‘ฟอร์ติเน็ต’ เปิดเกมลุยซิเคียวริตี้องค์กร

‘ฟอร์ติเน็ต’ เปิดเกมลุยซิเคียวริตี้องค์กร

“ฟอร์ติเน็ต” เปิดโผภัยไซเบอร์ศักราชใหม่ คาดภัยคุกคามฉลาดมากขึ้น ไอโอทีเพิ่มเสี่ยง สมาร์ทซิตี้เป้าหมายใหม่แฮกเกอร์

นายพีระพงศ์ จงวิบูลย์ รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจปี 2560 มุ่งรุกหนักฐานตลาดหลักกลุ่มภาครัฐ การศึกษา และโทรคมนาคม รวมถึงขยายตลาดไปให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมมากขึ้น 

โดยบริษัทมีแผนสร้างโซลูชั่นเซ็นเตอร์ สำหรับสาธิตการใช้งานเทคโนโลยี รวมถึงทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มรูปแบบในไทย คาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปีหน้า บริษัทเชื่อว่าเป็นรายแรกและรายเดียวที่ตั้งศูนย์ลักษณะนี้ในตลาดไทย


นอกจากนี้ กำลังประเมินถึงความพร้อมในการเข้าไปทำตลาด แต่เบื้องต้นจะเพิ่มบุคลากรในไทยอีกไม่น้อยกว่า 15%


ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมทั้งเว็บ เมล และเน็ตเวิร์คซิเคียวริตี้ ทั้งการเชื่อมต่อแบบมีสายและไร้สาย รองรับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านภัยคุกคาม


อย่างไรก็ดี จบปี 2559 รายได้รวมของบริษัทเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก มากกว่าตลาดรวม 5% ขณะที่ภาพรวมระดับภูมิภาคที่ดูแลโตมากกว่าตลาดรวม 17% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ตลาดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจัยสำคัญมาจากการมีโซลูชั่นที่ครอบคลุม ขณะเดียวกันความพร้อมของทีมในการดูแลหลังการขายสำหรับลูกค้าระดับท้องถิ่น


ข้อมูลจากฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนระบุว่า ปี 2560 ภาพรวมตลาดซิเคียวริตี้ไทยมีแนวโน้มเติบโต 17% มูลค่า 68 ล้านดอลลาร์ จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันตลาดไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภูมิภาครองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย


บริษัทคาดว่า การแข่งขันในตลาดซิเคียวริตี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น แต่ละรายจะมุ่งโฟกัสในตลาดที่ตัวเองเชี่ยวชาญ บริษัทเองคงต้องเหนื่อยมากขึ้นเพราะมีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจุดต่างชูจุดเด่นที่มีโซลูชั่นครบวงจร เอื้อต่อการทำงานเชิงอัตโนมัติมากขึ้น ตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตได้มากกว่าตลาดรวม


นายวิทยา จันทร์เมฆา ผู้เชี่ยวชาญด้านเน็ตเวิร์คซิเคียวริตี้ ฟอร์ติเน็ต กล่าวถึงแนวโน้มภัยคุกคามปี 2560 ว่า ภัยไซเบอร์มีแนวโน้มฉลาดมากขึ้น ทำงานได้แบบอัตโนมัติ โดยเป็นมัลแวร์ใหม่ที่เรียนรู้จากสถานการณ์ เข้าใจสภาพสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการดัดแปลง ระบุหาเหยื่อ หาวิธีคุกคาม พร้อมเรียนรู้จากความสำเร็จที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาการคุกคามให้ดีขึ้น


ขณะที่ การใช้งานไอโอทีได้เพิ่มความเสี่ยง เป็นเรื่องใหญ่ที่มากเกินกว่าหน่วยงานภาครัฐจะเพิกเฉย หากผู้ผลิตไอโอทีป้องกันอุปกรณ์ให้ดีขึ้นไม่ได้จะส่งผลแก่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนั้นการเชื่อมต่อด้วยไอโอทียังเปิดช่องว่างให้ภัยเข้าสู่ระบบคลาวด์ด้วย


ฟอร์ติเน็ตคาดด้วยว่า สมาร์ทซิตี้กำลังกลายเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์ หากถูกโจมตีมีโอกาสสูงที่ระบบงานขนาดใหญ่จะหยุดชะงัก
อีกหนึ่งเทรนด์ แรนซัมแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่จะแพร่กระจายต่อไป ได้เห็นการเติบโตของบริการแรนซัมแวร์แอสอะเซอร์วิส ทำงานโดยอัตโนมัติมากขึ้น ด้านเป้าหมายมีทั้งบุคคลสำคัญ บุคคลมีชื่อเสียง อุปกรณ์ไอโอที ภาคอุตสาหกรรม เฮลธ์แคร์ รวมถึงธุรกิจที่ข้อมูลมีมูลค่า


"มีความเสี่ยงทั้งบนไออีทีและคลาวด์ จากนี้ภัยคุกคามจะยิ่งฉลาดมากขึ้น ทำงานอย่างอิสระและยากที่จะตรวจสอบมากขึ้น มากกว่านั้นภัยคุกคามรูปแบบเก่าจะกลับมาอีกโดยใช้เทคโนโลยีใหม่"