเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (ไม่ผ่านโครงการจัดสรร) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 45,000-50,000 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจปลูกสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านประมาณ 10,000-11,000ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่ารวม ส่วนที่เหลืออีก80%จะเป็นในส่วนของการว่าจ้างผู้รับเหมาทั่วไป

ปีหน้ายังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยง

อย่างไรก็ดี ภายใต้ปัจจัยบวกต่างๆ คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาวะตลาดรับสร้างบ้าน แต่ต้องยอมรับว่า ปีหน้าตลาดรับสร้างบ้านยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ราคาสินค้าสินค้าทางเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของเกษตรกร และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่ายังคงผันผวน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปริมาณการค้าโลกจะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

นิยมสร้างบ้านราคา 2.5-5 ล้าน

ดังนั้น ธุรกิจรับสร้างบ้านต้องปรับตัวรองรับกับความผันผวน โดยการพัฒนาแบบบ้าน เพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เน้นคุณภาพคู่บริการ เพิ่มคุณค่า และการให้บริการสร้างมูลค่าเพิ่ม (High Valued Service) รวมไปถึงการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้รับเหมาทั่วไปด้วยการบริการครบถ้วน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างต้องรวดเร็ว และสะดวก

จากสัดส่วนของการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านพบว่า 5 เหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกว่าจ้างก่อสร้างบ้าน คือ คุณภาพของงานก่อสร้าง 24.79% ชื่อเสียงของบริษัท 18.22% ราคาก่อสร้าง 18% รูปแบบบ้าน 13.2% และบริการดูแลลูกค้า 12.32% โดยกลุ่มบ้านราคา 2.5-5 ล้านบาทเป็นสัดส่วนใหญ่มากถึง 30%

ตลาดสร้างบ้านปี59หดตัว

สำหรับภาพรวมบ้านสร้างเองในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 44,000 ล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในสมาคม 7,260 ล้านบาท บริษัทรับสร้างบ้านที่ไม่ได้อยู่ในสมาคม 2,860 ล้านบาท และ บริษัทรับเหมา ผู้รับเหมาอิสระ 33,880 ล้านบาท

ขณะที่มูลค่าตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ ด้วยปัจจัยต่างๆที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงหลังของปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปี ทำให้ความต้องการของตลาดทั้งปีหายไปประมาณ 15% มูลค่าตลาดจึงเท่ากับปีก่อน 10,200ล้านบาท จากต้นปีประมาณการว่าตลาดรวมรับสร้างบ้านอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท

ปรับตัวให้ทันพฤติกรรมผู้บริโภค

ขณะที่นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินแนวโน้มตลาดรับสร้างในปีหน้า คาดว่าปริมาณและมูลค่าตลาดยังทรงตัวต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่น - 1 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป ครองส่วนแบ่งตลาดบ้านสร้างเป็นส่วนใหญ่กว่า 80% ของมูลค่าตลาดรวม ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบครบวงจร หรือบริษัทรับสร้างบ้าน จำนวนกว่า 200 รายทั่วประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 20% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3 - 1.4 หมื่นล้านบาท

เนื่องจาก ยังไม่เห็นสัญญาณปัจจัยบวกทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่น ทำให้ยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งบ้านเป็นสินค้าใหญ่ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีมาก

อย่างไรก็ดีภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในรอบ 5 ปีและในปี 2559 พบว่าจากปัจจัยลบที่มีเข้ากระทบเป็นระยะๆ ทำให้ตลาดมีอัตราการเติบโตได้ไม่มาก อย่างที่คาดการณ์ ด้วยสินค้าบ้านมีราคาสูง ไม่ได้ซื้อซ้ำบ่อย หากเปรียบเทียบกับรถยนต์ ที่มีราคาสูงพอกัน แต่มีโอกาสซื้อซ้ำได้มากกว่า

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงให้ทัน ทั้งในด้านการตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยีก่อสร้างตลอดจนการแข่งขันในธุรกิจเดียวกันและธุรกิจใกล้เคียงหรือทดแทนกันได้