พ่อแม่สอนลูกให้ ‘เป็นคนดี-มีคุณธรรม’

 พ่อแม่สอนลูกให้ ‘เป็นคนดี-มีคุณธรรม’

นักจิตวิทยาครอบครัวถ่ายทอดเทคนิคการเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีมีศีลธรรม พร้อมหยิบยกผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมาให้เห็นภาพชัดขึ้น

เมื่อถามคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกเล็กๆ ว่าโตขึ้นอยากให้ลูกเป็นอะไร ก็จะได้รับคำตอบที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นคำว่า เป็นอะไรก็ได้ขอแค่เป็นคนดี แล้วความดีนี้สร้างได้ไหม และจะต้องทำอย่างไรกันแน่ คุณธรรมความดีเป็นเรื่องเฉพาะค่ะ แต่ละคนแต่ละครอบครัวมองไม่เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเห็นได้หรือสัมผัสได้เท่านั้น ส่วนการจะทำให้ลูกเล็กค่อยๆ ซึมซับผ่านการอบรมได้อย่างไรนั้น

นักจิตวิทยาจาก Tufts University กล่าวไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนที่ชี้นำ เป็นต้นแบบในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา จริงใจ เป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ลูกน้อยจะได้เรียนรู้และทำตาม ถึงแม้จะยังไม่มีใครรับประกันหรือสร้างความมั่นใจได้ 100% ว่าสิ่งที่ปลูกฝังนั้น ลูกน้อยจะเอาไปใช้จริงๆ แต่ความสงสัยของคุณพ่อคุณแม่ว่า เราจะสามารถปลูกฝังคุณธรรมความดีตั้งแต่เด็กยังเล็กมากๆ หรือไม่ ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจาก University of North Carolina กล่าวไว้ว่า คุณธรรมไม่สามารถเกิดได้ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องค่อยๆ ซึมซับจากวันเป็นปี ปีเป็นหลายๆ ปี ในการสร้างความรับผิดชอบด้านคุณธรรมนั้น เด็กจะต้องมีทั้งความตระหนักทางสติปัญญาและอารมณ์ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด แปลได้ว่า เด็กจะต้องรับรู้ได้ด้วยสมองและจิตใจในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ถ้าสิ่งไม่ดีก็ไม่ควรทำ เพราะสมองและจิตใจเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะทำ เป็นต้น

งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า ความมีคุณธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ขวบเดือนแรกของทารก หรือจะว่าไปแล้วคือเริ่มตั้งแต่เกิดและอยู่ไปจนเสียชีวิตนั่นเอง ดังนั้น ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มต้นปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็ก ดังที่กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมจาก Washington University- St. Louis กล่าวไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่ที่ตอบสนองทันทีต่อการที่เด็กร้องไห้ เป็นการแสดงความมีคุณธรรมให้เด็กเห็นในเบื้องต้น เพราะหลังจากนั้นเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นเมื่อโตขึ้น ความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือ คุณธรรมทางอารมณ์ข้อแรกๆ ที่ควรจะพัฒนา บางครั้งคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่า เด็กที่อายุก่อน 2 ขวบอาจจะยื่นตุ๊กตาหมีให้เพื่อนที่กำลังร้องไห้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เด็กได้รับการปลูกฝังคุณธรรมด้านนี้มาเป็นอย่างดี

ประการสำคัญคือ คุณธรรมที่ว่านี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะความเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเท่านั้น แต่ประกอบด้วยหลายสิ่ง ตัวอย่างที่พบกันได้เสมอๆ คือ การที่เด็กทำร้ายเพื่อน ส่วนวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเป็นสำคัญ ถ้าเด็กอายุ 1 ขวบ คุณแม่อาจจะใช้คำว่า “ไม่ค่ะ” หลังจากนั้นก็พยายามแยกเด็กออกจากสถานการณ์นั้นๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กเริ่มมีความเข้าใจในภาษาแล้ว คุณแม่อาจจะค่อยๆ อธิบายให้มากขึ้น เช่น “บ้านเราไม่ทำร้ายใครนะครับ” ซึ่งเรื่องนี้ จิตแพทย์เด็กจากสมาคมจิตแพทย์สหรัฐกล่าวไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกอยากจะทำร้ายคนอื่นหรือเห็นแนวโน้มว่ากำลังจะทำร้ายคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะหาจุดเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น อาจเรียกไปเล่นด้วย หรือยื่นสิ่งของที่ชอบให้ก็ได้

