ลีสซิ่งเร่งออกหุ้นกู้ พร้อมลุยตลาดอาเซียน

ลีสซิ่งเร่งออกหุ้นกู้  พร้อมลุยตลาดอาเซียน

ตลาดอาเซียนมีความหอมหวลสำหรับธุรกิจลีสซิ่ง ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากและตลาดที่ยังสดใหม่สำหรับธุรกิจการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการต่างตบเท้าเข้าไป

ลงทุนจำนวนมาก บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนการระดมทุนเพื่อรองรับธุรกิจในประเทศและรุกออกไปเติบโตยังต่างประเทศทั้งเมียนมาร์ที่เริ่มเข้าไปทำธุรกิจแล้วผ่านรูปแบบของการสร้างพันธมิตรกับคูโบต้า และปีหน้าจะผนึกกำลังไปกับฮอนด้าอีกด้วย รวมถึงยังมองหาโมเดลธุรกิจเพื่อขยายไปยังเวียดนามรวมถึงกัมพูชาปีหน้า

การขยายตัวทั้งในและต่างประเทศทำให้ ธิดา แก้วบุตตา กรรมการบริษัท ระบุว่า ในปีหน้าบริษัทจะต้องระดมทุนต่อเนื่องโดยได้เตรียมออกหุ้นกู้ในช่วงต้นปี ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท และที่เหลือเป็นการขยายกิจการตามแผนงานในปี 60 เช่น การซื้อพอร์ตลูกหนี้จากสถาบันการเงินพาณิชย์มาบริหารเพิ่มอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท และรองรับขยายสาขาในประเทศเพิ่มเติม รวมถึงเป็นเงินลงทุนขยายธุรกิจในต่างประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้วงเงินที่ได้ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้วมีประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท  

สำหรับการขยายธุรกิจนอกประเทศนั้น บริษัทจะร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยในเมียร์ม่านั้น คาดว่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อเติบโต 1,500 ล้านบาท หลังจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับคูโบต้าเริ่มสนับสนุนทางการเงินด้วยการปล่อยกู้รถจักรกลการเกษตร  มียอดสินเชื่อตอบรับดีเติบโตกว่าคาดถึง 500 ล้านบาทและปีหน้าคาดว่าจะร่วมกับฮอนด้า ปล่อยกู้รถจักรยานยนต์เพิ่มเจิม ใน 3 – 4 พื้นที่ เช่น ย่างกุ้งมัณฑะเลย์ เป็นต้น

"เมียร์ม่ามีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีอีกหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพยังเข้าไปแข่งขันได้อยู่ และเรื่องคุณภาพลูกหนี้ดีมาก คนพม่า มีวินัยทางการเงินและชำระหนี้ตรงเวลา  แม้จะไม่ค่อยกังวลแต่บริษัทยังเน้นเติบโตค่อยเป็นค่อยไป"

ส่วนโมเดลการขยายตลาดไปยังเวียดนาม และกัมพูชานั้น  บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรายเดิม  แต่รูปแบบการเข้าไปทำธุรกิจอาจจะแตกต่างจากในเมียร์ม่า เช่นการร่วมทุนซึ่งยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง แต่เบื้องต้นยังสนับสนุนปล่อยกู้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่ศักยภาพ เช่นกรุงโฮจิมินท์ ส่วนตลาดใน สปป.ลาวยังไม่สนใจเพราะตลาดมีขนาดเล็กและการแข่งขันสูง 

ธิดามองว่าภาพรวมสินเชื่อของบริษัทในปีนี้ยังเติบโตได้ดีหรือ 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น40-45%  สูงกว่าเป้าหมายเดิม ที่คาดไว้ทั้งปีนี้จะมีพอร์ตสินเชื่อเติบโตประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท หรือ 20-30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

“การเติบโตในประเทศมาจากการขยายสาขาต่อเนื่องโดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2,000 สาขา และคนไทยยังมีความต้องการสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินพาณิชย์ได้เนื่องจากยังระวังปล่อยสินเชื่อขณะที่คุณภาพหนี้ของบริษัทยังดี สิ้นปีนี้คุมไว้ไม่เกิน 3.2% ลดลงจากก่อนหน้าที่ 3.5% เพราะจะปล่อยกู้ลูกหนี้ที่มีหลักประกันเท่านั้นและมีระบบติดตามทวงหนี้ที่ดี”

  ทางด้านบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน)  ที่ประกาศแผนการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยังได้เตรียมเงินทุนก้อนใหม่สำหรับการรุกขยายธุรกิจ โดยมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า ล่าสุดผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติการออกหุ้นกู้แปลงสภาพแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน70ล้านดอลลาร์  

นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตธุรกิจออกนอกภูมิภาคอาเซียน ไปสู่ประเทศศรีลังกาที่ตั้งอยู่ในแถบเอเชียใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว โดยใช้เงินทุน ประมาณ2,514ล้านบาท  เพื่อให้ Group Lease Holdings PTE. Ltd(GLH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของGLที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ เข้าถือหุ้นรวม29.99% ในบริษัทCommercial Credit and Finance PLC(CCF) 

สำหรับ CCF  นั้นเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไฟแนนซ์ชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกา มีฐานลูกค้าประมาณ1ล้านราย ซึ่งการเข้าลงทุนในCCFครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของGLตั้งแต่ไตรมาส4/59เป็นต้นไป โดยจะสามารถบันทึกส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในCCFประมาณ7ล้านดอลลาร์  หรือประมาณ244.6ล้านบาท จากคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 ของCCFอยู่ที่ 22 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ30ล้านดอลลาร์ในปี2560 นอกจากนี้GLจะได้รับประโยชน์จากเข้าถึงโนว์ฮาวธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดขยายธุรกิจในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซียและไทยต่อไป

 ขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติให้GLและ/หรือGLH  เข้าซื้อหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดจำนวน1,387,680หุ้นของบริษัทBG Microfinance MyanmarCo., Ltd.(BGMM) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการไมโครไฟแนนซ์ในประเทศเมียนมาร์ ในราคาหุ้นละประมาณ5.77ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ199.79บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ277.24ล้านบาท

“การลงทุน ในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ของเมียนมาร์ ที่มีประชากรจำนวนกว่า60ล้านคนและมีความต้องการสินเชื่อเป็นจำนวนมากได้ในทันที ซึ่งปัจจุบันในการได้รับใบอนุญาตใหม่เพื่อประกอบกิจการสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารกลางของเมียนมาร์นั้นเป็นไปได้ยาก โดยBGMMดำเนินธุรกิจมากว่า2ปี มีฐานลูกค้าเกือบ10,000รายและมีพอร์ตสินเชื่อกว่า1.2ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ41.9ล้านบาท”