“หงษ์ทองนาหยอด” สูตร ‘วิน-วิน’ โรงสีข้าวและชาวนา

“หงษ์ทองนาหยอด” สูตร ‘วิน-วิน’ โรงสีข้าวและชาวนา

ในอดีตโรงสีข้าวและชาวนาเหมือนอยู่กันคนละขั้วแต่โครงการหงษ์ทองนาหยอดกำลังเปลี่ยนภาพนั้น ด้วยโมเดลที่จะ "วินร่วมกัน" ทั้งโรงสีข้าวและชาวนา

บรรยากาศคึกคัก ณ ลานหน้า บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด จ.นนทบุรี เจ้าของแบรนด์ “ข้าวหงษ์ทอง” ระหว่างจัดโครงการ “ชาวนนท์ ช่วยชาวนา” โดยเปิดพื้นที่ให้ชาวนาไทย 15 ราย ใน 6 จังหวัด ได้มาใช้พื้นที่ขายข้าว เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สะท้อนสัมพันธภาพระหว่าง “โรงสีข้าว” และ “ชาวนา” ที่แม้ไม่ได้มีพันธะสัญญากันในทางธุรกิจ แต่เป็นมิตรที่ดีต่อกันได้   

บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง เป็นธุรกิจข้าวเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองไทยมาเกือบ 80 ปี (ก่อตั้ง พ.ศ. 2480) พวกเขานำพาแบรนด์ “หงษ์ทอง” ไปเฉิดฉายทั้งในไทยและต่างประเทศ รับซื้อข้าวจากชาวนา สูงถึงปีละกว่า 4 แสนตัน สำหรับการทำธุรกิจ  “ชาวนา” นับได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของพวกเขา

“ถือเป็นนโนบายมาตั้งแต่รุ่น 1 แล้ว ที่บอกว่า เวลาเราจะดื่มน้ำ ก็ต้องรู้ว่าน้ำมาจากไหน ต้องรู้ต้นตอที่มา ซึ่งอุตสาหกรรมข้าวก็เช่นกัน ถ้าไม่มีเกษตรกร เราก็คงไม่มีอาชีพนี้ ฉะนั้นต้องไล่กลับไปที่เกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำ โดยเราต้องดูแลเขาให้ดี เพราะถ้าเขาอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้”

“โสพรรณ มานะธัญญา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจเนอเรชั่น 3 ของข้าวหงษ์ทอง บอกปรัชญาการทำธุรกิจที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นแรก

นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาลงไปทำ “โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบริสุทธิ์ ในปี 2552 เพื่อรักษาศักยภาพข้าวหอมมะลิไทย โดยการปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ดียิ่งขึ้น จนได้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ที่ทำได้ 99.7 จากนั้นก็นำไปให้ชาวนาปลูก ใน “โครงการหงษ์ทองนาหยอด” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ที่ ต.โพนข่า จ.ศรีสะเกษ

การทำนาหยอดแบบแห้ง เป็นวิธีปลูกข้าวแบบใหม่ ที่พวกเขาว่า ดีกว่าการปลูกแบบหว่านอยู่เยอะมาก ตั้งแต่ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยลง จากนาหว่านใช้ไร่ละ 25-35 กิโลกรัม นาหยอดเหลือเพียง 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 18% เพิ่มผลผลิตได้ถึง 24% กำไรโดยเฉลี่ยตก ไร่ละ 3-4 พันบาท จากปีแรกมีชาวนาเข้าโครงการเพียง 53 ราย พื้นที่ 573 ไร่ พอปี 2559  มีสมาชิกเพิ่มเป็น 744 ราย ขยายพื้นที่ปลูกทั้งศรีสะเกษและอุบลราชธานี เป็นกว่าหมื่นไร่

“เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาหยอด จะไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ให้เขาต้องขายผลผลิตให้กับหงษ์ทอง แต่ถ้าเกษตรกรนำมาขายให้ ทางบริษัทก็ยินดีรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาด กิโลกรัมละ 50 สตางค์ นอกจากนี้เรายังสอนให้เขาทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้จักต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเอง โดยถ้าเขาทำจะให้อีก 2.30 บาท มาจากทำนาหยอด 50 สตางค์ ถอนหญ้า ถอนสิ่งหลอมปนให้ 50 สตางค์ ใส่ปุ๋ยน้อยกว่าที่เคยใส่ ให้ 50 สตางค์ ตรวจคุณภาพดินให้ 50 สตางค์ และทำบัญชีครัวเรือนก็ให้อีก 30 สตางค์ เป็นมาตรการจูงใจแก่เขา”

คำบอกเล่าจาก “ดร.มนัส ชูผกา” ผู้จัดการอาวุโสทั่วไป สายบริหารทรัพยากรมนุษย์และองค์กร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด อธิบายถึงวิธีการที่พวกเขาลงไปจูงใจเกษตรกร โดยใช้เม็ดเงินที่ต้อง “ออกให้ก่อน” กับค่าอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายช่วยชาวนา สูงถึงกว่า 14 ล้านบาท และยังใช้กำลังคนลงไปดูแลอย่างใกล้ชิด ถามว่า แล้วบริษัทจะได้อะไร? 

