โฆษณา11เดือนติดลบ 12%เม็ดเงินหาย1.4หมื่นล้าน

โฆษณา11เดือนติดลบ 12%เม็ดเงินหาย1.4หมื่นล้าน

อุตสาหกรรมโฆษณา 11 เดือน มูลค่า 9.8 หมื่นล้าน ติดลบ 12%  เม็ดเงินลดลง  1.4 หมื่นล้านเทียบปีก่อน  เดือนพ.ย.วูบ 42% 

บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด รายงานการใช้งบสื่อโฆษณา 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่ามีมูลค่า 98,314 ล้านบาท ติดลบ 12.49% ขณะที่ปีก่อนมีมูลค่า 112,346 ล้านบาท หรือลดลง 14,032 ล้านบาท

สื่อโฆษณาส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะ “ติดลบ” ประกอบด้วย ทีวีอนาล็อก (ฟรีทีวีรายเดิม) มูลค่า 43,035 ล้านบาท ลดลง 18.93% หรือลดลงเป็นมูลค่า 10,047 ล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 53,082 ล้านบาท

โฆษณาเคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 3,223 ล้านบาท ติดลบ 42.36% มูลค่าลดลง 2,369 ล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 5,592 ล้านบาท ส่วนโฆษณา “ทีวีดิจิทัล” มีมูลค่า 18,652 ล้านบาท ติดลบ 3.93% หรือมูลค่าลดลง 763 ล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 19,415 ล้านบาท

สำหรับสื่อโฆษณาทีวี ทั้ง 3 ประเภท ครองสัดส่วน 66% ของอุตสาหกรรมโฆษณา โดยมีมูลค่าลดลงสูงสุดรวม 13,179 ล้านบาท

ขณะที่สื่อวิทยุ มีมูลค่า 4,766 ล้านบาท ติดลบ 7.73% , หนังสือพิมพ์ มูลค่า 8,892 ล้านบาท ติดลบ 20.11% , นิตยสาร มูลค่า 2,713 ล้านบาท ติดลบ 30.84%

ส่วนสื่อโฆษณาที่ยังเติบโตในช่วง 11 เดือนปีนี้ คือ โฆษณาในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 4,914 ล้านบาท เติบโต 8.43%, ป้ายโฆษณา มูลค่า 5,137 ล้านบาท เติบโต 34% ,สื่อเคลื่อนที่ (transit) มูลค่า 4,768 ล้านบาท เติบโต 16.81% ,สื่ออินสโตร์ (ไม่รวมเทสโก้ โลตัสและบิ๊กซี) มูลค่า 620 ล้านบาท เติบโต 1.14% และสื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 1,595 ล้านบาท เติบโต 63.42%

เดือนพ..ติดลบ42%

สำหรับการใช้งงสื่อโฆษณาเฉพาะเดือน พ.ย.2559 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่า 6,110 ล้านบาท ติดลบ 42% โดยเกือบทุกสื่อ“ติดลบ” ในอัตราสูงต่อเนื่องจากเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการถวายอาลัย 

เม็ดเงินโฆษณาเดือน พ.ย. ประกอบด้วย ทีวีอนาล็อก มูลค่า 2,205 ล้านบาท ติดลบ 55% เคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 195 ล้านบาท ติดลบ 62% ทีวีดิจิทัล มูลค่า 1,025 ล้านบาท ติดลบ 43.24%

ทางด้านโฆษณาวิทยุ มีมูลค่า 337 ล้านบาท ติดลบ 41.49% , หนังสือพิมพ์ มูลค่า 728 ล้านบาท ติดลบ 36% ,นิตยสาร มูลค่า 199 ล้านบาท ติดลบ 45.36% สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 337 ล้านบาท ติดลบ 28% สื่ออินสโตร์ มูลค่า 34 ล้านบาท ติดลบ 2.86%

กลุ่มสื่อที่เติบโต คือ ป้ายโฆษณา มูลค่า 472 ล้านบาท เติบโต 29.32% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 423 ล้านบาท เติบโต 10.16% และสื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 155 ล้านบาท เติบโต 72%

      สำหรับบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรกในช่วง 11 เดือนปีนี้ คือ ยูนิลีเวอร์ มูลค่า 4,307 ล้านบาท ลดลง 3,064 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 7,371 ล้านบาท ,โตโยต้า มอเตอร์ มูลค่า 2,077 ล้านบาท ลดลง 653 ล้านบาท จากปีก่อนมูลค่า 2,730 ล้านบาท , เอไอเอส มูลค่า 1,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134 ล้านบาท จากปีก่อนมูลค่า 1,585 ล้านบาท ,พีแอนด์จี มูลค่า 1,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132 ล้านบาท จากปีก่อนมูลค่า 1,511 ล้านบาท และ ดีแทค มูลค่า 1,493 ล้านบาท ลดลง 68 ล้านบาท จากปีก่อนมูลค่า 1,561 ล้านบาท

ทีวีดาวเทียมทยอยปิด

นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าธุรกิจทีวีดาวเทียมได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง นับจากทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศในปี 2557 จากการแข่งขันเพิ่มขึ้น, กฎการจำกัดเวลาโฆษณา 6 นาทีต่อชั่วโมง ของ กสทช. รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและโฆษณาชะลอตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนช่องทีวีดาวเทียมทยอยปิดตัวต่อเนื่อง จากจำนวน 400 ช่องในปี 2556 ก่อนประมูลทีวีดิจิทัล ปีนี้เหลือประมาณ 100 ช่อง ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสมาคมฯ ราว 50% 

นีลเส็น รายงานงบโฆษณาเคเบิล/ทีวีดาวเทียม ปี 2558 พบว่ามีมูลค่า 6,055 ล้านบาท ติดลบ 16% ช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ ติดลบ 42% เทียบปีก่อน

​     สถานการณ์โฆษณา“สื่อสิ่งพิมพ์” ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร มีทิศทาง “ลดลง”ต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยปี2549 โฆษณาหนังสือพิมพ์ มีมูลค่า 15,400 ล้านบาท ปี2558 อยู่ที่ 12,300 ล้านบาท ขณะที่โฆษณานิตยสาร ปี2549 มีมูลค่า 6,100 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท  พบว่าปีนี้มีนิตยสารประกาศลาแผงราว 10 หัวทั้งไทยและต่างประเทศ

นายปกรณ์ พงศ์วราภา ประธานกรรมการ บริษัทจีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วง 10-20 ปีก่อนมี นิตยสารวางขายบนแผงทั้งหัวนอกและหัวไทยราว 500 หัว ช่วง 2-3 ปีก่อนลดลงเกือบเท่าตัว คือเหลือประมาณ 300 หัวในปัจจุบัน

“ช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ นิตยสารที่ปรับตัวและอยู่รอดได้น่าจะอยู่ที่ราว 50-60 หัว ในกลุ่มผู้นำ 1-3 ของแต่ละเซ็กเมนท์คอนเทนท์"