นักจิตวิทยาจาก Harvard University ทำการวิจัย พบว่า เด็กสามารถพัฒนาระดับของคุณธรรมได้ตั้งแต่เล็กๆ เช่น ระหว่างช่วง 1-2 ขวบ สามารถเข้าใจได้ว่า ครอบครัวมีกฎระเบียบ ซึ่งก็มักจะทำตามเฉพาะตอนที่ผู้ใหญ่อยู่ และเมื่ออายุ 2 ขวบเป็นต้นไป เด็กจะเริ่มทำตามกฎมากขึ้นบ้าง แม้แต่ตอนที่ผู้ใหญ่ไม่อยู่ก็ตาม และถึงแม้ว่าเด็กทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งคุณธรรม แต่ความสามารถนี้ก็สามารถลดน้อยถอยลงไปได้เช่นกันในเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกทำร้าย อีกทั้งความรู้สึกด้านชา เพราะไม่มีใครที่จะแสดงความรักและเป็นห่วงอย่างแท้จริง ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเมื่อโตขึ้น

ในทางกลับกัน การที่คุณพ่อคุณแม่ประคบประหงมลูกมากเกินไป หรือให้เห็นแต่ด้านที่ดีของสังคม แทนที่จะเป็นการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้น กลับกลายทำให้เด็กอยู่กับตนเองและคิดว่าคนอื่นจะต้องมาเข้าใจตนเองเท่านั้น การให้เด็กออกไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ได้พบกับคนที่มีโอกาสมากกว่าและด้อยโอกาสมากกว่าตัวเอง จะทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้น

                  ส่วนหลักการพื้นฐานที่จะสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ที่บ้าน เช่น
1. กำหนดว่าคุณค่าของคนคืออะไร เช่น คนที่ซื่อสัตย์ คนที่ทำงานหนัก คนที่รักครอบครัว คนที่เข้าใจผู้อื่น หรือแม้แต่การพาลูกไปทำกิจกรรมช่วยสังคมในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ควรเป็นกรอบที่สร้างเสริมให้ลูกเข้าใจและปฎิบัติในภายภาคหน้า
2.ให้คำชมสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านพยายามจับผิดลูก ด้วยคิดว่าจะเอาความผิดนั้นมาสอน นักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลเด็กในชิคาโก กล่าวว่า ยิ่งคุณพ่อคุณแม่พูดคำว่า “ไม่” หรือ “ห้าม” บ่อยเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด ดังนั้น เมื่อต้องการสอนเรื่องแบ่งปัน แทนที่จะว่าลูกที่ไม่แบ่งปัน ก็ควรจะชมเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกแบ่งปันของให้กับผู้อื่น
3.พยายามหาโอกาสสอน เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะอ่านข่าวเรื่องการเก็บเงินแล้วส่งคืนเจ้าของ ก็สามารถนำเรื่องลักษณะนี้มาสอนและชื่นชมไปด้วยพร้อมกัน
4.ลูกทำอะไรก็ควรทำด้วย นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวไว้ว่า โดยธรรมชาติแล้วเด็กมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบทั้งในเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กดูทีวีหรือเล่นเกมส์ที่มีความรุนแรง โดยไม่ได้รับคำแนะนำ เด็กก็มีแนวโน้มจะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริง
5.ชี้ให้เห็นผลกระทบต่างๆ เช่น กรณีที่พี่ชายทำตุ๊กตาของน้องสาวหาย คุณพ่อคุณแม่อาจกล่าวว่า น้องเสียใจมากๆ เลย ถ้าหุ่นยนต์ลูกหาย ลูกก็คงเสียใจเหมือนกัน หรือถ้าต้องลงโทษก็ควรให้เด็กมีโอกาสเลือกวิธีการถูกลงโทษด้วยตนเอง เช่น อาจให้เลือกใน 2 กรณี คือการตัดค่าขนม หรือการไปขอโทษน้องด้วยความรู้สึกผิดจริงๆ การให้ทางเลือกกับเด็กจะช่วยส่งเสริมวิธีการตัดสินใจที่ดีได้ในอนาคต
6. พยายามชี้ให้เห็นถึงใจเขาใจเรา ซึ่งจะเป็นคุณธรรมเบื้องต้นสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า
                 ในท้ายที่สุด แบบทดสอบที่สำคัญมากในการตัดสินว่า ลูกได้รับการปลูกฝังด้านคุณธรรมมากพอ คือ พฤติกรรมต่างๆ ที่ลูกทำลับหลังคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

*บทความโดย ผศ.ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาฟื้นฟูสำหรับเด็กพิเศษ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2559 และ เสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2559