ปีนเพื่อปาฏิหาริย์แห่งชีวิต

ปีนเพื่อปาฏิหาริย์แห่งชีวิต

ปีนเขาเหนื่อยไหม ปีนเขายากหรือไม่ หากคุณพิการทางการเคลื่อนไหว จะกล้าปีนเขาหรือเปล่า มาดูก้าวสำคัญของน้องๆ ที่ข้ามภูเขาลูกใหญ่ในใจตัวเองได้

ทุกคนย่อมมีบางสิ่งที่ทำแล้วเปลี่ยนชีวิต สำหรับคนที่มีร่างกายแข็งแรง เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะออกไปใช้ชีวิตแล้วค้นพบบางสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจหรือเปลี่ยนแปลงความคิดไปโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดมาในสังคมที่ยังไม่มีความเข้าใจ ในประเทศที่ไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทั้งมวล ถนนหนทาง สะพาน บันได ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคนชรา คนพิการ และคนที่เคลื่อนไหวไม่สมบูรณ์

หากต้องเป็นผู้ดูแลหรือเป็นบุคคลเหล่านั้นเอง คุณจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร

“พ่อแม่ที่มีลูกพิการทางการเคลื่อนไหวยังมีความเข้าใจผิดที่ไม่อยากให้น้องพิการเหนื่อย ลำบาก ไม่ให้พวกเขาออกกำลังกาย นั่นยิ่งเป็นการทำร้ายเขาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ การไม่เคลื่อนไหวทำให้ร่างกายเขายิ่งอ่อนแอ และยังไม่กล้าเข้าสังคม แต่เมื่อได้มาเขาจะได้รู้ว่ายังมีคนที่พร้อมจะเข้าใจ ช่วยเหลือและฝ่าฟันไปด้วยกัน” วอลเตอร์ ลี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ (Zy Movement Foundation) บอก

วอลเตอร์ ลี คุณพ่อของน้องซายผู้เกิดมาแขนขาพิการ มีเพียงแขนซ้ายข้างเดียวที่สมบูรณ์ ครั้งหนึ่งคุณหมอเคยแนะนำให้น้องตัดขาแล้วนั่งรถเข็น แต่วอลเตอร์บอกว่าลูกเขาจะต้องเดินได้ เขาไม่เชื่อว่าภาวะพิการจะทำให้ต้องยอมจำนนและใช้ชีวิตบนรถเข็นตลอดชีวิต เขาเสาะแสวงหาเทคโนโลยีการแพทย์ไปทั่วโลกจนได้พบที่ประเทศเยอรมนี ตอนนี้น้องซายเดินได้ด้วยขาเทียมและใช้ชีวิตเช่นเด็กคนอื่นๆ ทั่วไป

4 ปีหลังจากน้องซายเกิด วอลเตอร์จึงก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อขยายผลของการรักษานี้ไปให้เป็นประโยชน์ต่อผู้พิการคนอื่นๆ อีกมากมาย โดยสร้างเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อผลักดันพ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนให้เด็กๆ เคลื่อนไหว ออกไปใช้ชีวิตของตัวเองอย่างมั่นใจ

ปีนเพื่อเปลี่ยนชีวิต

“ปีนเพื่อเปลี่ยนชีวิต Climb to Change a Life” คือกิจกรรมซึ่งทางมูลนิธิฯ จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กที่พิการทางการเคลื่อนไหวได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง มาทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครหรือแม้แต่ตัวเขาเองคิดว่าจะทำได้ อย่างการปีนเขา และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจอาสาเข้ามาช่วยเหลือ ประคอง อุ้ม แบกขึ้นหลัง พาน้องๆ ปีนขึ้นสู่ยอดเขาอย่างปลอดภัย เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้น้องๆ ได้เข้าสังคมกับผู้อื่นอีกด้วย

กิจกรรมนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ภูกระดึง ในปี 2012 กับน้องพิการไม่ถึง 5 คน 4 ปีกับ 8 ยอดเขาที่ไปปีนกันทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดที่เนินช้างศึก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ปีนี้มีจำนวนน้องๆ ผู้พิการเข้าร่วม 29 คน รวมพ่อแม่ผู้ปกครอง และอาสาสมัครแล้วก็กว่า 200 ชีวิต ที่จะมาพิชิตยอดเขากัน ในวันแรกก็แบ่งกลุ่มทำความรู้จัก ละลายกำแพงระหว่างกัน พร้อมที่จะไปทำภารกิจในเช้าวันที่ 2 ด้วยเป้าหมายที่จะไปดูแสงแรกของวัน ณ ความสูง 1,053 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ก้าวข้ามภูเขาในใจ

“ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นแล้วที่นี่” คำแรกที่ประทีป ทรัพย์เกสร คุณพ่อน้องใบไผ่ พูดออกมาหลังจากได้สัมผัสการพาลูกสาวปีนยอดเขาที่เนินช้างศึกจบลง

“ก่อนหน้านี้พอผมบอกคนอื่นว่าจะพาน้องมาปีนเขา คนก็ว่า ‘ผมประสาท’ ผมถามลูกว่าเขาอยากไปไหม เขาบอกว่าเขาอยากไปมาก เพราะเขาเคยเห็นแต่ในทีวี คืนก่อนที่จะมาเขานอนไม่หลับเลย”

น้องใบไผ่คือหนึ่งในน้องที่พิการทางการเคลื่อนไหวด้วยโรคสมองพิการ (CP - Cerebral Palsy) ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างทางแคบและชัน บางจุดชันถึง 45 องศา คุณพ่อถามน้องใบไผ่ว่า “ไหวไหม สู้ไหม” น้องก็ตอบกลับมาว่า “สู้” ลูกสาวรับคำหนักแน่นอย่างนั้น คุณพ่อก็ฮึกเหิมแล้วตั้งใจไปต่อ เมื่อถึงยอดเนินช้างศึกวิวของเทือกเขาเขียวสุดลูกหูลูกตาและทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งทำให้น้องมีความสุขมาก ส่วนคุณพ่อนั้นกลั้นน้ำตาไว้แทบไม่อยู่

“สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นปาฏิหาริย์เลย เราต่างคนต่างสอนกันและกัน ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญของการเป็นมนุษย์คืออย่าให้ใจคุณพิการ ถ้าใจคุณพิการคุณก็สู้ผมหรือใบไผ่ไม่ได้”

ส่วนน้องหลุยส์ เด็ก CP อีกคนหนึ่งนั้น คืนก่อนที่จะมาร่วมกิจกรรมน้องรู้สึกเครียดและเป็นกังวลอย่างมาก เพราะกลัวว่าจะทำให้พี่อาสาลำบาก เช่นเดียวกับผู้ปกครองซึ่งกังวลเรื่องการเข้าสังคมของเด็กๆ และสิ่งที่ในชีวิตน้องไม่เคยทำเลย แต่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรม ทุกคนก็เรียนรู้ว่าน้องๆ เข้ากับพี่อาสาสมัครได้ดี ตั้งใจปีนเต็มที่ และสิ่งที่ได้กลับไปมากที่สุดคือความเข้มแข็งและกำลังใจจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย

“เป็นก้าวที่สำคัญ ทำให้เขาเปลี่ยนทัศนคติ จากคนที่ไม่กล้า กังวล กลัว ก็ได้รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ กิจกรรมนี้เป็นเหมือนของขวัญซึ่งทุกคนได้รับแล้วจะไม่มีวันลืม เพราะเขาเหนื่อยด้วยตัวเอง สุขด้วยตัวเอง ทั้งเด็ก พ่อแม่ และอาสาสมัคร” วอลเตอร์ ลี เสริม

ไม่เพียงแต่น้องๆ จะได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป เหล่าอาสาสมัครก็เช่นกัน หลายคนมาด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยมที่จะ “ให้” แต่มาถึงพวกเขากลับพบว่าคนที่เป็น “ผู้ให้” คือน้องๆ ผู้พิการต่างหาก

พี่อาสาคนหนึ่งซึ่งดูแลน้องโชกุนและน้องโบนัส เขาเป็นคนชอบเดินป่าจึงเข้าใจความยากดี และเป็นห่วงว่าน้องๆ จะทำไม่ได้ เพราะเช้าวันที่จะปีนนั้น ฝนตกลงมาเป็นเวลานาน ทำให้ทางลื่น เขาจึงร่วมทีมไปสำรวจความปลอดภัยก่อนปีน ก็พบว่าแม้ระยะทางจะยาวเพียง 400 เมตร แต่ด้วยความสูง ชัน และแคบ เขาคิดว่าน้องต้องไม่ไหวแน่ๆ

“ผมถามน้องว่าน้องพร้อมไหม น้องตอบว่าพร้อม ผมเลยคิดขึ้นมาได้ว่า เป็นเพราะน้องไม่มีกำแพงในหัวใจ แต่คนที่มีกำแพงคือผมต่างหาก ผมคิดว่าร่างกายพิการคือพันธนาการ แต่สิ่งที่น้องมีคือหัวใจที่แกร่งกล้า ทุกคนจึงควรยืนข้างๆ น้อง แล้วเดินไปพร้อมกันครับ”

ส่วนหมออีม – ทพญ. นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ หญิงไทยคนแรกผู้พิชิตยอดเอเวอร์เรสต์ ก็มาเป็นอาสาสมัครเพราะอยาก “ให้” หมออีมได้จับคู่กับน้องแมมมอธ

“เราอยากช่วยให้น้องไปถึงยอดเขา อยากทำให้น้องมีความสุข แต่มาจริงๆ แล้วรู้ว่าการเดินขึ้นเขาไปพร้อมกันคือความสุข การเดินคนเดียวมันว่างเปล่า เราคิดจะให้ แต่เรากลับได้มากกว่า เป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่า”

ส่วนคุณพ่อน้องมิกกี้บอกว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนมาแล้ว 2 ครั้ง “เปลี่ยนครั้งแรกคือตอนที่ลูกเป็นแบบนี้ และเปลี่ยนอีกครั้งคือตอนที่เราลุกขึ้นสู้ ไม่ว่าสังคมภายนอกจะมองพวกเราอย่างไร เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเราไม่ไร้น้ำยา”

พลังของการฝ่าฟันบางสิ่งด้วยตัวเองส่งผลประทับลงในใจ การปีนเขาไม่เพียงแต่ได้พิชิตยอด เพื่อขึ้นไปสัมผัสความสวยงามยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แต่ยังเป็นการเอาชนะภูเขาลูกสำคัญในใจของตัวเองอีกด้วย