'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย0.25%

'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย0.25%

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 13-14 ธ.ค.นี้ ชี้มาตรการกระตุ้นของทรัมป์อาจดันเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.25-0.50% สู่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2559 หลังจากที่เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันถึง 7 รอบการประชุมก่อนหน้านี้ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2559

ทั้งนี้ แม้ตลาดการเงินทั่วโลกได้มีการปรับตัวสอดรับกับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ไปแล้ว แต่คงต้องยอมรับว่า การประชุมเฟดรอบนี้ยังมีอีกจุดที่น่าสนใจและต้องติดตาม คือ ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ และความเห็นต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้าจากเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือนก.ย.59

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 - 2 ครั้งในปี 2560 ซึ่งคงต้องยอมรับว่า แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นอีกในปี 2560 หลังจากตลาดน้ำมันโลกผ่านพ้นจุดต่ำมาแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมอีกหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ เข้ามาเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตลอดจนมาตรการลดภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางภาวะที่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ใกล้ระดับเต็มศักยภาพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก อาจจะมีผลทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปี 2560 มีโอกาสเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจยังมีความไม่แน่นอน เพราะในอีกด้านหนึ่งนั้น หากความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เฟดก็อาจจะเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถส่งสัญญาณการคุมเข้มดอกเบี้ยได้อย่างชัดเจนมากนัก (เหมือนกับสถานการณ์ตลอดช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา)