ทีวีดิจิทัล“หนี้ต่อทุน”พุ่ง ปิดทางกู้-เปิดทุนใหม่ “ฮุบ”

ทีวีดิจิทัล“หนี้ต่อทุน”พุ่ง ปิดทางกู้-เปิดทุนใหม่ “ฮุบ”

ทีวีดิจิทัล “หนี้สินต่อทุนเบ่งบาน” ปรากฎการณ์เปลี่ยนทุนใหม่เขย่าวงการจึงเกิดขึ้น “กูรูหุ้นมีเดีย” หวั่นหนี้แตะยอดดอย 0.40 เท่าในปี 2561

ดีลไม่ธรรมดาก่อนหมดปี 2559 คงต้องยกให้ “สองตระกูลมหาเศรษฐีไทย” ได้แก่ ตระกูลปราสาททองโอสถ และ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่โดดเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนครึ่งหนึ่งของ “ช่องวัน” จากกลุ่มแกรมมี่ และถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นเงิน 1,905 ล้านบาท และ “ช่องอมรินทร์”จากตระกูลอุทกะพันธุ์ วงเงิน 850 ล้านบาท ตามลำดับ

ทว่า ความเหนือชั้นของหนึ่งในสองดีลนี้ต้องยกให้ดีลของ “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” หลัง “ฟันส่วนต่างจากราคาหุ้น” เฉลี่ยหุ้นละ 5.4 บาท เป็นเงิน 1,080 ล้านบาท (คิดจากราคาหุ้นสูงสุด 9.65 บาท ตัวเลขวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา) ทันทีที่ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง หรือ AMARIN ของตระกูลเก่าแก่ “อุทกะพันธุ์” ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 4.25 บาท ให้กลุ่มเจ้าสัวเจริญ 

ส่วนต่างราคาหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นจาก “กลุ่มอุทกะพันธุ์” เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่มี “ส่วนลด”จากราคาตลาดเกินกว่า 10% หลังบล.ธนชาต ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน AMARIN ประเมินมูลค่ายุติธรรมราคาหุ้นอยู่ในช่วง 1.89 - 6.43 บาทต่อหุ้น โดยใช้วิธีประเมินมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ (Discounted Cash Flow) หรือ DCF แทนวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Historical trading price) หลังราคาหุ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีอัตราการหมุนเวียนการซื้อขายต่อวัน (Turnover Ratio per day) ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ว่า ส่วนต่างราคาหุ้นดังกล่าว จะยังเป็นเพียง กำไรทางบัญชี” เพราะผู้ซื้อยังไม่สามารถนำหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดออกมาขายได้ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่หุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะนำออกมาขายได้ในสัดส่วน 25% หลังจากหุ้นเพิ่มทุนซื้อขายครบ 6 เดือน

แต่ “เจ้าสัวเจริญ” ก็ได้โชว์อภินิหารเกมหุ้นให้นักลงทุนได้ยล

ปฏิบัติการณ์เขย่าวงการทีวีดิจิทัลครั้งนี้ ยังวิเคราะห์กันว่า “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” อาจเล็งเห็นศักยภาพจากสินทรัพย์ของ AMARIN เพราะหากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ “ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นกิจการหลักที่สร้างกำไรปีละหลายร้อยล้านบาทให้กับอมรินทร์ โดยมีหัวหนังสือที่ได้รับความนิยมหลายหัว อาทิ นิตยสารบ้านและสวน ,แพรว ,room , Secret ,ชีวจิต ฯลฯ ธุรกิจอาจกลับเข้าสู่ “เสถียรภาพ อีกครั้งในปี2562

นั่นหมายความว่า การเข้าซื้อธุรกิจสื่อในยามฝุ่นตลบเช่นนี้ เป็นการ “ช้อปของถูก” เพื่อซื้ออนาคตก็เป็นได้ แต่หากเดาทางผิด เงินไม่ถึงพันล้านที่ลงไปกับปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ ย่อมไม่ทำให้เจ้าสัวแสนล้าน “สะเทือนหน้าตัก” 

ขณะที่บางกระแส วิเคราะห์ว่า การเข้าสู่ธุรกิจสื่อของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ อาจเป็นการเปิดทางให้ นักบริหารสื่ออาวุโสในวัยเกษียณ” ที่มีความสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน จริงเท็จอย่างไร ต้องติดตาม 

ส่วนกรณีของ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถทายาทนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (ปรมาภรณ์คือผู้ถือหุ้นอันดับ 5 ในบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ สัดส่วน 3.37% ขณะที่นายแพทย์ปราเสริฐ ผู้พ่อ ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน18.26%) เข้าลงทุนใน บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แม้จะเป็นการซื้อสินทรัพย์ในราคาสูงกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับการลงทุนของ “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” 

แต่การได้ครอบครองหุ้น 50% ในช่องทีวีดิจิทัลที่มีเรตติ้งอันดับ 5 อย่างช่องวัน ด้วยเงินลงทุนไม่ถึงสองพันล้าน อาจเป็นตัวเลขที่ “คุ้มค่า” เมื่อเทียบกับจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่ปัจจุบันมีมากถึง 21 ช่องใหม่ เรตติ้งติดอันดับ 1 ใน 10 นับว่าไม่ขี้เหร่ 

ทว่า การเปลี่ยนกลุ่มทุนของแวดวงทีวีดิจิทัลครั้งนี้สะท้อนได้ว่า บรรดาผู้เล่นหน้าใหม่กำลังเผชิญกับปัญหา “สายป่านการเงินสั้น” เพราะการลงทุนในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหล่าผู้เล่นต่างกู้เงินแบงก์มาจ่ายค่าใบอนุญาต และค่าผลิตรายการ จนเป็นเหตุให้ “อัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E” ไต่ระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ AMARIN ,BEC ,RS ,MONO และ GRAMMY ที่มีตัวเลขอัตรา “หนี้สินต่อทุน” ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ที่ผ่านมา ระดับ 4.32 เท่า 1.09 เท่า 2.97 เท่า 1.18 เท่า และ 3.79 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีอัตราหนี้สินต่อทุน 1.84 เท่า 0.97 เท่า 1.77 เท่า 0.93 เท่า และ 3.79 เท่า ตามลำดับ

สัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ขยับขึ้น บ่งชี้ได้ว่า “สถานะเงินสดสุทธิ ของผู้ประกอบการธุรกิจมีเดีย กำลังเปลี่ยนเป็น “สถานะหนี้สุทธิ” อาจสร้างความหนักใจให้กับ “3 แบงก์หลัก” ได้แก่ แบงก์กรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงศรีอยุธยา ที่ปล่อยเงินกู้ในธุรกิจทีวีดิจิทัล ทั้งหนี้เดิมและการปล่อยกู้ใหม่ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ

กิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า สถานะทางการเงินที่ยากลำบากของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะยังคงมีต่อไปอีกหลายปี ตราบใดที่การแข่งขันในธุรกิจนี้ยังรุนแรง และเงินโฆษณาถูกกระจายตัวไปในหลากหลายสื่อ บวกต้นทุนการผลิตที่สูง ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขอัตราหนี้สินต่อทุนโดยรวมของกลุ่มทีวีดิจิทัลอาจไต่ระดับขึ้นสู่ “จุดสุงสุด” 0.40 เท่าในปี 2561

แม้ผู้เล่นหลายรายจะมีรายได้หลักจากธุรกิจเดิมก่อนกระโจนสู่สังเวียนทีวีดิจิทัล จะมีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่อาจทดแทนผลขาดทุนจากธุรกิจทีวีดิจิทัลได้ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านการเงินในปีหน้า ยิ่งอัตราหนี้สินต่อทุนของแต่รายสูงขึ้นต่อเนื่อง โอกาสกู้เงินเพิ่มยิ่งเป็นไปได้ยาก 

เขายังวิเคราะห์ว่า ความยากลำบากของธุรกิจทีวีดิจิทัล ไม่แปลกที่จะทำให้ผู้เล่นหลายรายจำเป็นต้อง “แก้เกม” ในหลายแนวทาง อาทิ ช่องทุนหนาอย่าง PPTV ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่หาพันธมิตรที่มีจุดแข็งด้านคอนเทนต์มาเสริมทัพ หลายปีที่ผ่านมาจะเห็นช่อง PPTV มีความพยายามดันเรตติ้ง ด้วยการทำละครเป็นของตัวเอง แต่ดูเหมือนจะยังไม่เข้าเป้า 

ฉะนั้นการที่ทายาทของนายแพทย์ปราเสริฐ เศรษฐีหุ้นอันดับ1ของเมืองไทย จะโดดเข้าไปถือหุ้นช่องวันน่าจะช่วย “ปิดจุดอ่อน” ได้ไม่มากก็น้อย โดยอาจเห็นการทำงานร่วมกัน (Synergy) ระหว่างช่องมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน เช่น ส่งต่อบุคลากร นักแสดง หรืออุปกรณ์การทำงาน เป็นต้น 

แม้ PPTV จะมีฐานแข็งแรง แต่ลำดับเรตติ้งยังทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง หากไม่มีคอนเทนต์ที่ดีมาช่วย การไต่อันดับดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลังการเข้าถือหุ้นช่องวันคงเห็นการเปลี่ยนแปลงในปีหน้าชัดเจน” 

ขณะที่โบรกเกอร์รายหนึ่ง ยังคลายข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดกลุ่มแกรมมี่ และถกลเกียรติ วีรวรรณ จึงเปิดทางดึงเพื่อนใหม่เสริมพลัง ทั้งๆที่ช่องวันมีเรตติ้งที่ดี นั่นอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาช่องวันใช้กระแสเงินสดในการผลิตละครไปแล้วค่อนข้างมากเฉลี่ยตอนละ 1.5-3 ล้านบาท (ต้นทุนในการผลิตรายการวาไรตี้ของช่องขนาดใหญ่ทตกตอนละ 5-7 แสนบาท) 

ขณะเดียวกันการที่เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้าเป้า ทำให้ฐานะทางการเงินไม่ขยับตามแผน ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา “สองกลุ่มทุนใหญ่ของช่อง” (แกรมมี่และถกลเกียรติ) ใส่เงินลงทุนไปแล้วค่อนข้างมาก หากต้องควักเงินอีกคงไม่ไหว ฉะนั้นการยอมเฉือนหุ้นออก น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหากยังขาดทุนต่อเนื่องตัวเลขขาดทุนคงเกินมูลค่าการลงทุน 

ขณะที่มุมมองต่อการลงทุนของกลุ่มเจ้าสัวเจริญในครั้งนี้ อาจไม่ได้คาดหวังตัวเลขทางการเงินมากนัก เพราะธุรกิจทีวีดิจิทัลยังคงตกอยู่ในสภาพไม่สดใส ขณะเดียวกันยังมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเฉลี่ย 3,403.74 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินระยะยาว 1,516.77 ล้านบาท และหนี้สินระยะสั้นและเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 1,886.97 ล้านบาท (30 ก.ย.2559 AMARIN มีตัวเลขอัตราหนี้สินต่อทุน 4.32 เท่า) ฉะนั้นดีลนี้อาจเกิดขึ้นเพียงเพราะต้องการช่วยเหลือกันก็เป็นได้ 

ทว่า การมีสื่อในมืออย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งในการโฆษณาสินค้าในเครือของตัวเอง

หากพิจารณาดีๆ การใช้เงินลงทุนเพียง 850 ล้านบาท เพื่อได้เป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการลงทุนที่ไม่มาก เพราะ AMARIN ถือเป็นองค์กรเก่าแก่ที่มีสินทรัพย์สร้างเงินหลากหลายประเภท

สินทรัพย์เด่นๆ ต้องยกให้หนังสือชั้นนำที่มีอยู่หลากหลายประเภท รวมถึงอีเวนท์ระดับประเทศอย่าง “บ้านและสวนแฟร์” ที่มีแฟนคลับเข้ามาดูงานหนาแน่นทุกปี โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจปกติ ยิ่งศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคทำส่วนต่อขยาย ยิ่งทำให้จำนวนร้านในงานแฟร์ขยายตัวมากขึ้น 

อีกหน่อยสาขาร้านหนังสือ นายอินทร์อาจไม่ได้ทำหน้าที่เพียงวางขายหนังสือและนิตยสารชั้นนำเท่านั้น แต่เจ้าสัวเจริญอาจใช้ประโยชน์จากร้านหนังสือในการขายสินค้าประเภทอื่น หรือจับร้านหน้าสือ ASIA BOOK และนายอินทร์มาทำงานร่วมกันก็เป็นได้” 

“กูรูหุ้นมีเดีย” แสดงความเห็นทิ้งท้ายให้คิดต่อว่า ปีหน้าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องหาเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ฉะนั้นหากผู้เล่นรายใดที่มีสถานะการเงินติดลบ ก็ไม่แน่ว่าอาจเห็นใครลุกขึ้นมาจับมือกับพันธมิตรเป็นรายต่อไปก็เป็นได้

“RS ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่อาจต้องมีพันธมิตร หลังเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ต่อเนื่องมาไตรมาส 3 ในตัวเลข 85 ล้านบาท และ 60 ล้านบาท ตามลำดับ