มูลค่าหุ้น ‘กลุ่มบีเอสอาร์’ พุ่ง

มูลค่าหุ้น ‘กลุ่มบีเอสอาร์’ พุ่ง

นักวิเคราะห์ประสานเสียงเพิ่ม "มูลค่าหุ้น" กลุ่มบีเอสอาร์ หลัง "ชนะประมูล" รถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง มูลค่ารวม 1.05 แสนล้านบาท

กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง มูลค่ารวม 1.05 แสนล้านบาท คือ กลุ่มบริษัทร่วมทุนการค้า บีเอสอาร์ ประกอบด้วย บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) โดยต่อจากนี้คณะกรรมการจะพิจารณาเจรจาและอนุมัติส่งต่อให้ทางคณะรัฐมนตรีพิจารณาลงนามต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2560

บล.เคจีไอ (ประเทศไทยมองว่า บีทีเอส ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลของกลุ่ม BSR ซึ่งโครงการทั้งสองจะมีอายุการดำเนินงาน 33 ปี 3 เดือน โดยเป็นงานเดินรถไฟฟ้า 30 ปี ซึ่งมีบีทีเอสเป็นผู้ดำเนินการหลักเบื้องต้นประเมินมูลค่าเพิ่มของโครงการทั้งสองที่มีต่อบีทีเอส ประมาณ 0.9 บาทต่อหุ้น ภายใต้สมมติฐานการถือหุ้นของบีทีเอสในบีเอสอาร์ 50%

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่าเบื้องต้นข้อดีคือ บีทีเอสมีโอกาสที่จะแสวงหาผลประโยชน์ระยะยาวจากการบริหารการเดินรถ 30 ปี อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายปัจจุบัน ทำให้มีผู้โดยสารสามารถเพิ่มในระบบ

นอกจากนี้ บริษัทวี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มก็มีโอกาสจะโฆษณาบนรถไฟฟ้าได้ด้วย เช่นเดียวกับโอกาสต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมกับ บริษัทแสนสิริ (SIRI) ในนามบริษัทร่วมทุน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามหลายประเด็น ได้แก่ ส่วนแบ่งรายได้ที่ให้กับทางการ ซึ่งในเรื่องนี้ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เดิม ต้องขาดทุนเป็น 10 ปีกว่าจะกลับมากำไร แม้เส้นทางอยู่ในเมือง รวมถึงเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นอนาคตจะทันกับส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้รัฐหรือไม่ อีกทั้งการเป็นรถไฟฟ้าชานเมือง กรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ประสบปัญหามีผู้ใช้น้อยกว่าเป้า และสุดท้ายคือฐานะการเงินจะต้องใช้เงินกู้อีกจำนวนมาก เพราะต้องลงทุนก่อน ซึ่งมูลค่าทั้งสองโครงการ1แสนล้านบาท

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ได้ปรับเพิ่มประมาณการ ซิโน-ไทย และ บีทีเอส หลังชนะประมูลครั้งนี้ สำหรับ บีทีเอส ประมาณการเดิมรวมการชนะประมูลไว้เพียง 1 สาย คือ สีชมพู ตามหลักอนุรักษนิยม โดยหลังจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ เรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนของโครงการ เนื่องจากรูปแบบการลงทุนที่เป็น PPP Net Cost ซึ่งเอกชนต้องลงทุนเองทั้งงานโยธา วางระบบ และเดินรถไฟฟ้าเอง รวมถึงต้องแบกรับความเสี่ยงจากรายได้ค่าโดยสารอาจทำให้ผลตอบแทนของโครงการในช่วงเริ่มต้นขาดทุนได้ ส่วนกำไรระยะ 1-2 ปี ของบีทีเอสจะยังไม่เด่นเนื่องจากธุรกิจอยู่ช่วงลงทุน แต่ระยะยาวกำไรจะเติบโตสูงตั้งแต่ปี 2561/62 เป็นต้นไปจากการเข้าสู่ช่วงพีคของการโอนอสังหาฯ ของบริษัทร่วมทุนบีทีเอสและแสนสิริ ตามด้วยการทยอยเปิดรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง เริ่มจากเขียวใต้ในปี 2561 และเขียวเหนือในปี 2563

ส่วน ซิโน-ไทย ซึ่งจะได้เป็นผู้รับเหมาหลักในงานก่อสร้าง มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท รวมกับโอกาสได้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ร่วมประมูลกับ ช.การช่าง (CK) และรถไฟทางคู่ หากประเมินให้ซิโน-ไทย ชนะงานประมูลในสัดส่วน 20% คาดว่าปี 2560 บริษัทจะได้งานรวมกันไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท มากกว่าสมมุติฐานเดิมถึง 2 เท่า ฝ่ายวิจัยจึงปรับประมาณการกำไร ปี 2560-2561 ขึ้น 8% และ 14% ตามลำดับ