'คีรี'ลั่นพร้อมร่วมประมูลรถไฟฟ้าทุกสาย

'คีรี'ลั่นพร้อมร่วมประมูลรถไฟฟ้าทุกสาย

"กลุ่มบีเอสอาร์" ประกาศความพร้อมพัฒนาและให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีชมพู "คีรี" ลั่นพร้อมประมูลทุกโครงการ ยันมีกระแสเงินสดเพียงพอ

กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศความพร้อมพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชี้แจงรายละเอียดถึงความพร้อมหลังชนะการประมูล

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู เป็นการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการก่อสร้างงานโยธา รวมทั้งเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธา ขณะที่บีเอสอาร์ลงทุนก่อสร้างงานโยธาจัดหาระบบรถไฟฟ้า และได้รับสัญญาสัมปทานอายุ 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี) เพื่อดำเนินการจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากิจการเชิงพาณิชย์อื่นๆ ในระบบโดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.)

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบีเอสอาร์มั่นใจว่าการได้รับสัมปทานพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นโอกาสของการสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บีทีเอสบริหารอยู่แล้ว

“คาดว่าเมื่อดำเนินการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบ 3 สาย ทั้งสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีเขียว จะมีผู้โดยสารรวม 1.7-2 ล้านคนต่อวันในปี 2563 ซึ่งจะช่วยลดการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี”

สำหรับร่วมมือระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บีทีเอส กรุ๊ป สัดส่วนหุ้น 75% บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 15% และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 10% โดยเงินลงทุนโครงการทั้งหมดรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านของเงินก่อสร้างงานโยธาแบ่งเป็นสายสีชมพู 20,135 ล้านบาท และสายสีเหลือง 22,354 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันทางการเงินและส่วนของบีทีเอสจะเป็นวงเงินจากการทำกองทุนอินฟราฟันด์ 6 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้

“บริษัทมีความพร้อมที่จะลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากปัจจุบันยังมีกระแสเงินสดเพียงพอ”

โดยเงินลงทุนโครงการแบ่งออกเป็นสายสีชมพู 5.3 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง 5.1 หมื่นล้านบาท รวมสองโครงการประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น แหล่งเงินจะมาจากส่วนทุน 2.8 หมื่นล้านบาท และอีก 7 หมื่นล้านบาท จะอาศัยเงินกู้จากสถาบันทางการเงิน ปัจจุบันเจรจาไว้กับแบงก์หลายราย แต่จะมีเงินอุดหนุนจากรัฐ ในงานโยธา เมื่อลงนามสัญญาแล้วบีเอสอาร์จะต้องวางเงินทุนเบื้องต้น 3.5 พันล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้น และทยอยลงทุนครบ 2.8 หมื่นล้านบาทตามกำหนด

ลั่นพร้อมร่วมประมูลทุกโครงการ

นายคีรี กล่าวอีกว่านอกจากการเข้ามาร่วมประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองแล้ว บีทีเอส กรุ๊ป ยังสนใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่ภาครัฐเตรียมเปิดประมูล ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งตะวันออกและตะวันตก รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-พระโขนง-สะพานพระราม 9 -ท่าพระ) และระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ที่อยู่ในแผนของกรุงเทพมหานคร

“จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าไม่มีปัญหาในส่วนของงบประมาณการลงทุน แต่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญาทีโออาร์อีกครั้ง”

ยันมีกระแสเงินสดเพียงพอ

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการลงทุนเริ่มต้นในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะต้องจัดใช้งบประมาณราว 1.5-2 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง 1 หมื่นล้านบาท และการลงทุนสายสีเขียวเรื่องการวางระบบและขบวนรถอีก 5 พันล้าน-1 หมื่นล้านบาท

แต่จากการประเมินสถานการณ์แล้ว มั่นใจว่าบริษัทมีงบประมาณเพียงพอในการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ปัจจุบันมีกระแสเงินสดอยู่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงวงเงินจากการถือหุ้นบีทีเอสด้วย

คาดหนุนคนใช้บีทีเอสพุ่งเท่าตัว

นายสุรยุทธ กล่าวว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองเปิดให้บริการ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะก่อให้เกิดปริมาณเดินทางทั้งระบบบีทีเอส 1.7-2 ล้านคนต่อวันนั้น ยังจะส่งผลให้รายได้ของบีทีเอสในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอยู่ที่ราว 2.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมของการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่ามีรายได้ประมาณ 1-1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากจำนวนผู้โดยสาร และค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ประกอบกับธุรกิจอื่นๆ เติบโต

เจรจาต่อรองราคารฟม.เสร็จ2เดือน

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์จะหารือกับรฟม.ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองราคาและการพิจารณารายละเอียดต่างๆ ร่วมกันเป็นครั้งแรก หลังจากบีเอสอาร์ชนะการประกวดราคา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน จึงจะได้ข้อสรุป และสามารถลงนามในสัญญาได้ ซึ่งอาจเร็วกว่ากำหนดเดิมที่วางไว้ในเดือนเม.ย.2560

บริษัทมั่นใจว่าจะดำเนินโครงการได้ประสบความสำเร็จ เพราะมีความพร้อมเต็มที่ แต่ รฟม.ต้องส่งมอบพื้นที่ตามแนวเส้นทางการก่อสร้างให้ได้ตามแผนงานที่กำหนด

ในการเจรจาวันที่ 19 ธ.ค.นี้ นอกจากจะมีการต่อรองราคาโครงการแล้ว ยังพูดคุยถึงรายละเอียดสัญญา 3 ที่บริษัทยื่นข้อเสนอเพื่อทำการขยายขอบเขตเส้นทางเดินรถของทั้งสองโครงการออกไปเพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น สายสีชมพู เสนอให้ต่อเส้นทางระยะประมาณ 2.8 กิโลเมตร จากสถานีศรีรัช เข้าไปยังอิมแพค เมืองทองธานี และสายสีเหลืองขยายออกไปอีก 2.6 กิโลเมตร ไปสิ้นสุดสถานีรัชโยธินเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นอกจากนี้ในข้อเสนอที่ทีเอสอาร์ยื่นไปยังจะผลักดันให้มีการใช้บัตรโดยสารใยเดียว สามารถเดินทางได้ทั้ง 3 ระบบรถไฟฟ้าของบีทีเอสอีกด้วย