วธ.จัดทำจดหมายเหตุแล้วเสร็จ3ชุด

วธ.จัดทำจดหมายเหตุแล้วเสร็จ3ชุด

วธ.เดินหน้าจัดทำจดหมายเหตุฉบับประชาชน แล้วเสร็จ 3 ชุด พร้อมฝากช่างภาพอาชีพ อิสระ จิตอาสาส่งภาพพร้อมรายละเอียดอย่าตกแต่งภาพจนเกินจริง

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แถลงข่าว “รวมพลังบันทึกจดหมายเหตุแห่งชาติ เนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วยนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดวธ. และผู้บริหารวธ. รวมทั้งช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพจิตอาสาเข้าร่วม

นายวีระ กล่าวว่าหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ วธ. ดำเนินการรวบรวมภาพเหตุการณ์เนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัด และต่างประเทศ รวมถึงถ้อยคำประพันธ์ต่างๆ คำถวายอาลัย เพื่อจัดทำจดหมายเหตุฉบับราชการและจดหมายเหตุฉบับประชาชน เนื่องจากจดหมายเหตุถือเป็นเอกสารสำคัญของชาติที่ใช้บันทึกข้อมูลและภาพเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้สำหรับบอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตและให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ โดย วธ.ได้ประสานกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย สมาคมช่างภาพแห่งประเทศไทย สมาคมช่างภาพกรุงเทพ กลุ่มสหภาพ ศิลปินแห่งชาติด้านการถ่ายภาพและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 รวมถึงเปิดรับสมัครช่างภาพจิตอาสาซึ่งขณะนี้มีช่างภาพที่จะทำหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทั้งหมด 480 คน แบ่งเป็น 1.ช่างภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 60 คน 2.ช่างภาพที่เป็นเครือข่ายของศิลปินแห่งชาติในภูมิภาคต่างๆ 300 คน และ 3.ช่างภาพมืออาชีพ ซึ่งเป็นการรวบรวมช่างภาพจิตอาสา 120 คน นอกจากนี้ยังมีประชาชน นักเรียน นักศึกษาและหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ส่งภาพถ่ายมายังสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อรวบรวมจัดทำจดหมายเหตุด้วย

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับจดหมายเหตุฉบับประชาชน ที่วธ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการรวบรวมภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานพระบรมศพ ขณะนี้วธ.ได้ดำเนินการจัดทำประมวลภาพเหตุการณ์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือจดหมายเหตุฉบับประชาชน แล้วเสร็จจำนวน3 ชุด จำนวนชุดละ 10,000 เล่ม โดยเล่มหนึ่งมีประมาณ 200 กว่าหน้า โดยแต่ละชุดมีทั้งหมด 3 เล่มแบ่งเป็นเล่มที่ 1 เหตุการณ์ในส่วนกลาง เล่มที่ 2 ภาพเหตุการณ์ในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดและเล่มที่ 3 ภาพเหตุการณ์นานาอารยะประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.เป็นต้นมา มีประชาชน รวมถึงช่างภาพมืออาชีพและช่างภาพ จิตอาสา ส่งภาพถ่ายเหตุการณ์มายังวธ.แล้วกว่า 40,000 ภาพ และได้จัดส่งภาพจำนวนดังกล่าวให้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกภาพเพื่อใช้ในการจัดทำจดหมายเหตุแล้ว

ขณะเดียวกัน วธ.คัดเลือกภาพถ่ายจากจำนวนดังกล่าวมาจัดนิทรรศการ“ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์”ช่วงที่ 1 วันที่ 28 ต.ค.ถึง 30 พ.ย. 2559ที่ผ่านมา และคัดเลือกภาพถ่ายจำนวน 189 ภาพมาจัดนิทรรศการดังกล่าวช่วงที่2วันที่ 6 ธ.ค. 2559 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2560และได้เผยแพร่ภาพถ่ายเหตุการณ์งานพระบรมศพฯ ไปสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ไปยังภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคเอกชนจัดที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 19–30 พ.ย. 2559 นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาค จะนำไปจัดแสดงยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชมภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ จังหวัดแรกที่จะไปจัดแสดง คือ จังหวัดลพบุรี จะจัดระหว่างวันที่ 19 ธ.ค.2559 ถึง วันที่ 27 ม.ค. 2560 และยังมีการนำภาพถ่ายไปจัดนิทรรศการในต่างประเทศ อาทิ ราชอาณาจักรภูฏาน ระหว่างวันที่ 8-10 ธ.ค.2559 อีกทั้ง จะมีการรวมรวบบิลบอร์ดที่แต่ละจังหวัดได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมในจดหมายเหตุ

น.ส.นันทกา พลชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวว่าการบันทึกจดหมายเหตุงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการรวบรวมข้อมูลและภาพเหตุการณ์อย่างครบถ้วนมากที่สุดทุกขั้นตอน โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคประชาชนจิตอาสาที่คอยบันทึกภาพเหตุการณ์ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ตั้งแต่วันเสด็จสวรรคตจนถึงวันเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีพระบรมศพ คาดว่าจะยาวนานเป็นปีซึ่งทุกคนก็เต็มใจ ทั้งนี้ สำหรับภาพที่จะส่งเข้ามาให้สำนักหอจดหมายเหตุ ขอให้เป็นภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น โดยสามารถตกแต่งแสงได้บ้างเล็กน้อยแต่ให้คงความเป็นจริงมากที่สุด ที่สำคัญอย่าทำเป็นภาพซีเปียหรือขาวดำโดยเด็ดขาด พร้อมระบุชื่อผู้ถ่าย ส่วนการคัดเลือกที่จะนำมาบันทึกลงจดหมายเหตุนั้นจะเน้นภาพที่เล่าเหตุการณ์ได้ เพราะหากภาพไม่สามารถอธิบายได้เมื่อเวลาผ่านไปภาพก็จะไม่มีคุณค่า

ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนในการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ ดังนี้ 1. การประเมินเหตุการณ์ที่จะบันทึก 2.การศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของเหตุการณ์สำคัญ 3.การเข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกเหตุการณ์ ประกอบด้วย การจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญ การถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้อง การบันทึกข่าวเหตุการณ์ต่างๆ เป็นต้น4.รวบรวมเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทุกสื่อ 5. การเรียบเรียงต้นฉบับเหตุการณ์สำคัญ 6. การตรวจแก้ต้นฉบับ 7 การจัดพิมพ์เผยแพร่ และ8 การจัดหมวดหมู่และจัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้าเอกสารบันทึกและรวบรวมที่ใช้ประกอบการเรียบเรียงต้นฉบับจดหมายเหตุ

ขอบคุณภาพ  http://www.m-culture.go.th/