“FORREST” เก็บธรรมชาติไว้ใน..กาลเวลา

“FORREST” เก็บธรรมชาติไว้ใน..กาลเวลา

นาฬิกาสุดเท่ ดีไซน์กลไกให้สถิตรวมกับ ‘หิน หญ้า ไม้’ สนองใจคนชอบความต่าง หลงรักธรรมชาติ นี่คือแบรนด์ “FORREST” นักเก็บธรรมชาติไว้ในกาลเวลา

นาฬิกาเรียบเก๋ อวดโชว์ความเท่ของงานออกแบบ ที่กล้าใช้วัสดุธรรมชาติ อย่าง หิน หญ้ามอสส์ ไม้ มาดีไซน์เป็นนาฬิกา ประทับแบรนด์ลงบนเข็มบอกเวลา ว่า FORREST”

นี่คือผู้ชนะจาก โครงการ Thai AIM ครั้งที่ 3 โครงการส่งเสริม เอสเอ็มอี ดีไซเนอร์ และนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้มีเวทีแนะนำตัวเองสู่ผู้ซื้อจากทั่วโลก โดยการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) หลังลงสนามเวลามาเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน

“ตอนเริ่มทำธุรกิจนี้ เราไม่ได้มองว่า มีช่องว่างในตลาดให้เล่นหรือเปล่า แต่มองแค่ว่า ถ้าใส่ความเป็นตัวตนของเราลงไปมากพอ ใส่จิตวิญญาณของเราลงไป สินค้าก็จะมีความแตกต่างได้”

คำบอกเล่าจาก “ชวิศ เชษฐชัยยันต์” หนุ่มวัย 28 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟอร์เรสต์สโตร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ FORREST ที่เขาและ เพื่อนดีไซเนอร์ “จุฑามาศ ภัคกิตติรัฐ” วัย 27 ปี ช่วยกันปลุกปั้นขึ้น

นาฬิกาน้องใหม่ เข้ามาในสนาม ณ วันที่มีผู้เล่นอยู่เต็มชายหาด ทั้งนาฬิกาแบรนด์ดัง นาฬิกาหรู นาฬิกาแฟชั่น แม้แต่ “นาฬิกาอินดี้” วิถีเดียวกับพวกเขา ทว่าช่องว่างเล็กๆ ที่ทั้งสองใช้เป็นพื้นที่แจ้งเกิดตัวเอง คือการดีไซน์นาฬิกาในสไตล์ Minimal ที่ดูเรียบง่าย น้อย แต่ให้ผลมาก โดยนำวัสดุธรรมชาติ อย่าง หญ้ามอสส์, หิน Black Tree, หิน Silver Shield หรือไม้อย่าง Copper และ Walnut ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นนาฬิกาสุดชิค

“เราเป็นเจ้าแรกที่ทำนาฬิกามอสส์ ซึ่งยากมาก เพราะมีข้อจำกัดอยู่หลายจุด ด้วยความที่มอสส์เป็นวัสดุธรรมชาติ ที่ปลิวง่าย และมีความหนาประมาณหนึ่ง แต่นาฬิกาเองก็มีข้อจำกัดของการดีไซน์ด้วยเช่นกัน อย่าง ต้องห้ามมีอะไรหล่นลงไปในกลไก โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรที่จะยังคงความรู้สึกของหญ้าอยู่ อัดแน่นจนไม่สามารถปลิวออกมาได้ และบางตามข้อจำกัดของนาฬิกา ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหา จนดีไซน์ออกมาเป็นรูปแบบนี้ได้”

คนหนุ่มบอก ก่อนชูนาฬิกาหญ้ามอสส์ในมือให้ดูเป็นตัวอย่าง ความสวยงามของธรรมชาติ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับนาฬิกา สะท้อนความละเอียดอ่อนในการทำงาน ที่เขาย้ำว่า ให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ในทุกจุด ออกแบบในทุกรายละเอียด และ “คิดมาดีแล้ว” ชนิดที่ลูกค้าไม่ต้องคิดอะไรอีก

วัสดุธรรมชาติ สรรหามาจากทั้งในและต่างประเทศ ใช้การผลิตต่อเซ็ตหลักพันชิ้น ใช้เวลาทำที่ประมาณ 2-3 เดือน โดยพวกเขาจะออกแบบเอง แล้วให้โรงงานประกอบนาฬิกาในไทย เป็นคนเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ ส่วนราคาขาย ไซส์เล็กอยู่ที่ 2,100 บาท ไซส์ใหญ่ขายที่ 3,300 บาท กำหนดราคาในระดับที่คนรักงานดีไซน์จะยังจับต้องได้ ไม่เกินเอื้อม      เป็นเอสเอ็มอีตัวเล็กๆ ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไปแล้วก็หลายแสนบาท เลยไม่ได้มีกำลังที่จะเปิดร้านใหญ่โตตั้งแต่ต้น พวกเขาจึงใช้ช่องทางออนไลน์ แนะนำตัวเองสู่ตลาด ทั้งผ่านเว็บไซต์ www.forreststore.com  และเฟซบุ๊ก Forrest store ปล่อยให้ความสวยเท่ของนาฬิกา และราคาที่น่าซื้อ ดึงดูดความสนใจของผู้คน ให้ถูกใจ กดไลค์แล้วแชร์ จนขยายฐาน “แฟนคลับ” ของ FORREST  ออกไปได้ในวงกว้าง

