'ธนาคารข้าว' ก้าวย่างมั่นคงทางอาหาร

'ธนาคารข้าว' ก้าวย่างมั่นคงทางอาหาร

จากภาวะวิกฤตของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของอำเภอแม่สะเรียง ธนาคารข้าวที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชดำริไว้ กู้ทั้งวิกฤตข้าวและวิกฤติคน

จากภาวะวิกฤตของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของอำเภอแม่สะเรียง ธนาคารข้าวที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชดำริไว้ กู้ทั้งวิกฤตข้าวพื้นเมืองสูญพันธุ์ และกู้วิกฤตชีวิตชาวแม่สะเรียงด้วย

 

            เสียงประทัดดังระงม เคล้าเสียงโหวกเหวกไล่ตะเพิดผีร้ายด้วยภาษาถิ่น นี่เป็นฉากประจำที่ฉายซ้ำก่อนเริ่มต้นปีใหม่ในทุกปีๆ ของชุมชนบ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยความหมายที่ไม่เพียงขับไล่สิ่งชั่วร้ายในปีเก่าเพื่อต้อนรับปีใหม่ แต่ด้วยความเชื่อว่าฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในปีหน้าต้องมีแต่งอกงาม

            ‘ตะเฆญีย’ ในภาษาละเวือะ (บ้างเรียกลั๊วะ หรือละว้า) เป็นพิธีกรรมไล่ผีร้ายและเลี้ยงผีดีที่มีมาช้านาน คำฝั้น เมืองงาม วัย 58 ปี ผู้เป็นสะมังของหมู่บ้าน (สะมัง คือ ผู้นำประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทำนองเดียวกับมัคนายก) เล่าว่าพิธีนี้เกิดจากความเชื่อว่าหมู่บ้านมีผีคุ้มครอง เวลามีโรคภัยไข้เจ็บ โจรผู้ร้าย แม้กระทั่งการเพาะปลูก ผีดีเหล่านี้จะปกปักรักษาหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข

            “เราทำพิธีตอนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ ช่วงปลายปี ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ คืนก่อนเลี้ยงผีจะมีพิธีการไล่ผี โดยใช้เครื่องเซ่นคือ เหล้า กระดูกสัตว์ใหญ่เผาไฟสามชิ้น ข้าวสาร ฝ้ายสามก้อน ลูกไก่ดำ (ตัวเป็นๆ) ใส่ในกระทงใบตอง แล้วเอามาวางบนสะตวง (ไม้ไผ่สานเป็นกระจาด) ที่บ้านสะมัง แล้วแห่ไปรอบหมู่บ้าน พร้อมกับไล่ให้ผีไม่ดีในหมู่บ้านออกไป”

            สองทุ่มในคืนพิธี ชาวบ้านที่นับถือพุทธรวมตัวกันที่บ้านสะมัง แล้วแห่สะตวงพร้อมเครื่องเซ่นไปตามถนนมืดๆ รอบหมู่บ้าน ตลอดทางสะมังและชาวบ้านจะกล่าวคำไล่ผีร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน ส่วนเด็กๆ และคนหนุ่มวัยคะนองก็ทำหน้าที่จุดประทัดด้วยหวังว่าเสียงดังจะช่วยตะเพิดผีร้ายได้ (แม้แต่คนก็ตกใจแทบวิ่งหนี)

            ในวันรุ่งขึ้นจากพิธีไล่ผีร้าย จะกลายเป็นพิธีเลี้ยงผีดีที่คุ้มครองหมู่บ้านและผลผลิตทางการเกษตร

            พิธีกรรมดังกล่าวอาจเต็มไปด้วยความเชื่อ ทว่าเมื่อมองให้ลึกถึงความหมาย จะพบว่าชาวบ้านป่าแป๋หวังให้เกิดผลดีต่อการดำรงชีวิต นี่ไม่ใช่การไล่จับผีปอบที่มากินตับไตไส้พุง แต่เพื่อเสริมสร้างกำลังใจที่จะทำมาหากินต่อไป

            นอกจากความเชื่อที่เป็นนามธรรม สิ่งสำคัญที่เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางไว้อย่างเป็นรูปธรรม คือ ‘ธนาคารข้าว’ จากอดีตซึ่งธนาคารข้าวแห่งนี้เป็นแห่งแรกของประเทศ ถึงปัจจุบันธนาคารข้าวยังทำหน้าที่บริหารจัดการผลผลิตของชาวบ้านป่าแป๋ได้อย่างสมบูรณ์ มิหนำซ้ำยังสร้างความมั่นคงทางอาหารและสืบเผ่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ได้อีกด้วย

