'วิลาศ' ชี้จุดบอดร่างพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง

'วิลาศ' ชี้จุดบอดร่างพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง

“วิลาศ" ชี้จุดบอดร่างพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง เอื้อโกงได้ ขอสนช. ทบทวนแก้ไข

นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของรัฐที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ว่า มีหลายเรื่องที่ตนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการยกเว้นให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสนช.เคยทำกฎหมายสองฉบับ คือ พรบ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตขิงทางราชการ และพรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ร่างพรบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ออกมาแทนระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุปี 2535 นั้น แม้มีแนวโน้มจะดี แต่กลับมีปัญหาในหลายส่วนด้วยกัน คือ ในมาตรา 6 วรรคสอง ที่ระบุว่าเพื่อให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเกิดความยืดหยุ่น และมีความคล่องตัวหากรัฐวิสาหกิจใดประสงค์จะจัดให้มีระเบียบ หรือข้อบังคับหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุขึ้นใช้เองก็ให้กระทำได้โดยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามแนวทางของพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ เพราะเป็นการยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจกับมหาวิทยาลัยของรัฐออกระเบียบของตนเองได้ แทนที่จะให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้เหมือนหน่วยงานอื่นๆ

“ที่อ้างว่าเพื่อความคล่องตัว และความยืดหยุ่นไม่ใช่เหตุผลเ พราะผมไม่มั่นใจว่าเพื่อให้งานคล่องตัวหรือโกงคล่องตัว จึงเห็นว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะยกเว้น และยิ่งเมื่อสองวันนี้นายกไปเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลก็พูดว่าคนที่ทุจริตให้แจ้งมาจะเอาเข้าคุก ผมก็เรียนนายกว่าถ้าตรวจที่การประปาเมื่อไหร่อาจต้องสร้างคุกคุกหนึ่ง สำหรับการประปาภูมิภาคไว้ใช้กับผู้บริหารการประปาฯและพวกจึงอยากให้ทำการประปาส่วนภูมิภาคโมเดลมาเป็นตัวอย่างในการจัดการปัญหาทุจริต ผมคิดว่าถ้าไปเอาเรื่องทุจริตในหน่วยงานนี้มาเป็นตัวอย่างการเขียนกฎหมายก็จะได้กฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด”นายวิลาศกล่าว

นายวิลาศ กล่าวต่อไปว่า ยังมีปัญหาในส่วนของมาตรา 7 ที่กำหนดว่าไม่ให้ใช้บังคับกับการจัดซื้อจัดจ้างของสถาบันอุดมศึกษา หรือสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐในส่วนของเงินบริจาคตนถามว่าถ้าเงินบริจาคเข้าไปอยู่ในพ.ร.บ.นี้จะเสียหายตรงไหนเงินบริจาคไม่มีโกงอย่างนั้น หรือทั้งนี้เห็นว่าถ้าจะยกเว้นก็น่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของแต่ถ้าให้เป็นเงินจะต้องอยู่ในร่างกฎหมายนี้นอกจากนี้ยังมีมาตรา 15 ที่เขียนว่าเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ ตนขอถามว่าให้สังเกตการณ์เฉยๆแล้วจะได้อะไรจึงเห็นว่าควรต้องเติมคำว่าขอเอกสารและมีการลงโทษได้หากไม่ให้ความร่วมมือรวมถึงควรมีการแก้ไขในประเด็นที่มีการตั้งคณะกรรมการถึงห้าคณะคือคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ,คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ,คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ,คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องเรียนซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นประธานหนึ่งคณะปลัดกระทรวงเป็นประธานสามคณะและกรรมการหนึ่งคณะและอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการถึงห้าคณะ 

“ผมจึงกังวลว่าสุดท้ายแล้วกรรมการจะตีกันเอง เพราะหน้าที่ซ้ำซ้อน จึงเสนอให้ยุบเหลือแค่สองหรือสามคณะก็พอสุดท้ายที่เห็นว่าร่างกฎหมายยังขาดไปคือควรเขียนให้ประชาชนมีสิทธิขอรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง และมีบทลงโทษในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องประวิงเวลาหรือให้เอกสารไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนดแทนที่จะไปใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบได้เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐในการตรวจสอบ ทั้งนี้มีสิ่งที่ไม่ได้พูดถึงเลยในร่างกฎหมายนี้ คือเรื่องการยื่นหนังสือค้ำประกันผลงานที่เปิดช่องให้เกิดการหากินเนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการยื่นเงินสดเมื่อไม่ได้งานกลับไม่ได้เงินคืนจึงควรเขียนให้ชัดเจนว่าจะต้องคืนเงินหลักประกันให้กับบริษัทเอกชนด้วย ” นายวิลาศ กล่าว