“หนึ่งเลยตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทยมีปัญหาเรื่องพันธุ์ปลอมปน ซึ่งส่งผลถึงเศรษฐกิจประเทศ เพราะถ้าข้าวมีปัญหา ราคาข้าวก็แย่ เมื่อเราเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ข้าวที่มาจากแปลงสมาชิกเราบริสุทธิ์ 100% ไม่มีพันธุ์อื่นผสม ฉะนั้นโรงสีก็ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องมาเสียเวลาคัด กระบวนการนี้ เราเองก็ลดต้นทุน นั่นคือเหตุผลที่เรากล้าซื้อแพงกว่าคนอื่น มองว่า วิธีการนี้ วินกับทั้งเกษตรกร และโรงสี” เขาให้คำตอบ

ก่อนย้ำว่า ถ้าโรงสีอื่นสามารถใช้โมเดลเดียวกันนี้ได้ ปัญหาระหว่างชาวนาและโรงสีจะหมดไปทันที กลายเป็นคนขั้วเดียวกัน ที่จะทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยโตไปทั้งห่วงโซ่ และชาวนาไทยจะได้หลุดพ้นกับดักความจนได้จริงๆ เสียที

“สมัยก่อนชาวนาจะขายนาทิ้งไปเรื่อยๆ เพราะทำนาได้ปีละไม่กี่หมื่นบาท แต่เขาขายนาสัก 10 ไร่ ได้เงินมา 2 ล้านบาท เขาคิดว่าถ้ายังทำนาแบบเดิมอยู่อาจใช้เวลาเป็น 50 ปี เลยขายดีกว่า แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะเขาได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการทำนา แถมยังมีการปลูกพืชหลังนาอีก ฉะนั้นเขาไม่ต้องขายนาแล้ว” เขาบอกผลลัพธ์

การเป็นทีมเดียวกันของโรงสีข้าวและชาวนา ไม่ได้เอื้อเพียงธุรกิจขนาดใหญ่ แม้แต่กิจการเล็กๆ ของกลุ่มเกษตรกรก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยโมเดลนี้ ดูตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกร จังหวัดชัยนาท เจ้าของแบรนด์ “รุ่งเรืองเบอรี่” (RRB) ข้าวไรซ์เบอรี่ ปลอดสารพิษ

โดย “ณัฐพงษ์ พลอยศรี” ตัวแทนเกษตรกร รุ่งเรืองเบอรี่ หนึ่งในชาวนาไทยที่มาใช้พื้นที่ลานหงษ์ทองจำหน่ายสินค้าของตัวเอง เล่าให้เราฟังว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ชาวนาอินทรีย์จำนวน 30 รายใน จ.ชัยนาท ได้รวมกลุ่มกัน ด้วยความร่วมมือจากโรงสีในชุมชน บริษัท วงษ์ชัย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยโรงสีรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่แพงกว่าท้องตลาด ร่วมพัฒนาแบรนด์สินค้าไปด้วยกัน ใช้พื้นที่ในโรงสีแพคสินค้า และจ่ายค่าแรงให้กับชาวนา ทำให้ในวันที่ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาทั่วไทยประสบวิกฤติหนัก แต่กลุ่มเกษตรกรตัวเล็กๆ อย่างพวกเขา กลับยังอยู่ได้อย่างแฮปปี้ 

“ในช่วงที่ชาวนาคนอื่นลำบาก แต่ชาวนาเรายังสบาย หลังปรับตัวมาได้สองปี โดยได้โรงสีเข้ามาช่วย อดีตเราต่างคนต่างขาย แต่ตอนนี้เราได้เต็มๆ ซึ่งถ้าชาวนารวมตัวกันได้ และมีโรงสีที่เป็นธรรม ก็ช่วยแก้วิกฤติชาวนาได้” เขาบอก

วันนี้ธุรกิจข้าวหงษ์ทอง เดินมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว โดยที่คนรุ่น 3 เริ่มปล่อยวางมือ เพื่อให้ทายาทรุ่นใหม่ได้มีบทบาทในองค์กรมากขึ้น ระหว่างทางของการโตไปพร้อมกับชาวนา เรายังได้เห็นธุรกิจที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง จากเพียงทำข้าวถุง วันนี้หงษ์ทองมีทั้ง ข้าวพร้อมรับประทาน (Ready Rice) เครื่องดื่มจากข้าวตรา Frezfill และเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน (Energy Drink) ตรา Enere ที่ใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวสายพันธุ์คุณภาพจากประเทศไทย

“กัมปนาท มานะธัญญา” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด หนึ่งในทายาทรุ่น 4 ข้าวหงษ์ทอง บอกเราว่า ยังอยากให้ธุรกิจของครอบครัวเติบโตขึ้น และมีแบรนด์เป็นที่รู้และยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก โดยที่พวกเขาจะยังรักษารากฐานที่ดีของธุรกิจไว้ ไม่ให้เลือนหายไปจากหงษ์ทอง

“ผมถูกสอนมาตลอดว่า ทำธุรกิจเราต้องซื่อสัตย์สุจริต ถ้าตกลงกับใครไว้แล้ว ก็ต้องทำให้ได้ ทั้งๆ ที่อาจทำให้เราขาดทุน หรืออย่างไรก็ตาม เพราะเป็นความซื่อสัตย์ เป็นความรับผิดชอบ ที่เราจำเป็นต้องทำ ในเมื่อสัญญากับเขาไว้แล้ว”

และหัวใจเดียวกันนี้ก็คือ “สูตรยั่งยืน” ที่รักษาธุรกิจมาได้นานถึง 8 ทศวรรษ ยืนหยัดเป็นโรงสี ที่จะ “วิน” ไปพร้อมกับชาวนาไทยเช่นนี้