            กมล เครือซุย หัวหน้านักวิจัยพันธุกรรมพืชท้องถิ่น พากลับหลังหันไปเมื่อปี พ.ศ.2548 ทีมวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิเคราะห์กันว่าพืชพันธุ์พื้นเมืองมีโอกาสสูญพันธุ์ ด้วยหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ การรุกคืบอย่างก้าวกระโดดของพืชเชิงเดี่ยว ที่อาจทำให้พันธุกรรมท้องถิ่นถูกลบเลือนไป จนเกิดเป็นการวิจัยเรื่อง ‘การสืบทอดและใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชพื้นบ้านชาวละเวือะบ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน’

            เมื่อตีกรอบเข้ามาที่เรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ยิ่งเห็นเค้าลางแห่งโศกนาฏกรรมบนผืนนาทั้งแบบขั้นบันไดและแบบไร่หมุนเวียน

            “ตอนนั้นปี 2548-2549 มีชนิดพันธุ์อยู่ 7-8 ชนิด ที่ปลูกอยู่ในไร่หมุนเวียน เขาว่าก่อนนี้มีอยู่เป็นสิบชนิด แต่มันหายไปบ้างแล้ว เมื่อถามสาเหตุที่หายก็พบว่ามีหลายสาเหตุ เช่น น้ำฝนไม่ตกตามฤดู เมื่อก่อนฝนตกมากและแน่นอน แต่พอการเปลี่ยนของภูมิอากาศทำให้พันธุ์ข้าวบางพันธุ์ที่ต้องปลูกนานๆ ต้องใช้น้ำเยอะๆ ก็สูญหายไป

            สาเหตุที่สอง อาจเพราะการเคลื่อนย้ายประชากร ลูกหลานย้ายเข้าเมืองหางานทำ ทำให้คนที่เหลืออยู่ไม่มีกำลังพอ ทำให้พันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ ถูกละเลยไป และอีกสาเหตุจากการกิน สังคมบริโภคนิยมที่แห่ไปกินอาหารใหม่ๆ อาหารสำเร็จรูป ทำให้ความสำคัญของข้าวถูกมองข้ามไป”

            หลังจากทราบสาเหตุ คนทุกกลุ่มทั้งในและนอกชุมชน ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา เริ่มจากรวบรวมว่าแท้จริงแล้วข้าวพื้นเมืองมีกี่ชนิด อะไรบ้าง คุณสมบัติเด่นเป็นอย่างไร ปัจจุบันมีอยู่ราว 10 ชนิด เช่น ข้าวสะดือดำ (ภาษาละเวือะว่า ลองละทิง) ต้องกินตอนร้อนๆ พอเย็นแล้วจะแข็ง แต่ข้อดีคือได้เมล็ดข้าวเยอะ คงทนต่อการกลายพันธุ์ ซึ่งแต่ละครอบครัวมีรสนิยมปลูกข้าวไม่เหมือนกัน เรียกกันว่ามีพันธุ์ที่ตัวเองถูกโฉลกกันอยู่แล้ว

            เมื่อปี 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับทราบข้อมูลที่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี มาพบเห็นแล้วนำไปกราบบังคมทูลว่าชาวบ้านป่าแป๋กินอยู่อย่างแร้นแค้น ต้องต้มมันต้มกลอยกินแทนข้าวเพราะชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวไม่ค่อยดี พระองค์ท่านจึงพระราชทานเงินช่วยเหลือมาก้อนแรก 20,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น เบื้องต้นผู้นำชุมชนจึงนำเงินพระราชทานไปซื้อข้าวเปลือกหลายชนิดพันธุ์ เป็นจุดเริ่มต้นของธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย

            ธนาคารข้าวเป็นผู้ควบคุมดูแลการเพาะปลูกของชาวบ้านโดยมีกฎเกณฑ์พอสมควร ตั้งแต่เรื่องที่ดินทำกินไปจนถึงได้ผลผลิตมาแล้วจะจัดการกันอย่างไร สำหรับที่ดินทำกินไม่ใช่ว่าใครคิดจะทำตามใจอย่างไทยแท้นั้นไม่ได้ ธนาคารข้าวต้องรับรู้และอนุญาตก่อน

