ชาวนาการเมืองในมุมมองต่างชาติ

ชาวนาการเมืองในมุมมองต่างชาติ

นักวิชาการวิพากษ์ชาวนา ยกระดับเป็นผู้ประกอบการคนชั้นกลาง ต่อรอง เรียกร้องจำนำข้าว-ประกันราคา ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ แทบไม่เหลือชาวนายากจนในชนบท

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - 10 ธ.ค.59 คณะรัฐศาสตร์จัดเสวนา "พหุการเมืองของชาวนา" เพื่อวิพากษ์หนังสือเรื่อง ชาวนาการเมืองอำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย เขียนโดย แอนดรู วอล์คเกอร์" ซึ่งเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตชาวนาไทยใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยนายอานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในมุมมองของนักเขียนมองชาวนาหลุดออกจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพียงผู้ปลูกข้าวแต่เป็นผู้จัดการนา มีรายได้ปานกลาง สามารถจ้างลูกจ้างมาทำงานแทน และไม่ผูกติดอยู่กับขั้วอำนาจใด แต่ยังเป็นคู่ตรงข้ามกับอำนาจการเมือง อย่างไรก็ตาม หนังสือนี้ไม่ได้อธิบายให้ชัดว่าผู้ประกอบการชาวนาก่อตัวมาจากโครงการอุดหนุนของรัฐบาลหรือระบบเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้มุมมองในหนังสือยังมองจากแนวคิดการผลิตอย่างเดียว ไม่มีแนวคิดด้านการบริโภคข้อมูลข่าวสาร เพราะชาวนาในปัจจุบันเล่นโซเซียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟน สะท้อนว่านักวิชาการอาจยังตามโลกใหม่ไม่ทัน   

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนจนเป็นคนเสียงข้างน้อยในประเทศ ชาวนาเป็นคนชั้นกลางเศรษฐกิจในชนบทไม่ใช่เพียงการเลี้ยงตัวเอง พึ่งตนเอง หรือเอาตัวรอด ชาวนาไม่จนอีกแล้ว และไม่ได้ปลูกข้าวหรือทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่มีอาชีพหลากหลายมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำใหม่ไม่ใช่ความยากจน แต่คือการไม่รวยเท่าคนอื่น 20-30 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่ารัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องอุ้มชาวนาเพื่อฐานการเมืองและยกระดับผลิตภัณฑ์ ท่าทีของชาวนาต่อรัฐจึงไม่ใช่การหวาดระแวง แต่เขาต้องการเชื่อมต่อกับรัฐและทุน เพื่อขอให้มีโครงการเข้ามาสนับสนุน   

“รัฐศาสตร์กระแสหลักมองที่อำนาจและการรวมศูนย์อำนาจ แต่หนังสือเล่มนี้มองอำนาจเป็นออกซิเจนกระจายอยู่รอบตัว ทุกคนสามารถนำอำนาจมาใช้ผ่านโปรเจคของรัฐ เมื่อเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือเกิดวิกฤตต่างๆ รัฐต้องช่วย ถ้าไม่ช่วยถือว่าเลวมาก ชาวนาไม่ได้ต่อต้านรัฐแต่ต้องการให้รัฐช่วยผลักขึ้นฝั่ง ชาวนาไม่ได้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เขาต้องการนโยบายประกันราคาข้าว จำนำข้าว พื้นที่ทางเท้าตั้งหาบเร่แผงลอย การเมืองของชาวนาคนชั้นกลางเปรียบได้กับจังหวะเต้นของหัวใจ สิ่งที่พวกเขาต้องการได้มาจากม็อบ การเดินขบวนเรียกร้อง และการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งคสช.ไม่อยากให้มีการเมืองแบบนี้” นายเกษียร กล่าว