อ่อมแซบ ผักพื้นบ้านบรรเทาอาการหอบหืด

อ่อมแซบ ผักพื้นบ้านบรรเทาอาการหอบหืด

นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านหยิบต้นไม้พุ่มพื้นบ้าน "อ่อมแซบ" มาเล่าถึงประโยชน์อ้างอิงผลวิจัยว่า ใบมีฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัว

ปีนี้ฝนตกมาก ที่เชียงรายฝนก็เพิ่งหยุดไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้เอง ฝนตกมาก แต่ปลูกผักไม่งาม พอเมล็ดผักเริ่มงอก โดนฝนกระแทกก็ไม่สามารถตั้งตัวได้ ที่งอกมาบ้างก็โดนแมลงกัดกินเสียหาย เอาน้ำใบยาสูบหรือน้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น ก็โดนฝนชะไปเสียอีก หรือว่า ถึงคราต้องซื้อผักพ่นยาฆ่าแมลงมากิน

นึกได้ว่า ที่บ้านมีต้นอ่อมแซบอยู่ 2-3 กระถาง ไม่ได้เก็บกินมานานแล้ว อาจมีใบพอให้แกงได้สักหม้อหนึ่ง แล้วก็เป็นตามคาด อ่อมแซบที่ปลูกแบบไม่ค่อยได้ใส่ใจนัก 2 กระถางใหญ่ กับ 1 กระถางเล็ก มีใบพอแกงได้หม้อหนึ่งจริงๆ แต่ดูเอาเถิด ปีนี้ ต้นอ่อมแซบมีดอกมากเป็นพิเศษ สีม่วงอมชมพูน่ารักออกอย่างนั้น ยังจะใจแข็งเด็ดใบเขาไปกินได้ลงคอเชียวหรือ

อ่อมแซบเป็นไม้พุ่ม สูงเต็มที่ไม่เกินเอวผู้ใหญ่ ใบเดี่ยวรูปไข่ ออกเป็นคู่ ตรงข้ามกัน โคนใบป้าน ปลายใบแหลม ขนาดพอๆกับใบมะยม ก้านลำต้นและก้านใบเป็นเหลี่ยม ดอกเป็นช่อ กลีบดอกสีม่วง ชมพู หรือขาว ผลเป็นฝักแบบเดียวกับต้อยติ่ง แต่ป้อมกว่า สั้นกว่า ภายในมี 3-4 เมล็ด ตกลงดินก็งอกเป็นต้นใหม่ได้ง่าย

ต้นอ่อมแซบรอดง่ายตายยาก พบขึ้นเองในที่รกร้าง ในเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา คนหลายชาติพันธุ์ มีภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากไม้ต้นนี้ต่างกันออกไป นอกจากกินเป็นผักแล้ว ยังใช้เป็นยา รักษาเบาหวาน แก้โรคปวดข้อ ผื่นแพ้ของผิวหนัง บวม หนองใน

ที่น่าสนใจคือ คนที่ประเทศไนจีเรียใช้ใบสดแช่เหล้า อย่างน้อย 1 วัน ดื่มแก้อาการหอบหืด เป็นไปได้ว่าสารออกฤทธิ์ในไม้ต้นนี้ ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ แต่การกินยาที่อยู่ในเหล้า ก็คือกินเหล้า ไม่ชัดเจนว่าต้องกินมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นถ้าไม่อยากผิดศีลข้อห้า เคี้ยวใบสดกินน่าจะได้ฤทธิ์เหมือนกัน ใบสดมีรสจืด ไม่ขมไม่ฝาด ไม่เป็นพิษ ถือเสียว่ากินผักก็ได้

ผลการวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดอ่อมแซบ ในหนูทดลองที่ถูกทำให้หลอดลมตีบตัน จากสารก่อภูมิแพ้ พบว่า ใบของต้นอ่อมแซบ มีสารที่ช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัว นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ระงับการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ยาแผนปัจจุบัน ออกฤทธิ์แก้อาการเฉียบพลันของหอบหืดอย่างได้ผล การคิดพึ่งพาไม้ดอกสวยนี้ รักษาหรือบรรเทาอาการเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป ทางที่ดี ปลูกเอาไว้กินใบ ดูดอก ก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพใจ อย่างน้อยก็ประหยัดเงินค่ากับข้าวได้บ้าง

ไปเจอต้นอ่อมแซบที่ไหน หรือใครเขาปลูกไว้ ขอตัดกิ่งยาวสักคืบ มาปักชำลงกระถาง ได้กินเร็วทันใจกว่าเพาะเมล็ด เรื่องขอต้นไม้กันนี่ มีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ถ้าชอบใจต้นไม้บ้านไหน พอเอ่ยปากขอแล้ว ถ้าได้ก็ต้องได้จริงเดี๋ยวนั้น ถ้าเจ้าของบอก “แล้วจะเก็บไว้ให้” นั่นหมายความว่า “อด” จะแอบตัดกิ่งตอนเจ้าของเผลอ ก็จงรีบทำเถิด ก็เห็นจะจริง เพราะเวลาใครขอต้นไม้จากผม ถ้าไม่อยากให้ ก็จะบอกเหมือนกันว่า “แล้วจะเก็บไว้ให้”

ไหนๆก็พูดเรื่อง ปักชำกิ่งไม้แล้ว ขอแถมอีกนิดว่า เมื่อได้กิ่งที่มีอายุและขนาดเหมาะสมสำหรับปักชำแล้ว ให้ใส่ในห่อกระดาษ ที่พรมน้ำจนชุ่มไว้ก่อน แล้วใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่อีกชั้น รัดปากถุงไม่ให้อากาศเข้าออก เก็บอย่างนี้ สามารถรอดได้หลายวัน จนกว่าถึงที่ๆพร้อมจะปลูก ถ้าเป็นไม้ที่รอดยาก จุ่มฮอร์โมนเร่งรากเสียหน่อยก็ดี

ได้กิ่งมาแล้ว ปักชำลงกระถางดินร่วนหรือถ่านแกลบ ให้ส่วนที่เป็นข้อจมลงในดินด้วยนะครับ เพราะตรงนั้นจะเป็นที่แตกราก ปักชำกิ่งสักกำหนึ่ง อีก 2 เดือนก็ได้แกงกิน

ผักตำลึง ผักหวาน เรากินใบอ่อน แต่อ่อมแซบกินได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ ดอกก็ยังกินได้ มีเพียงก้านเท่านั้นที่แข็งสักหน่อย จึงควรเด็ดเอาเฉพาะใบ แกงจืดเห็นจะเหมาะที่สุด หรือถ้ามากพอก็ผัดน้ำมัน ลวกกินกับน้ำพริก ส่วนกินสดแบบผักสลัดนั้น ไม่ค่อยเหมาะ เพราะใบอ่อนนุ่ม ไม่มีผิวสัมผัสกรุบกรอบ ส่วนจะนำไปแกงอ่อมตามชื่อนั้น ไม่เคยทำครับ ด้วยเหตุว่า แกงอ่อมทางเหนือนั้น นอกจากเครื่องเทศแล้ว ไม่นิยมใส่ผักอย่างอื่นเลย

อ่อมแซบออกดอกทั้งปี แต่ช่วงฤดูหนาวมีดอกดกเป็นพิเศษ ไม่ปลูกกินก็ปลูกไว้ชมดอก ไม่ต้องใส่ใจนัก ตัดแต่งกิ่งบ้าง ให้ปุ๋ยบ้างก็ได้ชื่นชมสมใจ อยากได้กิ่งไปปลูกหรือครับ ที่บ้านผมมีเยอะ “แล้วจะเก็บไว้ให้” เข้าใจตรงกันแล้วนะครับ

*บทความโดย ผศ.ไชยยง รุจจนเวท ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพรและพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) เสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2559