“ลูกค้าของเรา จะเป็นคนที่ชอบงานออกแบบ และวัสดุจากธรรมชาติ วัยประมาณ 18-30 ต้นๆ เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะราคาไม่ได้ลักชัวรีมาก โดยเราพยายามทำแบรนด์ให้ไปอยู่ในจุดที่อินดี้นิดๆ  แนวๆ หน่อย เพราะคนที่ซื้อของเราจะมีความแนว และมีดีไซน์อยู่นิดๆ อีกกลุ่มก็จะชอบธรรมชาติไปเลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวซะเยอะ”

คนหนุ่มบอกกลุ่มลูกค้า ที่ได้เรียนรู้จากการสังเกตตลาดมาตลอด 3 ปี จากเดิมเริ่มที่ออนไลน์ ปีต่อมาก็เริ่มขายผ่านตัวแทนจำหน่ายไปต่างประเทศ โดยมีเอเชียเป็นตลาดหลัก อย่าง ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และ มาเลเซีย รวมทั้งฝากขายหน้าร้านในไทย เช่นที่ สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามพารากอน, เอ็มโพเรียม, เทอร์มินอล 21 และหอศิลป์

ขณะที่เร็วๆ นี้ ก็กำลังจะมีหน้าร้านของตัวเองครั้งแรกบนพื้นที่ 30 ตรม. ที่ “โชว์ ดีซี” (SHOW DC) โครงการศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร  ย่านพระราม 9

จากวันเริ่มต้น FORREST ทำสินค้าออกมาแค่ประมาณ 100 เรือน วันนี้พวกเขาทำยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนที่ประมาณหลักพันเรือน สัดส่วนส่งออกและขายในประเทศอย่างละครึ่ง จากเพียงนาฬิกา ก็แตกไลน์มามีสินค้า ทั้ง นาฬิกาแขวน และกระเป๋าเงิน โดยยังไม่ทิ้งคอนเซ็ปท์เดิม คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ “หิน หญ้า ไม้”

“ผมว่า จริงๆ แล้ว ทุกคนชอบวัสดุธรรมชาตินะ แต่ปัญหาหลัก คือ ของรีไซเคิล หรือวัสดุธรรมชาติส่วนใหญ่เรียกว่า ไม่สวยพอที่จะเอาออกมาโชว์ได้ อย่างกระเป๋าตังค์ ถ้าเราเอาใบไม้มาใช้ทื่อๆ เลย ก็จะดูไม่พรีเมี่ยมพอ เขาไม่กล้าใช้ เพราะอยากใช้สินค้าที่ดูดี นี่เป็นโจทย์ ที่เราต้องพยายามทำให้วัสดุธรรมชาติดูน่าใช้ และสามารถขายได้ราคาด้วย”

เขาบอกต้นทางของความคิด ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมาได้อย่างวันนี้ แม้เพิ่งลงสนามมาได้ 3 ปี และย้ำตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผู้เล่นในสนามนี้ ไม่ได้น้อยเลยสักนิด

แผนต่อไปของ FORREST คือพัฒนาโปรดักส์ พร้อมๆ กับพัฒนา “จุดขาย” ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งจุดขายที่เป็นสถานที่จำหน่าย และจุดของความเป็นแบรนด์ FORREST โดยจะสื่อสารแบรนด์ออกไปในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ผ่านทางออนไลน์ คลิปวิดีโอ และหน้าร้านที่กำลังจะเปิดใหม่ โดยมีเป้าหมายลึกๆ เต็มหัวใจ คืออยากเป็นแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก

“อยากให้แบรนด์ของเราใหญ่ขึ้น และมีชื่อเสียงในระดับโลก มีช็อปของเราเองในต่างประเทศ และมีตัวแทนจำหน่ายนำสินค้าของเราไปพัฒนาต่อในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างชื่อของ FORREST ออกไปในวงกว้าง”

ด้าน “กิตติรัตน์ ปิติพานิช” รองผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC บอกเราว่า วันนี้ผู้ประกอบการไทย มีความเข้าใจเรื่องการออกแบบมากขึ้น หาความรู้ ทำการบ้าน และเข้าใจเทรนด์ของโลกมากขึ้น กล้าลงทุน เพราะรู้ว่าวันนี้การสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรม เป็นเอกลักษณ์ สำคัญมากกับธุรกิจ ที่จะฉีกตัวเองออกจากตลาดได้

“วันนี้การออกแบบเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการต้องไม่กลัว และหาความร่วมมือ เพราะแน่นอนว่า เราคงไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง ซึ่งยุคนี้มีแพลทฟอร์มให้ใช้ และมีคนที่พร้อมช่วยเหลือเราเยอะแยะไปหมด แต่ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเงิน แต่อยู่ที่เราไม่มีไอเดียที่ดีๆ มากกว่า ฉะนั้นถ้าคุณมีไอเดียดี ไม่ต้องกลัว อย่างไรก็สู้ได้” เขาย้ำในตอนท้าย

เพื่อเป็นเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจากต้นทางความ “ครีเอทีฟ” สู่ธุรกิจที่แข็งแกร่งในตลาดโลก

            ....................................................................

Key to success

สูตรสร้างความต่าง ฉบับ “FORREST”

๐ ใช้ธรรมชาติ หิน หญ้า ไม้ มาดีไซน์เป็นนาฬิกา

๐ ชูความอินดี้ สไตล์ Minimal ดึงใจเหล่าสาวก

๐ ใส่ใจทุกรายละเอียดในการออกแบบ

๐ ใช้ช่องทางออนไลน์ กระจายความรู้จักรวดเร็ว

๐  พัฒนาโปรดักส์ และจุดขาย ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

๐ สร้างแบรนด์ ต้องทำส่งออก จะได้ไม่เสียเปล่า

๐ ทำตลาดไทยให้แกร่ง เพื่อเป็นฐานบุกตลาดโลก