            หัวหน้านักวิจัยพันธุกรรมพืชท้องถิ่นคนเดิมบอกว่า “ที่ดินที่นี่ต้องผ่านการประชุมก่อนที่ใครจะทำอะไร ที่ดินทำกินเป็นของส่วนรวม ธนาคารข้าวเป็นผู้บริหารจัดการ ที่ดินหนึ่งผืนเราซอยแบ่งให้แต่ละครอบครัวได้ทำกินอย่างเท่าเทียม แต่ก็เฉพาะที่บนดอยนะ เพราะที่นาขั้นบันไดนั้นมีเอกสารสิทธิ์บางส่วน”

            แม้ผลผลิตส่วนมากจะดีงาม แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครัวเรือนจะทำได้ดีเหมือนกันเสมอไป เมื่อเกิดกรณีข้าวไม่พอกิน ธนาคารข้าวมีหน้าที่ทำให้พวกเขาพอกิน

            ประพันธ์ จันทร์ยวง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกธนาคารข้าว อธิบายถึงสถานการณ์ตอนนั้นว่ามีบางครั้งที่ข้าวไม่พอกิน ก็ได้ธนาคารข้าวนี่ละเข้ามารับบทพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยระบบกู้ยืมแบบเดียวกับที่ธนาคารทั่วไปทำ ทว่าที่นี่กู้ยืมกันแบบประโยชน์งอกงามเต็มยุ้งฉางกันเลยทีเดียว โดยธนาคารข้าวนี้ให้กู้ยืมข้าวไปบริโภคหากไม่พอ แล้วนำมาใช้คืนโดยคิดดอกเบี้ยเป็นผลผลิตในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป (ประมาณ 10 ถัง คืนเพิ่ม 2 ถัง)

            หลักเกณฑ์ของธนาคารมีอยู่ว่า ชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างยุ้งข้าวและรวมกลุ่มกันดูแลการจ่ายออกและทวงคืน มีธนาคารข้าวหลายแห่งที่สะสมข้าวได้จนเหลือใช้จึงทูลเกล้าฯ ถวายคืนเพื่อพระราชทานธนาคารอื่นต่อไป

            และอีกบทบาทสำคัญที่ธนาคารข้าวในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีกินไม่หมด ไม่ตกเป็นทาสบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ และที่สำคัญพวกเขาจะมีข้าวพื้นเมืองไว้ปลูกไว้กินตลอดไป คือ ธนาคารข้าวสนับสนุนให้เก็บเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือพืชท้องถิ่นชนิดอื่น

            กมล เล่าว่า บ้านไหนปลูกพันธุ์ไหนก็จะเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็แบ่งปันให้คนอื่น ตัวอย่างเช่น บ้านของกมลปีนี้เมล็ดพันธุ์ไม่สวยก็ขอแบ่งจากอีกบ้านหนึ่ง โดยแจ้งให้เขาเก็บเผื่อไว้ จากเคยเก็บสองถัง ก็ให้เก็บสี่ถัง

            “ตอนปลูกเราก็แอบดูว่าบ้านไหนปลูกได้งามได้สวย เราก็ไปขอจองเมล็ดพันธุ์เขา ปกติเขาก็ใจอ่อนทั้งนั้น เพราะเมล็ดพันธุ์ถือเป็นหัวใจของการเพาะปลูก และเมล็ดพันธุ์นี่คนโบราณเขาห้ามกินนะ เป็นความเชื่อที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางพันธุกรรม เวลาแยกก็ต้องแยกต่างหาก เวลาเก็บก็เก็บต่างหาก บางคนเก็บรวงข้าวสวยๆ ไว้เลย เพื่อความเข้มข้น”

            เมื่อมองกลับมาที่สังคมบริโภคนิยมและทุนนิยม ผู้คนใช้แรงกายและมันสมองเพื่อ ‘ทำมาค้าขาย’ ซึ่งผลลัพธ์ส่วนมากคือได้เงินมาซื้ออาหารกิน และเป็นอย่างนั้นไปตราบนานเท่านาน แต่สำหรับชาวบ้านป่าแป๋ พวกเขาปลูกข้าวเพื่อ ‘ทำมาหากิน’ ผลผลิตที่ดีและพอกินจึงเปรียบเสมือนเส้นชัยของพวกเขาแล้ว แน่นอนว่าการจัดการข้าวอย่างเป็นระบบของธนาคารข้าวเข้ามาช่วยเสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน