'กพช.'ไฟเขียวแนวทางบริหารเอ็นจีวีเพื่อความมั่นคง

'กพช.'ไฟเขียวแนวทางบริหารเอ็นจีวีเพื่อความมั่นคง

"พล.อ.อนันตพร" เผย "กพช." ไฟเขียวแนวทางบริหาร "เอ็นจีวี-แอลเอ็นจี" หลังการประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณล่าช้า โรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอ

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าที่ประชุมฯรับทราบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี)และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อความมั่นคงของประเทศภายหลังจากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม"บงกช-เอราวัณ"ล่าช้า ในขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอไป โดยได้รับทราบการทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่าในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผน PDP 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ในขณะที่การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี และในช่วงปลายแผน คือในปี2579 ความต้องการการนำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 34 ล้านตันต่อปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 31 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ที่ประชุมฯได้เห็นชอบการปรับแผนโครงสร้างพื้นฐานและการจัดหาแอลเอ็นจีในระยะยาวของประเทศ ให้สอดคล้องและสามารถรองรับความต้องการใช้และการจัดหาที่เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ โดยให้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มเติมโดยเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ( PETRONAS LNG LTD.) ด้วยสัญญาระยะยาวเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำหนดส่งมอบในปี 2560 - 2561 ในปริมาณรวม 1 ล้านตันต่อปี และตั้งแต่ปี 2562 ในปริมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี อายุสัญญาประมาณ 15 ปี โดยให้ ปตท. ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว กับบริษัทPETRONAS LNG LTD. ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว