Daily Market Outlook (8 ธ.ค.59)

Daily Market Outlook (8 ธ.ค.59)

สหรัฐนำเศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนตลาด

คาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นวันนี้ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกโดยดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐยังคงทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดี Trump ที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามตลาดอาจจะสับสนอยู่บ้างกับการตัดสินใจของ ECB วันนี้ว่าอาจจะขยายระยะเวลาของมาตรการ QE หรือไม่ แต่เรามองว่าหาก ECB ขยาย QE หมายความว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังแย่อยู่ จะไม่เป็นผลดีต่อหุ้นโดยรวมเท่ากับหยุดมาตรการหรือค่อยๆ ลดมาตรการ QE แม้ว่าในสหรัฐจะไม่กลัวการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed แล้ว แต่ในตลาดเกิดใหม่ยังกังวลเรื่องเงินทุนไหลออกอยู่บ้าง ภายในประเทศหลายโครงการลงทุนพื้นฐานกำลังจะเริ่มเป็นรูปธรรม มาตรการหักภาษีการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีที่กำลังจะออกมา ทั้งสองเรื่องเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในประเทศ

หุ้นเด่นวันนี้: BCP (ราคาปิด 33.25 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมาย AWS 40.00 บาท)

เราเลือกบมจ. บางจากปิโตรเลียม เป็นหุ้นเด่นในวันนี้จากค่าการกลั่นตลาด (Market GRM) ในภูมิภาคที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นโดดเด่นในช่วง High season โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันเตา (สัดส่วน 15% ของการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปรวมของ BCP ซึ่งสูงเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในอุตสาหกรรม) ที่ปัจจุบัน Spread สามารถพลิกมาเป็นบวกได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำมุมมองเชิงบวกของเราต่อกำไรสุทธิงวด 4Q59 ที่จะฟื้นตัวโดดเด่น QoQ และน่าจะส่งผลให้กำไรโดยรวมทั้งปี 2559 ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนได้อย่างแข็งแกร่ง 24% YoYแม้ว่ามีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงกลั่นในช่วงไตรมาสสอง ก่อนที่กำไรสุทธิจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า 11% YoY จากการเดินเครื่องโรงกลั่นภายใต้ภาวะเหมาะสมอย่างเต็มที่ตลอดทั้งปี ขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่าน BCPG ซึ่งตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 จากระดับปัจจุบันที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 138 เมกะวัตต์ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว จะเป็นอีกศักยภาพการเติบโตที่สำคัญของ BCP นอกเหนือจากอัตราผลตอบแทนเงินปันผลในระดับสูงราว 6.0% ต่อปีแล้ว เรามองราคาหุ้นในระดับปัจจุบันมีความน่าสนใจจากค่า PBV ปีนี้อยู่ในระดับเพียง 1.1 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อยหลัง 5 ปี และ 10 ปีที่ 1.2 เท่า ขณะที่จากนี้เป็นต้นไป BCP อาจมีลักษณะบางส่วนเป็น Growth stock จาก BCPG ซึ่งสามารถ Re-rate ค่า PBV ให้สูงขึ้นได้อีก (แนวต้าน:33.50, 34.00, 34.25; แนวรับ: 33.00, 32.75, 32.25)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• รอพิจารณามาตรการภาษีช้อปปิ้ง มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการใช้จ่ายเตรียมเข้า ครม. สัปดาห์หน้า รมว.คลังล่าสุดระบุว่าจำนวนค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ลดหย่อนภาษีได้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือ 30,000 บาทต่อคน เทียบกับปีที่แล้วที่ 15,000 บาท ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ใช้จ่ายได้น่าจะยาวกว่าปีที่แล้วโดยเสนอให้เป็นช่วง 15-31 ธ.ค. (Bangkok Post) ความเห็น: เราเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเช่น CPALL (60.25 บาท) CPN (56.75 บาท) ROBINS (66.00 บาท) และ BIGC (213.00 บาท)

• สัปดาห์หน้าปิดดีล"สีส้ม"รฟม.เปิดราคา6 สัญญา: รฟม.เตรียมเปิดซองราคางานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) พร้อมกัน 6 สัญญาสัปดาห์หน้า พร้อมปิดดีล BEM รับงานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 16 ธ.ค.นี้ (ข่าวหุ้น)ความเห็น: นับเป็นปัจจัยส่งผลบวกทางจิตวิทยาต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เนื่องด้วยหลายบริษัทในกลุ่มรับเหมาฯ มีความคาดหวังสูงกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มมากกว่าสายอื่น ส่วนกรณีที่ได้ข้อสรุปเรื่องงานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายได้ภายในกำหนดกลางปีนี้ นับเป็นข่าวดีต่อ BEM และ CK โดย CK เตรียมปรับเพิ่ม Backlog จากงานส่วนนี้อีก 25,000 ล้านบาท ทำให้ยอด Backlog ขึ้นสู่ระดับ 100,000 ล้านบาท รองรับรายได้ไปอีก 2.5 ปี

• รัฐบาลไทยเยือนจีนเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างประเทศนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 5 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ รวมไปถึงจะมีการพูดคุยกับภาคเอกชนในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น หางโจว และฮ่องกงตลอดในช่วง 6 วันการเดินทางเยี่ยมเยือนประเทศจีนเพื่อแสวงหาโอกาสในการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น (Bangkok Post)

ต่างประเทศ:

• ตลาดคาดว่า ECB จะขยายเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE (วงเงิน8 หมื่นล้านยูโร/เดือน) ออกไปอีกจากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนมี.ค. 2017 ในการประชุมวันนี้แต่มาตรการดังกล่าวลดกำลังลงไปมากโดยอาจมีการถกกันถึงกำหนดเวลาสิ้นสุดของมาตรการ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากรวมทั้งจากการเลือกตั้งของ 4 ใน 5 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป คาดว่านายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB จะแย้งว่าการปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรอาจหยุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอล้างผลการเข้าซื้อพันธบัตรที่ได้ทำมา ทั้งนี้มีการใช้เงินในการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ไปแล้ว 1.4 ล้านล้านยูโร (1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) (Reuters)

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลงเมื่อวันพุธ จากการประกาศข้อมูลอุตสาหกรรมของเยอรมันและอังกฤษได้ลดความคาดหวังเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลง 5 bps จากที่ระดับ 2.342% เมื่อวันอังคาร โดยอยู่ที่ระดับ 2.492% เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เดือนก.ค. 2015 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีอยู่ที่ระดับ 3.020% ลดลง 6 bps อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวแตะระดับสูงสุดในช่วงเกือบ 1.5 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อน การคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้าส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่ที่ระดับไม่ไกลจากระดับสูงสุดเมื่อเดือนเม.ย. 2010 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ลดลง 1 bps อยู่ที่ระดับ 1.104% (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าวันพุธ เพราะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงและนักลงทุนรอดูการประชุม Fed ในสัปดาห์หน้าซึ่งคาดว่าสหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยแต่ยังคงท่าทีระมัดระวังสำหรับเศรษฐกิจ ดัชนีดอลลาร์ลดลง 0.26% สู่ 100.23 แต่ยังอยู่เหนือระดับต่ำสุดในรอบสามปีที่ 99.849 เมื่อวันจันทร์ ยูโรบวกล่าสุด 0.37% เทียบดอลลาร์สหรัฐที่ 1.0756 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากไปแตะจุดสูงสุดรอบสามสัปดาห์ที่ 1.0796 ดอลลาร์ในวันจันทร์ (Reuters)

สหรัฐ:

• ตลาดหุ้นวอลสตรีทพุ่งวันพุธ ด้วยดัชนี DJIA และ S&P500 แตะจุดสูงสุดใหม่ หุ้นยังวิ่งต่อเพราะนโยบายของ Trump ที่สนับสนุนธุรกิจ ยังคงบวกได้แม้ ความเห็นของ Trump เกี่ยวกับการกำหนดราคายาน่าจะกระทบหมวดธุรกิจการแพทย์ก็ตาม (Reuters)

ยุโรป:

• ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันพุธปรับตัวสูงขึ้นซึ่งยังคงมาจากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มธนาคารที่พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน หลังจากที่ Credit Suisse ประกาศการตัดลดต้นทุนกว่า 1.0 พันล้านสวิสฟรังก์ (991 ล้านดอลลาร์ฯ) ขณะที่หุ้นธนาคาร Monte deiPaschi di Siena ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องหลังรัฐบาลอิตาลีพร้อมที่จะเพิ่มทุนให้กับธนาคาร ซึ่งช่วยลดความกังวลจากผลการโหวต NO ในการลงประชามติปฏิรูปรัฐธรรมนูญในอิตาลี ซึ่งความพ่ายแพ้ของ Renzi ส่งผลให้เขาต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันพุธตามที่ประกาศไว้ (Reuters)

เอเชีย:

• รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 3/59 ลง ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นำความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของญี่ปุ่นกลับมาใหม่โดย GDP ไตรมาส 3/59ขยายตัว 1.3% YoYเป็นการแก้ไขอย่างรุนแรงจากการเจริญเติบโตที่ 2.2% ในการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นครั้งแรก และต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ยที่คาดกันว่าจะมีการขยายตัวที่ 2.4% เมื่อเปรียบเทียบกับเป็นรายไตรมาสGDP ขยายตัว 0.3% เทียบกับการเจริญเติบโต 0.5% ของการประกาศก่อนหน้านี้และต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ยของตลาดที่0.6% (Reuters)

• บริษัทญี่ปุ่นเตือนของการหดตัวของการค้าโลกภายใต้ Trump: สามในสี่ของบริษัทญี่ปุ่นมองไม่เห็นการขยายตัวในการค้าโลกภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์และมากกว่าหนึ่งในสามเห็นการหดตัวจากนโยบายปกป้องตัวเองด้วย จากการสำรวจของNekei Research ในช่วงระยะเวลา22 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม (Reuters)

• CIC ของจีนชี้ว่าทรัมป์จะต้องระมัดระวังในการพิจารณาอัตราภาษีศุลกากร: ซีอีโอของกองทุน Investment Corporation ของจีน (CIC) กล่าวว่าเขาคาดหวังว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะต้องระมัดระวังอย่างมากในการพิจารณาการเพิ่มอัตราภาษีให้สอดคล้องกับคำสัญญาที่ให้ไว้ในการเลือกตั้งของเขา เพราะมันจะไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อสหรัฐฯ นายDing Xuedong กล่าวว่าทรัมป์ได้ใช้คำขวัญจำนวนมากระหว่างการรณรงค์หาเสียงกับคู่แข่ง คือ ฮิลลารีคลินตัน เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอัตราภาษีและการเริ่มต้นทำสงครามการค้าก็จะลดปริมาณการค้าโลกและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ลง (Reuters)

• ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนลดลงมากเกินกว่าที่คาดไว้ในเดือน พ.ย. สู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบหกปีในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามที่จะสกัดกั้นการไหลออกของเงินทุนและค้ำค่าเงินหยวนไม่ให่อ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เงินสำรองของจีนลดลง69.06 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ห้าของการลดลงและมากกว่าสองเท่าของที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ในขณะที่จีนยังคงมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศใหญ่ที่สุดในโลก แม้จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมาถึง 3.052 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 (Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• ราคาน้ำมันดิบสหรัฐลดลงวันพุธ จากความสงสัยว่าการลดกำลังผลิตของ OPEC และรัสเซียจะสามารถลดอุปทานโดยรวมของโลกที่ยาวนานมาถึงสองปีได้จริงหรือ แม้ข้อมูลตัวเลขสต็อกน้ำมันสหรัฐจะเป็นไปในทางขาลงก็ตาม US EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบร่วงลง 2.4 ล้านบาร์เรลสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 2 ธ.ค. ซึ่งมากกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1 ล้านบาร์เรล น้ำมันดิบ Brent ล่วงหน้าร่วง 93 เซนต์หรือ -1.7% ปิด 53.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบ ม.ค. ปิดลบ 1.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (-2.3%) อยู่ที่ 49.77 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (Reuters)

• ราคาทองคำบวกต่อวันพุธ ดีดกลับจากจุดต่ำสุดรอบสิบเดือนในสัปดาห์นี้เพราะดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับยูโรก่อนที่จะมีการประชุม ECB และมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐในสัปดาห์หน้าได้ถูกรับรู้ไปแล้ว ราคาทองคำตลาดจรบวก 0.3% ที่ 1,173.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ บวก 0.6% จากจุดต่ำสุดรอบ 10 เดือนที่ 1,157 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)